xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ส่งออกเวียดนามโวยซ้ำรอยเดิมปล่อยข้าวไทยโกยอื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#00cc00> ภาพรอยเตอร์วันที่ 16 มี.ค.2552 ชาวนาที่หมู่บ้านดึ๊กตื๋ (Duc Tu) ชานกรุงฮานอยกำลังปักดำข้าวนาปรัง ที่นี่เป็นที่ราบใหญ่ลุ่มแม่น้ำแดงในภาคเหนือ เดือนเดียวกันนี้ชาวนาในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงทางภาคใต้กำลังเร่งเก็บเกี่ยวข้าวฤดูหลักซึ่งให้ผลผลิตมากที่สุด ปีนี้เวียดนามอาจจะส่งออกได้มากถึง 6 ล้านตัน แต่รัฐบาลจำกัดเป้าเอาไว้แค่ 4.5-5 ล้านตัน </FONT></CENTER>

ASTVผู้จัดการรายวัน-- ผู้ส่งออกข้าวในภาคใต้เวียดนามจำนวนหนึ่งได้รวมตัวกันยื่นเสนอต่อสมาคมอาหารเวียดนาม ขอให้ปรับเพดานส่งออกข้าว ไม่ควรหยุดอยู่แค่ปัจจุบันซึ่งจะทำให้พลาดโอกาสทองในการจำหน่ายข้าวได้ราคาดี ปล่อยให้ผู้ส่งออกจากไทยกอบโกยกำไรงามแต่ผู้เดียว

ผู้ส่งออกในนครโฮจิมินห์และในจังหวัดที่ราบปากแม่น้ำโขง ยื่นหนังสือถึงสมาคมอาหารฯ หรือ VietFood ในวันจันทร์ ยืนยันว่าการจำกัดเพดานส่งออกไว้ในระดับต่ำไม่เป็นผลดีต่อชาวนาเกษตรกรและ เศรษฐกิจของประเทศในสภาวะที่ทั่วโลกกำลังประสบปัญหา

ตามระบบของเวียดนาม VietFood ซึ่งเป็นหน่วยงานกึ่งราชการ จะทำหน้าที่กำกับดูแลการส่งออกข้าวของประเทศ โดยประสานกับตัวเลขสถิติของสองกระทรวงหลักที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทกับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า

ผู้ส่งออกกล่าวว่า เมื่อไม่มีการส่งออก ก็จะไม่มีการออกรับซื้อข้าว จะทำให้เกิดการขาดสภาพคล่อง ผู้ส่งออกจะไม่มีเงินทุนเพื่อเตรียมส่งออกในครึ่งปีหลัง ขณะที่ชาวนาจังหวัดต่างๆ ในเขตที่ราบอู่ข้าวใหญ่ของประเทศกำลังเก็บเกี่ยวข้าวฤดูหลักที่ได้ผลผลิตมากที่สุดในรอบปี .

VietFood ประกาศในเดือน ก.พ.ให้งดการทำสัญญาจำหน่ายข้าวกับลูกค้าในโพ้นทะเลไปจนถึงเดือน มิ.ย. เนื่องจากสองเดือนแรกของปีนี้ มีการเซ็นจำหน่ายข้าวไปแล้วถึง 3.6 ล้านตัน เพื่อส่งมอบตลอดครึ่งแรกของปี

การเซ็นสัญญาซื้อขายครั้งต่อไป จะมีขึ้นเพื่อการส่งมอบ ในช่วงไตรมาสที่สามของปีเท่านั้น

ปี 2552 ทางการเวียดนามตั้งเป้าหมายส่งออกข้าว 4.5-5 ล้านตัน จนถึงเดือน มี.ค.นี้ มีการส่งมอบไปแล้ว 1 ล้านตันเศษ ขณะที่รัฐบาลกำลังพยายามสร้างความมั่นคงด้านอาหารขึ้นในประเทศ สำหรับประชากรกว่า 86 ล้านคน

ปัจจุบันชาวนากำลังเก็บเกี่ยวข้าวด้วยความสบายใจเนื่องจากระบบของเวียดนามนั้น รัฐบาลได้กำหนดให้ผู้ค้าออกรับซื้อข้าวเปลือกในราคาที่ชาวนาจะต้องมีกำไร 40% ซึ่ง VietFood ต้องกำกับดูแลให้เป็นไปตามนโยบายนี้อย่างเคร่งครัด

แต่ภาระกำลังตกหนักอยู่ที่ผู้ส่งออกที่แบกรับดอกเบี้ย เนื่องจากไม่สามารถส่งออกได้ และจะไม่มีเงินทุนหมุนเวียนออกเก็บซื้อข้าวลอตใหม่

ผู้ส่งออกหลายรายกล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์แห่งต่างๆ ปล่อยกู้ให้แก่ผู้ส่งออก แต่กฎระเบียบที่กำหนดออกมาโดย VietFood ได้ทำให้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชะงักลง เนื่องจากไม่มีการออกซื้อข้าวและไม่มีเงินหมุนเวียนในระบบ และ ชาวนาจะไม่มีเงินไปชำระค่าแรง ค่าปุ๋ยเคมีหรือยาปราบศัตรูข้าว

ผู้ส่งออกกล่าวว่า หลังจากเวียดนามหยุดเซ็นสัญญาซื้อขายข้าว ระยะที่ผ่านมาราคาข้าวในตลาดโลกได้กระเตื้องขึ้นอย่างมาก เนื่องจากมีความต้องการสูงขึ้น ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์ไซ่ง่อนหยายฟง (Saigon Giai Phong) หรือ "ไซ่ง่อนปลดปล่อย"

อย่างไรก็ตาม "นโยบายของ VietFood กำลังจะทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย" ผู้ส่งออกรายหนึ่งกล่าว

ผู้ส่งออกชี้ให้เห็นเหตุการณ์เมื่อปีกลายในขณะที่เกิดข้าวยากหมากแพงขึ้นทั่วโลก เวียดนามกลับสั่งให้งดส่งออก พลาดโอกาสำคัญที่จะทำรายได้อย่างงามจากตลาดข้าว ปล่อยให้ผู้ค้าจากไทยกอบโกยผลกำไรฝ่ายเดียว

"ตอนนี้ก็กำลังจะเป็นรูปเดิม ขณะนี้ข้าวไทยกำลังขายดี ทั้งๆ ที่ขายแพงกว่าข้าวของเรา เนื่องจากเราปิดกั้นการส่งออก" ผู้ค้ารายหนึ่งกล่าวกับไซ่ง่อนหยายฟง

ผู้บริหารของสมาคมอาหารฯ กล่าวว่า การจำกัดโควตาส่งออกในช่วงนี้ก็เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย ในขณะที่รัฐบาลต้องระวังในเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร และ จะอนุญาตซื้อขายคราวต่อไป เพื่อส่งมอบในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. เท่านั้น

ยังมีข้อมูลกับความเห็นจากอีกหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะสวนทางกับความเห็นของผู้ส่งออก

ดร.ฟัมวันสือ (Phan Van Du) อธิบดีกรมกสิกรรม เปิดเผยว่าจนถึงขณะนี้ชาวนาในเขตนครเกิ่นเทอ (Can Tho) เกี่ยวข้าวเสร็จแล้วเป็นเนื้อที่นา 42,000 เฮกตาร์ (กว่า 260,000 ไร่) คิดเป็น 47% ของพื้นที่ทั้งหมด และคาดว่าจะแล้วเสร็จในสิ้นเดือน เม.ย.

ดร.ฟัมวันกวี่ง (Pham Van Quynh) หัวหน้าแผนกการเกษตรและพัฒนาชนบทของนครใหญ่ในที่ราบปากแม่น้ำโขงกล่าวว่า ผู้ค้าเข้าไปรับซื้อข้าวจากชาวนานในราคา 4,100-5,000 ด่งต่อกิโลกรัม (อัตราแลกเปลี่ยน 17,000/ดอลลาร์) ซึ่งเป็นไปตามเป็นไปตามนโยบายที่ชาวนาจะมีกำไร 40% หลังจากหักต้นทุนต่างๆ ออกไปแล้ว

ขณะเดียวกัน นายเลวันหาย (Le Van Hai) ผู้อำนวยการบริษัทเจ้าของโรงสีแห่งหนึ่งกล่าวว่าทั้งโณงสีและผู้ค้าได้เงินกู้ผ่อนปรนจากรัฐบาล เพื่อซื้อขาวจากชาวนาไปผลิตเป็นข้าวสารและบรรจุห่อก่อนส่งจำหน่าย

ทุกอย่างเป็นไปตามแผนกระตุ่นเศรษฐกิจของรัฐบาล และเชื่อว่าผู้ส่งออกทั่วไปก็ได้รับประโยชน์จากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าราว 1,000 ล้านดอลลาร์

แต่ผู้ส่งออกยังยืนยันว่า นโยบายจำกัดโควตาของ VietFood กำลังสร้างปัญหา และ ขาดเหตุผลที่ถูกต้องชอบธรรมสนับสนุน ผลประโยชน์ขัดกันอย่างสิ้นเชิง

นโยบายโควตายังทำให้เกิดช่องว่างอีกหลายอย่าง รวมทั้งผู้ส่งออกจำหนวนหนึ่งไม่ได้มีโรงสีและขบวนการแปรรูปเป็นของตนเอง ไม่มีที่จัดเก็บเพียงพอ แต่ได้รับโควตาส่งออกเท่ากับรายที่มีความพร้อมมากกว่า ทำให้ "ผู้ส่งออกรายเล็ก" ทำกำไรได้ทันทีคราวละหลายร้อยล้านด่ง โดยขายโควตา

ผู้ส่งออกกลุ่มใหญ่นี้ได้เรียกร้องให้สมาคมอาหารเวียดนามรวมทั้งงกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทบทวนระบบโควตา ขณะเดียวกันก็ทบทวนเพดานส่งออก เพื่อให้ประเทศมีรายได้จากการจำหน่ายข้าวมากขึ้น ในช่วงที่กำลังขายได้ราคาดีขณะนี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น