ASTVผู้จัดการออนไลน์ - รัฐบาลกัมพูชาได้ยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการขอให้รัฐบาลไทยชดใช้ค่าเสียหายจากเหตุการณ์ที่ฝ่ายกัมพูชากล่าวหาว่าทหารได้ยิงถล่มตลาดค้าขายชายแดนบริเวณทางขึ้นปราสาทพระวิหารในฝั่งไทย โดยอ้างว่าดินแดนในพิพาทนั้นเป็นเขตอธิปไตยของกัมพูชา
กระทรวงการต่างประเทศในกรุงพนมเปญได้ยื่นบันทึกฉบับหนึ่งต่อกระทรวงการต่างประเทศของไทย เมื่อวันจันทร์ (11 พ.ค.) เรียกร้องค่าเสียหายอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้เป็นรายงานของสื่อในกรุงพนมเปญ
“การโจมตีดินแดนของกัมพูชาในเขตใกล้กับปราสาทพระวิหารด้วยอาวุธหนักนานาชนิด เมื่อวันที่ 3 เมษายนนั้นสร้างความเสียหายสุดคณานับกับการสูญเสียในการดำเนินชีวิตประจำวัน..” กัมพูชาระบุในบันทึก
บันทึกดังกล่าวแจ้งว่า มีร้านค้าจำนวน 264 คูหาในตลาดดังกล่าวถูกทำลายอย่างราบคาบ สร้างความยากลำบากและความสิ้นหวังแก่ 319 ครอบครัวชาวกัมพูชาที่สูญโอกาสในการทำมาหากิน และ ระบุว่าความสูญเสียทางวัตถุที่เกิดกับครอบครัวต่างๆ เหล่านั้นคิดเป็นมูลค่า 2,150,500 ดอลลาร์
“รัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชาขอให้รัฐบาลราชอาณาจักรไทยต้องรับผิดชอบทั้งหมดต่อความเสียหายที่ก่อโดยทหารไทยและจ่ายเป็นค่าชดเชยต่อความเสียหายดังกล่าว” บันทึกของรัฐบาลกัมพูชาระบุ
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 เม.ย. องค์กรที่ชื่อว่า “มูลนิธิอารยธรรมเขมร” (Khmer Civilization Foundation) ได้อ้างตัวเองเป็นตัวแทนของชาวกัมพูชาที่ค้าขายในตลาดชายแดนแห่งนั้น ยื่นหนังสือต่อสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงิน 9 ล้านดอลลาร์ มากกว่าที่รัฐบาลเรียกร้องกว่า 4 เท่าตัว
หลังจากเผชิญหน้ากันตามแนวชายแดนด้านปราสาทพระวิหารมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทหารของสองฝ่ายได้เกิดการปะทะด้วยอาวุธอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 3 เม.ย. ในจุดเดิมที่อยู่ห่างจากปราสาทพระวิหารไปทางทิศตะวันตกกิโลเมตรเศษ ทหารไทยเสียชีวิต 2 นาย
ยังไม่มีหน่วยงานของไทยกล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายกัมพูชากล่าวว่าทหารไทยได้ยิงถล่มตลาดค้าขายดังกล่าวในวันเดียวกัน ซึ่งอยู่คนละแห่งกับจุดที่เกิดการปะทะ
เจ้าหน้าที่กัมพูชากลช่าวก่อนหน้านี้ว่า ได้มีการอพยพผู้คนออกจากบริเวณดังกล่าวราว 1 ชั่วโมงก่อนจะมีการยิงถล่มด้วยปืนครกและจรวด
หลังจากศาลระหว่างประเทศในกรุงเฮก ได้ตัดสินยกปราสาทพระวิหารกับ “บริเวณโดยรอบ” ให้แก่กัมพูชา ในเดือน มี.ค.2505 รัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำบันทึกอย่างเป็นทางการต่อศาลระหว่างประเทศ ยืนยันอธิปไตยของไทยเหนืออาณาบริเวณรอบๆ ปราสาทพระวิหารเนื่องจากอยู่ในเขตสันปันน้ำของไทย ดินแดนดังกล่าวคลุมเนื้อที่กว่า 4 ตารางกิโลเมตร
อาณาบริเวณตลาดที่ตั้งอยู่ใกล้กับทางขึ้นปราสาทพระวิหาร (ทางฝั่งไทย) นั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนดังกล่าวที่เรียกกันทั่วไปว่า “ดินแดนพิพาท”
หลายปีมานี้ราษฎรกัมพูชาได้อพยพข้ามเขาพระวิหารเข้ามาปักหลัก ตั้งบ้านเรือนเพื่อทำมาค้าขายในบริเวณดังกล่าว และถูกปล่อยปะละเลยมาตลอด จนกระทั่งกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่กว่า 300 หลังคาเรือน และกลายเป็นตลาดค้าขายชายแดนในที่สุด โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากฝั่งไทย