ASTVผู้จัดการรายวัน -- หน่วยงานที่รับผิดชอบกำลังจะนำโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เสนอขออนุมัติจากรัฐสภาในการประชุมสมัยสามัญเดือน เม.ย.ซึ่งถ้าหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนการ การก่อสร้างจะเริ่มขึ้นได้ในปี 2558 หรือ 6 ปีข้างหน้า และจะปั่นไฟอีก 5 ปีถัดจากนั้น
โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เป็นหนึ่งในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลเวียดนาม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า อาจจะต้องใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งตามแผนการเดิมนั้นแบ่งเป็นสองเฟส ประกอบด้วย โรงไฟฟ้า 2 โรง มีเตาปฏิกรณ์กับกังหันเทอร์ไบน์โรงละ 2 หน่วย กำลังผลิตหน่วยละ 2,000 เมกะวัตต์
แต่แผนการล่าสุดเวียดนามกำลังจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เฟสที่หนึ่ง โดยแบ่งออกเป็น 2 โรงกำลังผลิตโรงละ 2,000 เมกะวัตต์ แยกที่ตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันพลังงานนิวเคลียร์เวียดนาม (Vietnam Nuclear Energy Institute) นายเวืองหือว์เติ๋น (Vuong Huu Tan) เปิดเผยเรื่องนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระหว่างให้สัมภาษณ์พิเศษสำนักข่าวเวียดนามเอ็กซ์เพรส (VietnamExpress)
“ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกปี แหล่งพลังงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำหรือโรงไฟฟ้าพลังความร้อนก็มีขีดจำกัดการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่สามารถให้หลักประกันความมั่นคงด้านการพลังงานได้ เวียดนามจำเป็นต้องหาวิธีแก้ไขปัญหานั่นก็คือ ต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์” นายเติ๋น กล่าว
ผู้อำนวยการสถาบันแห่งนี้ กล่าวอีกว่า สิ่งที่สำคัญมาก ก็คือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้รับการสนับสนุนจากทั้งรัฐบาลและจากผู้นำระดับสูงของประเทศ โดยเลือกที่ตั้งในเขตนิคมนีงฟ๊วก (Ninh Phuoc) กับนิคมวีงหาย (Vinh Hai) ใน จ.นีงทวน (Ninh Thuan) ทางภาคใต้ตอนบน เริ่มปั่นไฟในปี 2563
นายเติ๋น ยอมรับว่า สิ่งที่ยากยิ่งที่สุดสำหรับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรก ก็คือ การฝึกอบรมบุคคลากรเจ้าหน้าที่ ฝ่ายต่างๆ เพื่อเข้าปฏิบัติงาน การระดมเงินทุน การก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคโภคพื้นฐานเพื่อรองรับ แต่ทั้งหมดได้ผ่านการศึกษาวิจัยออกมาแล้ว
กังหันปั่นไฟแต่ละหน่วยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องมีพนักงานกำกับดูแลระหว่าง 200-250 คน โรงไฟฟ้าแห่งแรกจึงจะต้องมีเจ้าหน้าที่ส่วนนี้ราว 500 คน แต่ก็ยังมีเวลาอีกตั้ง 10 ปี สำหรับกระทรวงศึกษาธิการและฝึกอบรม ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้เตรียมการในเรื่องนี้ นายเติ๋น กล่าว
เวียดนามได้ตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่ใช้น้ำแบบมวลเบา (light water nuclear pie) ผู้เชี่ยวชาญได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างรอบคอบโดยใช้เกณฑ์ 10 ประการในการคัดเลือกเทคโนโลยีให้เป็นไปตามหลักวิชาการ
“เราได้ศึกษาวิจัยเรื่องเทคโนโลยีของหลายแหล่งและพบว่าบริษัท เวสติงเฮ้าส์ (สหรัฐฯ) เป็นหุ้นส่วนที่มีศักยภาพ บริษัทนี้ได้เป็นแหล่งเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของหลายประเทศ รวมทั้งฝรั่งเศสและญี่ปุ่นด้วย” นายเติ๋น กล่าว แต่ก็ยอมรับว่า ผู้เชี่ยวชาญของเวียดนามยังจะต้องศึกษาค้นคว้าเทคโนโลยีของค่ายอื่นๆ ในขั้นตอนต่อไป
โครงการโครงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของเวียดนาม ได้ผ่านการตรวจสอบและการศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุนจากคณะกรรมการหลายชุด ทั้งของรัฐบาลและคณะกรรมการอิสระ รวมทั้งสมาคมพลังงานนิวเคลียร์เวียดนาม (Vietnam Nuclear Power Association) และ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพลังงาน (Energy Science and Technology Institute) ด้วย
นอกจากนั้น ยังได้มีการจัดตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นมาอีก 2 ชุด เพื่อดำเนินการพิจารณาจัดหาแหล่งก่อสร้าง ตลอดจนกำกับดูแลการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลจะประชุมพิจารณาโครงการเป็นครั้งสุดท้ายในวันที่ 15 มี.ค.ศกนี้ ก่อนนำเสนอต่อรัฐสภาในเดือนถัดไป ผอ.สถาบันพลังงานนิวเคลียร์เวียดนาม ซึ่งเป็นเจ้างานกล่าว
นับตั้งแต่มีการปูดโครงการนี้ออกมาเมื่อหลายปีก่อน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้กลายเป็นหัวข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางไม่เฉพาะแต่ในเวียดนามเท่านั้น หากยังเป็นประเด็นของทั่วทั้งภูมิภาค
ในช่วงที่ประเทศต่างๆ ในเอเชียกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างรุนแรง รัฐมนตรีกลุ่มอาเซียนเคยประชุมพิจารณาเกี่ยวกับการหาพลังงานทางเลือกภายในกลุ่ม แต่ก็ไม่มีข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมใดๆ ในทางปฏิบัติ
ถ้าหากไม่นับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก ใน จ.บาตาอาน (Bataan) ของฟิลิปปินส์แล้ว นี่กำลังจะเป็นแห่งที่สองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่กำลังจะเป็นแห่งแรกที่ตั้งอยู่บนแผ่นดินใหญ่ของอนุภูมิภาค
ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งห่วงใยต่อความพร้อมของเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมบุคคลากรผู้ปฏิบัติงานในโรงไฟฟ้า ทั้งนี้ หลายฝ่ายหวั่นเกรงว่าจะเกิดความผิดพลาด เนื่องจากอุบัติเหตุเกี่ยวกับไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ว่าจะในญี่ปุ่นและในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เกิดจากความผิดพลาดของผู้ปฏิบัติงาน
ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำให้รัฐบาลเวียดนามเริ่มต้นด้วยโรงไฟฟ้าที่มีเตาปฏิกรณ์เพียงหน่วยเดียว และสามารถปั่นไฟได้ไม้เกิน 1,000 เมกะวัตต์ โดยยกตัวอย่างจีนที่โรงไฟฟ้าพลังงานปรมาณูแห่งแรกมีกำลังปั่นไฟเพียง 300 เมกะวัตต์เท่านั้น จนกว่าจะเกิดความชำนาญและขยับขยายต่อไป
อุบัติเหตุโรงไฟฟ้าปรมาณูบน เกาะทรีไมล์ทางฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ เมื่อเกือบ 30 ปีก่อนยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คน ขณะที่อุบัติเหตุโรงไฟฟ้าเชรโนบีล (Chernobyl) รัฐยูเครนของสหภาพโซเวียตในอดีต ยังคงส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมจนถึงปัจจุบันนี้
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่เวียดนาม กล่าวว่า การก่อสร้างยังไม่เรื่องง่ายแม้ว่าจะคัดเลือกหุ้นส่วนที่ไว้วางใจได้ที่สุดแล้วก็ตาม รัฐบาลจะควบคุมทุกขั้นตอนอย่างรัดกุม โดยใช้หลายฝ่ายเข้าร่วมส่วนทั้งบริษัทจากเกาหลี ญี่ปุ่นและจากยุโรป โดยมีแผนการจะพัฒนาเทคโนโลยีของเวียดนามเองขึ้นมาในอนาคต
นายเติ๋น กล่าวว่า สถาบันมองไปยังเกาหลี ซึ่งมีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกเมื่อปี 2530 ต่อมาในปี 2538 ก็กลายเป็นประเทศที่สามารถผลิตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ส่งออกได้