ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- ทางการกัมพูชากำลังจะเปิดเจรจาหาทางแก้ไขปัญหาพิพาทชายแดนกับประเทศไทย ระหว่างที่ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย เดินทางเยือนอย่างเป็นทางการ วันที่ 25-27 ม.ค.นี้ ขณะที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชา สมเด็จฯ ฮุนเซน กล่าวว่า จะต้องหาทางจำกัด “ดินแดนพิพาท” ไม่ให้ขยายออกไป
“ประการแรกสุด คือ เราต้องการที่จะป้องกันมิให้เกิดการเผชิญหน้าทางทหาร (กับไทย) ขึ้นอีก เราจะสืบต่อการเจรจาทวิภาคีต่อไป และในกรณีที่เกิดการยิงต่อสู้ที่กองทัพไทยเป็นฝ่ายเริ่ม ผมขอสงวนสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องเรื่องนี้ต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ จะต้องป้องกันมิให้ดินแดนพิพาทระหว่างสองฝ่ายแพร่ขยายออกไป..”
สำนักข่าวเอเคพี (Agence Kampuchean-Presse) รายงานเรื่องนี้โดยอ้างคำกล่าวของสมเด็จฯ ฮุนเซน ที่ให้สัมภาษณ์หลังพิธีเปิดศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ของ จ.อุดรมีชัย (Oddar Meanchey) วันอังคาร (20 ม.ค.) ที่ผ่านมา
นับเป็นการแสดงท่าทีทางการทูตที่ชัดเจนของผู้นำกัมพูชา ซึ่งต่างไปจากหลายครั้งที่ผ่านมามักจะใข้ท่าทีเกรี้ยวกราดกับไทย สิ่งนี้เกิดขึ้นก่อนหน้าที่รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยจะไปเยือนอย่างเป็นทางการสัปดาห์หน้า
ผู้นำที่ทรงอำนาจแห่งกัมพูชา กล่าวว่า การปะทะในวันที่ 15 ต.ค.ปีที่แล้ว เกิดขึ้นเนื่องจากทหารไทยยิงเข้าใส่ฝ่ายกัมพูชาก่อน
สมเด็จฯฮุนเซน ให้สัมภาษณ์ในคราวเดียวกันนี้ ปฏิเสธที่จะดำเนินการกับฝ่ายไทยอย่างแข็งกร้าวตามที่พรรคฝ่ายค้านเรียกร้อง ให้นำกรณีพิพาทชายแดนขึ้นสู่การพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคงฯ
ผู้นำกัมพูชากล่าวด้วยว่า ฝ่ายไทยยอมรับที่จะหาทางแก้ปัญหาพิพาทชายแดน โดยยึดสัญญาฝรั่งเศส-สยามปี 1904 และปี 1907 เป็นพื้นฐานในการเจรจา และหวังว่า การพบกันระหว่าง รมว.ต่างประเทศ สองฝ่ายที่กำลังจะมีขึ้นจะเกิดผลลัพธ์ในทางบวก
“เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาหลักปักปันเขตแดนทั้ง 73 หลักให้พบ ซึ่งที่ผ่านมาพบแล้วเกือบครึ่งหนึ่ง” สมเด็จฯฮุนเซน กล่าว
ผู้นำกัมพูชา กล่าวว่า จะไม่มีการยกกรณีพิพาทชายแดนขึ้นเจรจาในกรอบของอาเซียน แต่ตนพร้อมที่จะเจรจาทวิเรื่องนี้กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทยระหว่างไปร่วมการประชุมผู้นำอาเซียนที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปลายเดือนหน้า
กรณีกัมพูชากับไทยมิใช่ประเด็นภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน และเข้าใจว่า จะไม่มีผู้นำคนใดในกลุ่มหยิบเรื่องนี้ขึ้นมากล่าวถึงระหว่างการปะชุมที่ไทยเป็นเจ้าภาพ
“ความขัดแย้ง (ในปัจจุบัน) เกิดขึ้นเพียงจุดเดียวที่พระวิหาร ดังนั้น เราไม่ควรทำให้ขยายออกไปตลอดแนวพรมแดนของสองฝ่าย.. ไม่ควรทำให้ความขัดแย้งส่งผลกระทบต่อการค้า การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ” สมเด็จฯฮุนเซน กล่าว
“กัมพูชาไม่ได้มีความตั้งใจที่จะเอาดินแดนของไทย และจะใช้ความอดกลั้นต่อไปในการแก้ไขปัญหาระหว่างสองฝ่าย”
สมเด็จฯฮุนเซน เคยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศหลายปีในช่วงทศวรรษที่ 1980 ก่อนจะควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และเป็นนากยรัฐมนตรีตลอด 23 ปีที่ผ่านมา
ความขัดแย้งของสองประเทศเพื่อนบ้านปะทุขึ้นในเดือน ก.ค.ปีที่แล้ว หลังจากรัฐบาลกัมพูชายื่นขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว ฝ่ายไทยได้กล่าวอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ 4 ตร.กม.เศษรอบๆ ปราสาทพระวิหาร ซึ่งทั้งหมดอยู่ในเขตสันปันน้ำของไทย
ไทยกับกัมพูชามีพรมแดนทางบกระหว่างกันรวมเป็นระยะทาง 805 กิโลเมตร ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการปักปันเขตแดนครบตลอดแนว และสามารถเกิดการกระทบกระทั่งได้ทุกเมื่อในทุกจุด