ASTVผู้จัดการรายวัน -- คณะกรรมาธิการที่รับผิดชอบโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานปรมาณูเวียดนาม ได้เสนอให้เลื่อนกำหนดการก่อสร้างออกไป ให้มีกำหนดใช้งานในอีก 20 ปีข้างหน้า ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย เพราะจำเป็นจะต้องจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญให้พร้อม เพื่อควบคุมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรก
แทนการก่อสร้าง 2 แห่งพร้อมกัน คณะกรรมาธิการได้เสนอให้จัดสร้างเพียงแห่งเดียวด้วยเหตุผลเดียวกัน และยังลดกำลังปั่นไฟลงอีกด้วย
“ตามแผนการ (ที่กำหนดใหม่) รัฐบาลจะเสนอรายงานด้านการลงทุน ต่อรัฐสภาในเดือนตุลาคมนี้” หนังสือพิมพ์แทงเนียน อ้างคำกล่าวของนายเลวันห่งม์ (Le Van Hong) รองประธานคณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณูแห่งชาติ
เจ้าหน้าที่ผู้นี้เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าแห่งแรกมีกำหนดจะเปิดเดินเครื่องในปี 2573 รายละเอียดและกำหนดการก่อสร้างจะขึ้นอยู่กับแผนการลงทุนที่รัฐบาลจะเสนอต่อรัฐสภา ในเดือน ต.ค.โดยคณะกรรมาธิการฯ เสนอให้ก่อสร้างเพียง 1 โรงด้วยกำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์
เมื่อต้นปีนี้คณะกรรมาธิการชุดเดียวกันนี้ได้เปิดเผยแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 แห่งพร้อมกันด้วยกำลังผลิตแห่งละ 2,000 เมกะวัตต์ โดยมีกำหนดจะนำเสนอต่อรัฐสภาในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่ออนุมัติผ่านร่างกฎหมายรองรับ
แต่ “โรงไฟฟ้าจะต้องปลอดภัยพร้อมด้วยอุปกรณ์ที่จำเป็นและมาตรการความปลอดภัยต่างๆ” นายห่งม์ กล่าวกับหนังสือพิมพ์ของทางการวันจันทร์ (24 ส.ค.) ที่ผ่านมา โดยยอมรับว่า เป็นเรื่องท้าทายที่ใหญ่มากสำหรับกระทรวงศึกษาธิการและฝึกอบรมในการเตรียมความพร้อมทรัพยากรบุคคลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ
ในเดือน พ.ค.ปีนี้รัฐบาลเวียดนามได้เซ็นความตกลงกับรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งฝ่ายหลังจะช่วยศึกษาโครงการอย่างละเอียด เพื่อเลื่อนการก่อสร้างโครงการให้เร็วกว่าเดิม โดยจะเริ่มในปี 2558 คือ อีก 6 ปีข้างหน้า และ จะจัดสร้าง 2 โรงพร้อมกัน
แผนการของรัฐบาลได้สร้างความวิตกกังวลในหมู่นักอนุรักษ์สภาพแวดล้อม นักวิชาการในเวียดนามได้ออกวิพากษ์วิจารณ์ โดยระบุว่า “รีบร้อนเกินไป” และ “สุ่มเสี่ยง” ในด้านความมั่นคงปลอดภัย
ถึงแม้ว่าจะเลื่อนโครงการก่อสร้างออกไปอีกนับสิบปี แต่ศาสตราจารย์กาวจี๋ (Cao Chi) นักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงของเวียดนาม ประธานคณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณู ก็ยังแสดงความสงสัยว่าจะสามารถเดินเครื่องได้ในปี 2573 หรือไม่ เนื่องจากปัญหาบุคคลากร ทั้งเจ้าหน้าที่เทคนิคและวิศวกรที่จะต้องใช้จำนวนมาก
แต่ นายห่งม์ กล่าวว่า เวียดนามกำลังจะจัดส่งเจ้าหน้าที่และนักศึกษาจำนวนมากไปศึกษาในต่างประเทศ เพื่อกลับไปทำงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กระทรวงศึกษาธิการฯ จะต้องเร่งฝึกฝนพนักงานระดับพื้นฐานจำนวนหลายพันคน ขณะเดียวกัน ก็ควรจะลงมือก่อสร้างโครงการไปพร้อมกันโดยไม่รีบร้อน
ถ้าหากจำเป็นจะต้องเดินเครื่องเร็วขึ้น ก็อาจจะใช้ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศช่วยควบคุมดูแลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของประเทศเป็นการชั่วคราว นายห่งม์ กล่าว
ก่อนหน้านั้น ในเดือน มี.ค.คณะกรรมาธิการพลังงานนิวเคลียร์แห่งชาติ ประกาศจะนำโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เสนอขออนุมัติจากรัฐสภาในการประชุมสมัยสามัญต้นปี ซึ่งถ้าหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนการ การก่อสร้างจะเริ่มขึ้นได้ในปี 2558 หรือ 6 ปีข้างหน้า และจะปั่นไฟอีก 5 ปีถัดจากนั้น
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้ง 2 แห่งเมื่อก่อนนี้อาจจะต้องใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,000 ล้านดอลลาร์ ตามแผนการเริ่มแรกนั้นได้แบ่งเป็นสองเฟส ประกอบด้วยโรงไฟฟ้า 2 โรง มีเตาปฏิกรณ์กับกังหันเทอร์ไบน์โรงละ 2 หน่วย กำลังผลิตหน่วยละ 2,000 เมกะวัตต์ รวมเป็น 8,000 เมกะวัตต์
แต่แผนการเมื่อต้นปีนี้เวียดนามกำลังจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เฟสที่หนึ่ง โดยแบ่งออกเป็น 2 โรงแยกที่ตั้งและมีกำลังผลิตโรงละ 2,000 เมกะวัตต์ เท่าเดิม
ผู้อำนวยการสถาบันพลังงานนิวเคลียร์เวียดนาม (Vietnam Nuclear Energy Institute) นายเวืองหือว์เติ๋น (Vuong Huu Tan) กล่าวก่อนหน้านี้ ว่า แหล่งพลังงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำหรือโรงไฟฟ้าพลังความร้อนก็มีขีดจำกัด การซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่สามารถให้หลักประกันความมั่นคงด้านการพลังงานได้
ทางการเวียดนามได้เลือกเขตนิคมนีงเฟื๊อก (Ninh Phuoc) กับนิคมหวีงหาย (Vinh Hai) ใน จ.นีงทวน (Ninh Thuan) ทางภาคใต้ตอนบน เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของประเทศ