xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตคนเขมร ใต้ร่มเงา “ฮุนเซน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากจะกล่าวว่า สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน ถือเป็นบุคคลที่ครองเก้าอี้ผู้นำประเทศอย่างนานที่สุดคนหนึ่งของโลก ก็คงไม่ผิด เพราะเขานั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา มานานกว่า 24 ปี

ผ่านมาแล้วทุกยุค ไม่ว่าจะเป็นยุคเขมร 3 ฝ่าย ที่ตอนนั้นเขาถูกเวียดนามผลักดันให้มานั่งเก้าอี้ผู้นำเป็นครั้งแรก ยุครวมชาติ หรือแม้แต่ยุคประชาธิปไตย เขาก็ยังสามารถเกาะเก้าอี้ได้อย่างเหนียวแน่น ชนิดที่ใครก็ไม่กล้าบังอาจจะมาเลื่อยขาเก้าอี้ได้ ไม่เช่นนั้นอาจจะตายได้

สาเหตุที่เขาสามารถอยู่ยงคงกระพันเช่นนี้ เห็นจะไม่พ้นเรื่องการหลงใหลในตำแหน่ง ราวกับเป็นยาเสพติด โดยเหตุการณ์ที่เป็นเครื่องยืนยันได้ดีที่สุด เห็นจะหนีไม่พ้นช่วงที่พรรคประชาชนกัมพูชาของเขา แพ้เลือกตั้งให้แก่พรรคฟุนเซนเปกของ กรมพระนโรดมรณฤทธิ์ พระราชโอรสหัวแก้วหัวแหวนของ (อดีต) กษัตริย์สีหนุ ในปี 2536 แต่เนื่องจากกรมพระรณฤทธิ์ ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้เพียงลำพัง ก็เลยต้องดึงพรรคของสมเด็จฯ ฮุนเซนมาเข้าร่วมด้วย ซึ่งข้อต่อรองที่สมเด็จฮุนเซนต้องการมากที่สุด ก็คือเก้าอี้นายกรัฐมนตรีนั่นเอง

การชิงไหวชิงพริบระหว่าง 2 ผู้นำเป็นไปอยู่นานพอควร ก่อนที่จะได้ข้อสรุปที่กลายเป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการการเมืองโลก อย่างการให้มีนายกรัฐมนตรีร่วม โดยกรมพระรณฤทธิ์ เป็นหมายเลข 1 ส่วนสมเด็จฯ ฮุนเซน ก็เป็นเบอร์ 2

แต่อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ว่า การยอมตกอยู่อำนาจใครนั้น ไม่ใช่วิสัยของผู้ที่เป็นเบอร์ 1 มาตลอดอย่างเขา ด้วยเหตุนี้ทำให้นายกฯ ทั้งสองมีเรื่องระหองระแหงกันมาตลอด เมื่อแก้วมันร้าวไปเสียแล้ว ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะประสานให้ดีได้

หลังครองเก้าอี้ร่วมกันนานกว่า 4 ปี ในที่สุดสมเด็จฯ ฮุนเซนก็ประกาศว่า “ทนไม่ไหวแล้วโว้ย!” และใช้โอกาสที่กรมพระรณฤทธิ์ไม่ประทับในประเทศก่อการรัฐประหารซะเลย จากนั้นก็ตั้งหุ่นเชิดของตัวเอง (แต่อยู่พรรคของกรมพระรณฤทธิ์) อย่างนายอึงฮวด มาสวมเก้าอี้แทน เพื่อจะได้คุมงานบริหารแบบเบ็ดเสร็จตามสไตล์ฮุนเซน

จากวันนั้นถึงวันนี้ เก้าอี้ผู้นำรัฐบาลกัมพูชาก็ยังคงรองใต้ก้นของเขาอย่างต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าจะสิ้นสุดไปง่ายๆ แม้จะมีหลายๆ ครั้งจะมีเหตุสะดุดไปบ้าง อย่างตอนที่ฮุนเซนชนะเลือกตั้ง แต่ได้เสียงในสภาผู้แทนราษฎรไม่ถึง 2 ใน 3 ทำให้เกือบตั้งรัฐบาลไม่ได้ แต่นั้นก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะถึงยังไงเขาก็สามารถหาทุกวิธีรักษาเก้าอี้ตัวโปรดตัวนี้ไว้ได้ ไม่แค่นั้น เขายังกล้าประกาศต่อหน้าราษฎรอีกด้วยว่า

 “ขอเป็นนายกรัฐมนตรีไปจนตาย”

แน่นอน ไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่า สมเด็จฯ ฮุนเซนนั้นจะมีชีวิตอยู่อีกนานแค่ไหน และที่สำคัญคงไม่มีใครพิสูจน์ได้ด้วยว่า สิ่งที่เขาพูดจะกลายเป็นจริงหรือไม่ ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่า ประชาชนที่นี่เขาใช้ชีวิตกันอย่างไร ในเมื่อต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของใครคนหนึ่งนานๆ

ซึ่งคนที่น่าจะให้คำตอบในเรื่องนี้ได้ดีที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น คนกัมพูชานั่นเอง

สะใภ้เขมรในเมืองไทย

ปอ (สงวนนามสกุล) หญิงสาวชาวกัมพูชาที่มาแต่งงานกับคนไทย และไปๆ มาๆ ระหว่างเมืองไทยกับกัมพูชานับสิบปี เอ่ยถึงความรู้สึกที่ชาวเขมรมีต่อสมเด็จฮุนเซนว่า คนส่วนใหญ่ค่อนข้างเป็นไปในทางบวกมากกว่าติดลบ โดยหลายคนถึงกับเทิดทูนสมเด็จฮุนเซนว่า เป็น 'พ่อ' คนหนึ่งเลยก็ว่าได้ ซึ่งตรงนี้ อาจเป็นเพราะจากผลงานด้านต่างๆ ที่ทำให้ประเทศพัฒนากว่าอดีตมากๆ

“คนเขมรคิดว่าถ้าไม่มีฮุนเซน เขมรคงไม่ได้มาถึงขนาดนี้ คนเขมรแท้ๆ ตามต่างจังหวัด เขาจะรักฮุนเซน เขาก็จะรักกษัตริย์ จะเชื่อฟัง คนไหนเคยดูแลเขามา เวลาเลือกตั้งเขาก็จะเลือกให้คนนั้น ตั้งแต่เลือกตั้งมา ฮุนเซนได้ตลอด”

นอกจากนี้ เธอเล่าถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนเขมรให้ฟังว่า คนเขมรในเมืองส่วนใหญ่มักจะมีเชื้อสายจีน หรือไม่ก็เวียดนาม และประกอบอาชีพค้าขาย ส่วนคนเขมรในชนบทจะทำเกษตรกรรมหาเลี้ยงชีพ

ทุกวันนี้เมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงพนมเปญเริ่มพัฒนาเรื่อยๆ แต่ก็ยอมรับว่า ตามต่างจังหวัด โดยเฉพาะหมู่บ้านไกลๆ ความเจริญยังเข้าไม่ถึง บางบ้านที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ก็จะต้องใช้ไฟฟ้าที่ทางเอกชนประมูลจากรัฐมาได้ปั่นขาย

ส่วนด้านประเพณี คนที่เขมรส่วนใหญ่จะดำเนินชีวิตตามพ่อแม่ จะไม่ได้แยกออกมาข้างนอกกับเพื่อนฝูงหรือคู่รัก แต่จะอยู่กับพ่อแม่จนกว่าจะแต่งงานไป ซึ่งคนส่วนใหญ่พ่อแม่จะเลือกคู่ให้ อาจบางทีนี่เอง ถึงเป็นคำอธิบายว่า ทำไมคนเขมรถึงเชื่อฟังผู้นำที่เปรียบเหมือนพ่อของพวกเขาอย่างฮุนเซน

“บางทีเราเป็นพ่อค้าแม่ค้า เราจะค้าขาย ถ้ามีเรื่องกับประเทศอื่น บางทีก็กระทบกับการขาย แต่เขาก็ยอมได้ เขาก็ฟังเหตุผลเหมือนกัน เขาก็ยอม เช่นถ้าสมมติเวลามีอะไรเกิดขึ้น แล้วฮุนเซนออกมาพูด เขาก็จะฟัง เหมือนลูกฟังพ่อแม่พูด เขาไม่ค่อยฟังฝ่ายข้างนอกเท่าไหร่ ก็เหมือนกับเราอยู่ในบ้าน ก็จะเชื่อพ่อแม่มากกว่า พ่อแม่ออกไปเจอกับคน แล้วเราเป็นลูกเราก็ต้องฟังพ่อแม่พูด ยังไงๆ มันก็ต้องเชื่อพ่อแม่มากกว่าเชื่อคนนอกพูดมา”

แต่สำหรับคนที่ออกนอกบ้านมาอย่างเธอ ปอ และชาวกัมพูชาอีกจำนวนไม่น้อยที่มาเรียน หรือมาติดต่อค้าขายในเมืองไทย และมีโอกาสได้ฟังข่าวทั้งสองฝ่าย เธอยอมรับว่ามีอยู่หลายครั้งที่เกิดความสงสัยและรู้สึกไม่พอใจในคำพูดของผู้นำประเทศผู้นี้

“บางทีฟังแล้วก็รู้สึกว่าทำไมฝั่งเขมรเราพูดแรงเกินไปนะ ก็โทร.ไปถามที่บ้านบอกว่า ทำไมฮุนเซนเขาพูดอย่างนี้ ที่บ้านก็บอกว่า ไม่ใช่อยู่ๆ คนเรามันจะพูดแบบนี้หรอก มันก็ต้องมีการตอบโต้ไปมาก่อน แต่บางทีการนำเสนอข่าวจับแต่ประเด็นที่แรงๆ ออกมา มันก็ทำให้ขนาดเราฟังไปก็ยังไม่พอใจเลยว่า ทำไมเราต้องพูดแบบนี้กับเขา”

ยิ่งเฉพาะในช่วงหลัง ที่ความสัมพันธ์ไทย-เขมรเกิดการกระทบกระทั่งอยู่บ่อยครั้ง เธอเองในฐานะคนเขมรที่พลัดบ้านมาก็ต้องระวังตัวเพิ่มขึ้น

“ถ้าสมมติว่ามีเรื่องอะไร พวกที่อยู่ที่เขมร เขาค่อนข้างรู้ข้อมูลทางราชการก็จะบอกให้ระวังตัวหน่อยนะ ถ้าไม่ก็ให้กลับบ้านเราก่อน เพื่อนฝูงที่เขมรก็จะโทร.หาทุกวัน ถามว่าเมืองไทยมีอะไรมากไหม ถ้าตรงไหนมีคนมากก็อย่าไปนะ ให้ระวังตัว ส่วนใหญ่คนเขมรที่มาเรียนที่นี่ก็มีเหมือนกัน เรียนการแพทย์ที่ทางการเขมรส่งมาเรียน เขาก็บอกว่ามีอะไรก็ให้กลับบ้านก่อน จะโทร.มาถามทุกวันว่าเป็นอะไรไหม แต่เขาก็ถามความรู้สึกของคนไทยเหมือนกัน ว่าพวกเขาคิดยังไง เพื่อนฝูงเกลียดเราไหม เพราะเขาจะกลัวอย่างนั้น ยังไงถ้าเพื่อนฝูงไม่พอใจเรา ก็อย่าเพิ่งไปเจอเขานะ” ปอเล่าถึงชีวิตคนเขมรในไทยที่ต้องยืนอยู่ระหว่างความขัดแย้งของสองประเทศ

เมื่อถามต่อไปว่า หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นจริงๆ สุดท้ายแล้วเธอก็จะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งเธอก็ตอบออกมาอย่างไม่ลังเลว่า ‘กลับบ้าน’

“ถ้าถามก็ต้องบอกว่าที่บ้านสบายกว่า มันก็ปกติไปที่ไหนก็ไม่สบายเท่ากับที่บ้านเรา ภาษาเรา เป็นความสบายใจ มีอะไรยังไงเราก็พอจะรู้ว่าจะคุยยังไง ไม่มีที่ไหนสบายเท่าบ้านของเรา”

ประสบการณ์คนไทยในเขมร
 
ฟังความคิดของคนฝั่งกัมพูชาไปแล้ว คราวนี้เราจะหันไปคุยกับคนไทยที่เคยอาศัยในกัมพูชากันบ้างว่า จะมีความเห็นสอดคล้องกันหรือไม่

มงคล (ขอสงวนนามสกุล) นักธุรกิจผู้เคยใช้ชีวิตในกรุงพนมเปญเป็นเวลา 5 ปี กล่าวว่า จริงๆ แล้ว วิถีชีวิตของคนกัมพูชานั้นก็คล้ายคลึงกับคนไทยนั่นแหละ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับคนลาว คนกัมพูชาเหมือนคนไทยมากกว่าด้วยซ้ำ

แต่สิ่งที่ดูแตกต่างน่าจะเป็นเรื่องการผังเมือง ที่ดูเป็นระเบียบมากกว่า เพราะถนนเกือบทั้งหมดซึ่งถูกออกแบบโดยประเทศฝรั่งเศส หากมีการขับรถหลงก็จะสามารถวนมาได้ที่จุดเดิม ไม่เหมือนกับกรุงเทพฯ ที่ถนนหนทางไม่ค่อยเป็นระเบียบเท่าไหร่ ขับไปแล้วอาจสับสนขึ้นมาง่ายๆ

นอกจากนี้ อีกจุดหนึ่งที่แตกต่างสุดๆ เห็นจะเป็นระบบสาธารณูปโภค ที่ค่อนข้างเป็นปัญหามาก โดยมงคลยกตัวอย่างเรื่องไฟฟ้าที่ในหนึ่งสัปดาห์ก็จะดับประมาณ 1 ครั้ง เว้นแต่ช่วงนั้นโชคดีก็จะเป็น 2 สัปดาห์ต่อ 1 ครั้ง

“ที่นี่ไฟฟ้าดับบ่อย ครั้งหนึ่งก็ประมาณ 10 นาที ยิ่งช่วงหน้าร้อน ก็ยิ่งบ่อย เพราะคนใช้ไฟเยอะ ผมว่าที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะระบบไฟฟ้าบ้านเขาไม่ดีเท่าที่ควร กระแสไฟฟ้าไม่พอใช้ ช่วงหลังๆ มานี้ก็เลยมีบริษัทผลิตไฟฟ้ามาขาย แต่หากถามว่าวุ่นวายไหม ก็คงไม่เท่าไหร่ เพราะค่อนข้างชินแล้ว แต่คนที่เดือดร้อนก็คงเป็นพวกคนทำธุรกิจโรงแรม ที่ต้องมีเครื่องปั่นไฟสำรองไว้ใช้เอง”

เมื่อถามถึงการดำเนินชีวิตที่กรุงพนมเปญว่าเป็นอย่างไร มงคลชี้แจงว่า เขามีความสุขเหมือนที่นี่เป็นบ้านหลังที่สอง อย่างเรื่องของกฎระเบียบ ที่นี่ให้อิสระเต็มที่จะเดินไปไหนมาไหนได้ เพราะคนที่นั่นเขาให้เกียรติคนต่างชาติ เช่นเดียวกับคนไทย แต่ก็มีอยู่บ้างเช่นกัน ที่เขาต้องเจอประสบการณ์เลวร้าย อย่างช่วงที่เกิดเหตุการณ์ เผาสถานทูตฯ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2546 ซึ่งตอนนั้นบริษัทที่เขาทำงานอยู่นั้นถูกเผาไปด้วย

เมื่อถามถึงความเป็นอยู่ของคนไทยที่นี่ หลังเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทย กับสมเด็จฯ ฮุนเซน มงคลก็กล่าวว่า เรื่องนี้คงไม่มีผลกระทบอะไร เพราะทุกคนคงเข้าใจดีว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาระหว่างผู้นำเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับพวกเขา

“อยู่ได้ครับ ไม่ต้องกลัว มันไม่กระทบกับคนที่อยู่ในประเทศกัมพูชา เพราะมันเป็นเรื่องของรัฐบาลกับรัฐบาล คนกัมพูชาซะอีกที่ต้องตระหนกตกใจ มาซื้อของกินของใช้จากบ้านเราไป โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าไม่มีปัญหา ถ้าไม่ทำอะไรที่ไม่ดี ไม่เรียบร้อย หรือไปทำตัวไปซ่า ซึ่งไม่น่ารัก ก็ไม่มีปัญหา ส่วนใหญ่เค้าให้เกียรติคนต่างชาติอยู่แล้ว”

ส่วนความคิดเห็นกับการตัดสินใจมอบตำแหน่งที่ปรึกษารัฐบาลแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เขามองว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ถ้าเปรียบเทียบกับการเล่นพนัน ก็ต้องถือว่า สมเด็จฯ ฮุนเซนได้เลือกข้างไปแล้วว่าจะยืนข้างไหน หรือเลือกสนับสุนนคนไหน ซึ่งจะถูกต้องหรือไม่นั้น เขาไม่ขอตัดสิน

ส่วนเรื่องการลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตนั้น ก็ถือเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องใช้วิจารณญาณของตัวเองแล้วกันว่า สมควรหรือไม่ แต่โดยส่วนตัวแล้ว ไม่ขอวิจารณ์หรือให้ความเห็นในเรื่องนี้
….......

หลายคนมักกล่าวว่า การขึ้นสู่อำนาจนั้นเป็นเรื่องยาก แต่การรักษาอำนาจให้คงอยู่นั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยากกว่า เพราะไม่สามารถทำให้คนเชื่อ หรือศรัทธา จนยอมตกเป็นทาสความคิด ก็เชื่อเลยว่า คงไม่มีทางจะอยู่ในอำนาจไปได้อย่างตลอดรอดฝั่งได้แน่นอน

เช่นเดียวกับสมเด็จฯ ฮุนเซนซึ่งอยู่ในอำนาจมาอย่างยาวนาน และใช้คำว่า 'พัฒนา' เป็นแบรนด์สำคัญของการสร้างฐานอำนาจ และสร้างทัศนคติของประชาชนว่า หากไม่มีตนแล้ว ประเทศชาติก็คงอยู่ลำบาก ซึ่งก็คงไม่แตกต่างกับอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งของประเทศไทย ที่มักใช้ข้ออ้างเหล่านี้ในการรักษาอำนาจ

ประชาชนชาวเขมรซึ่งมีชีวิตอยู่ภายใต้การปกครองของสมเด็จฯ ฮุนเซนถึง 24 ปีเต็ม ก็คงยอมจำนนกับสภาพเป็นอยู่ ด้วยความเชื่อในแบบชาตินิยมเหมือนสมัยเมืองไทยเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้วที่บอกว่า ‘เชื่อผู้นำ (ฮุนเซน) ชาติพ้นภัย’

..........

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : กิตติพงศ์ ชัยมณีวงษ์





กำลังโหลดความคิดเห็น