ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- ทางการกัมพูชาจะไม่สร้างตลาดค้าขายชายแดนที่ถูกยิงทำลายในช่วงที่เกิดการปะทะระหว่างทหารกัมพูชากับทหารไทยต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ประกาศใหม่ว่ากำลังจะอพยพราษฎรราว 700 ครอบครัว ออกจากอาณาบริเวณใกล้กับปราสาทพระวิหารทั้งหมด หลังจากที่นั่นกลายเป็นแหล่งมรดกโลก
สถานีวิทยุเสียงอเมริกาภาคภาษาเขมร รายงานเรื่องนี้บนเว็บไซต์ โดยอ้างคำพูดของนายปราบทัน (Preap Tann) ผู้ว่าราชการจังหวัดพระวิหาร ซึ่งขัดแย้งกับคำให้สัมภาษณ์ของนายเขียว กัญฤทธิ์ (Khieu Kanharith) รัฐมนตรีกระทรวงแถลงข่าว สัปดาห์ที่แล้วที่ระบุว่า รัฐบาลมีแผนจะสร้างตลาดค้าขายชายแดนแห่งนั้นขึ้นมาใหม่
ทางการกัมพูชา กล่าวหาว่า ทหารไทยยิงปืนครกถล่มตลาดชายแดนที่ตั้งอยู่ใกล้กับทางขึ้นปราสาทพระวิหารทางฝั่งไทย หลังจากทหารได้อพยพราษฎรราว 300 ครอบครัวออกไปจากที่นั่นราว 1 ชั่วโมงก่อนหน้านั้น ทำให้ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ
“เราไม่จะไม่อนุญาตให้ราษฎรอาศัยยอยู่ในอาณาบริเวณอนุรักษ์ปราสาทพระวิหารขององค์การยูเนสโก เพื่อพิทักษ์แหล่งมรดกโลก และสภาพแวดล้อมธรรมชาติรอบๆ แหล่งดังกล่าว” วิทยุเสียงอเมริกา (Voice of America) กล่าว
ราษฎรชาวเขมรได้ทยอยข้ามภูเขาเข้าไปตั้งหลักแหล่งค้าขายที่บริเวณดังกล่าวตั้งแต่หลายปีก่อน จำนวนได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ กลายเป็นตลาดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและของที่ระลึกให้แก่นักท่องเที่ยว รวมทั้งชาวเขมรเอง
อาณาบริเวณดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเขตแดนพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา ตลอดเวลาเกือบ 50 ปี ที่ผ่านมา
เจ้าหน้าที่กัมพูชา กล่าวก่อนหน้านี้ ว่า ราษฎร 300 ครอบครัวที่เคยอาศัยทำกินอยู่บริเวณตลาดชายแดน ถูกโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในที่แห่งใหม่ห่างออกไปราว 20 กิโลเมตร ในท้องที่ อ.จอมกะสาน จ.พระวิหาร
ผวจ.จังหวัดพระวิหาร กล่าวว่า ยังมีอีกราว 400 ครอบครัวที่ตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนอยู่บริเวณเชิงเขา ใต้หน้าผาเป้ยตาดี (จากองค์ปราสาท) ก็จะต้องถูกอพยพโยกย้ายออกไปเอยู่บริเวณที่เรียกว่า สะโรส-กดอล (Sros Kdol) ในเขต อ.จอมกะสาน เช่นเดียวกัน
นายปราบ กล่าวอีกว่า ตามกฎของคณะกรรมการมรดกโลกนั้นจะต้องไม่มีราษฎรอาศัยอยู่อาณาบริเวณรัศมี 20 กม.รอบๆ องค์ปราสาท เรื่องนี้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาฉบับหนึ่งซึ่งสถาปนา "เขตคุ้มครอง" ขึ้นมา ครอบคลุมบริเวณรอบปราสาท ภูเขาและอาณาบริเวณโดยรอบ
แต่ยังไม่มีคำอธิบายว่าการดำเนินการของฝ่ายกัมพูชาจะส่งผลอย่างไรต่อ “เขตแดนพิพาท” รอบๆ ปราสาทพระวิหารเนื้อที่กว่า 4 ตร.กม.ซึ่งทั้งไทยและกัมพูชาต่างส่งทหารเข้าประจำการมาเกือบ 1 ปี ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจำนวนจะไม่มากเหมือนช่วงปลายปีที่แล้วก็ตาม
ศาลระหว่างประเทศกรุงเฮก ได้พิจารณากรณีพิพาทไทย-กัมพูชา ว่า ด้วยปราสาทพระวิหาร และมีคำพิพากษาในปี 2505 ยกปราสาทเก่าแก่ซึ่งขณะนี้อายุประมาณ 900 ปีให้แก่ฝ่ายกัมพูชา เมื่อครั้งที่สมัยสมเด็จพระนโรดมสีหนุ เป็นนายกรัฐมนตรี
เพียงข้ามเดือนต่อมารัฐบาลไทยสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทักท้วง รักษาสิทธิ์ความเป็นเจ้าของพื้นที่รอบๆ องค์ปราสาท เนื่องจากอยู่ในเขตสันปันน้ำของไทย
วีโอเอภาคภาษาเขมร กล่าวว่า กัมพูชากับไทยระหองระแหงกันมาตลอดเกี่ยวกับ “ดินแดนพิพาท” ดังกล่าว โดยถือแผนที่กันคนละฉบับอ้างเส้นเขตแดนกันคนละเส้น การเผชิญหน้าเริ่มมาตั้งแต่เดือน ก.ค.2551 เมื่อกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียว
การเผชิญหน้าได้กลายเป็นความตึงเครียด สองฝ่ายปะทะกันครั้งแรกวันที่ 15 ต.ค.2551 ในบริเวณที่เรียกว่า “ลานอินทรี” ห่างจากปราสาทออกไปทางตะวันตก 1 กม.เศษๆ ทหารกัมพูชาเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 2 คน อีก 1 คน เสียชีวิตเวลาต่อมา ฝ่ายไทยได้รับบาดเจ็บประมาณ 10 คน มี 1 อาการสาหัสเสียชีวิตที่โรงพยาบาลเวลาต่อมา
การปะทะครั้งล่าสุดเกิดขึ้นที่จุดเดิม ทหารไทยเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 2 นาย ฝ่ายกัมพูชาไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ ฝ่ายทหารของไทยกล่าวว่า ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจาก “ความเข้าใจผิด”
ผู้บัญชาการทหารระดับภาคของสองฝ่ายได้พบเจรจาในเวลาต่อมาที่บริเวณวัดใกล้ปราสาทพระวิหาร และ ยืนยันนโยบายที่จะลดการเผชิญหน้า
รัฐมนตรีกลาโหมไทย พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ กับ รมว.กลาโหมกัมพูชา พล.อ.เตียบัญ (Tea Banh) ได้พบเจรจาจากันในเสียมราฐ ระหว่างวันที่ 28-29 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ไม่มีความตกลงอะไรใหม่ๆ ออกมา