xs
xsm
sm
md
lg

ข้าวเวียดนาม-พม่าป่วนตลาดส่งออกข้าวไทยวูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=660099>เริ่มอีกฤดู-- ภาพถ่ายวันที่ 16 ก.พ.2552 ชาวนาในเขตรอบนอกกรุงฮานอยเริ่มปักดำข้าวฤดูต้นปีแล้วเพื่อเก็บเกี่ยวในเดือน เม.ย.-พ.ค. ซึ่งจะทำให้เวียดนามมีข้าวส่งออกตลอดทั้งปี โดยปีนี้คาดว่าจะเหลือบริโภคในประเทศและจำหน่ายได้ 6.4 ล้านตันซึ่งมากเป็นประวัติการณ์. </FONT></CENTER>

ASTVผู้จัดการรายวัน -- ตลาดข้าวไทยต้นปีวูบลงแบบเห็นๆ อันเป็นอิทธิพลโดยตรงจากข้าวราคาถูกกว่าที่เวียดนามกำลังทุ่มออกสู่ตลาดโลก สถานการณ์ดูแย่ลงไปอีกเมื่อพม่าเป็นอีกเจ้าหนึ่งที่กำลังทุ่มข้าวราคาต่ำสุดๆ ตีตลาดแอฟริกา กับเอเชียใต้ และยังมีปริมาณที่สามารถส่งออกได้ตลอดทั้งปีเกือบ 1 ล้านตัน

สถานการณ์ดูย่ำแย่ลงไปอีกเมื่อเวียดนาม ประกาศว่า ปีนี้มีข้าวเหลือส่งออกถึง 6.4 ล้านตัน ขณะที่รัฐบาลขยายเป้าส่งออกจาก 4 ล้านตันในเดือน ม.ค.เป็นระหว่าง 4.5-5 ล้านตัน ในขณะนี้

ตามรายงานของสมาคมผู้ส่งออกข้าว (Thai Rice Exporters Association) ยอดส่งออกข้าวไทยในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ลดลงถึง 38% ต่างไปจากเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งยอดส่งออกพุ่งโลดและราคา เริ่มเชิดหัวจนกระทั่งทำสถิติสูงสุดเกือบ 1,000 ดอลลาร์ต่อตันในไตรมาสสองของปี หรือกว่านั่นสำหรับข้าวเกรดดีบางชนิด

ยอดส่งออกในเดือน ม.ค.ลดลงเหลือเพียง 630,000 ตัน เทียบกับ 1.1 ล้านตัน ในเดือนเดียวกันปี 2551 สำนักข่าวเอเอฟพี อ้างตัวเลขที่เปิดเผยโดยนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าว

“ยอดส่งออกข้าวของไทยลดลง เนื่องจากข้าวไทยราคาค่อนข้างสูง ทำให้เกิดช่วงห่างด้านราคาสูงกว่าข้าวเวียดนามประมาณ 30 ดอลลาร์ต่อตัน” นายชูเกียรติ กล่าว

นายกสมาคมผู้ส่งออก ยังกล่าวอีกว่า สถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกยังส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทย รวมทั้งสิงคโปร์ลูกค้าประจำที่หันไปซื้อข้าวจากผู้ส่งออกรายอื่น

ยอดส่งออกข้าวไทยพุ่งโลดเมื่อปีที่แล้วเช่นเดียวกันราคา หลังจากเวียดนามและอินเดียสองผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก ได้ห้ามส่งออกเพื่อรักษาเสถียรภาพอาหารในประเทศ นอกจากนั้น ราคาที่พุ่งสูงมื่อปีที่แล้วยังมีสาเหตุจากราคาปุ๋ยกับเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้น ตลาดโลกต้องการข้าวมากขึ้น รวมทั้งการนำที่ดินไปใช้ปลูกพืชน้ำมันมากขึ้นซึ่งส่งผลให้ผลิตพืชอาหารได้น้อยลง

เดือน เม.ย.ปีที่แล้ว ราคาข้าวหอมปทุมธานีของไทยพุ่งขึ้นสูงเกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์ ปัจจุบันราคาวูบลงเหลือราว 760 ดอลลาร์ต่อตัน เอเอฟพีกล่าว

“สถานการณ์เมื่อปีที่แล้วไม่ปกติและไม่น่าเชื่อว่า จะเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต ถึงกระนั้นการส่งออกของเราในเดือนมกราคมก็ต่ำกว่าปริมาณส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 800,000 ตัน” นายชูเกียรติ กล่าว
<CENTER><FONT color=660099> ชาวนาในเขตรอบนอกกรุงฮานอยกำลังเร่งปักดำ ภาพ Reuters ถ่ายวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามควบคุมการซื้อขายข้าวในประเทศ โดยกำหนดให้ชาวนามีกำไรราว 40% จากการจำหน่ายผลผลิตฤดูต่างๆ ถึงกระนั้นข้าวเวียดนามก็ยังขายราคาถูกในตลาดโลกได้ </FONT></CENTER>
นายกสมาคมผู้ส่งออก คาดว่า ปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวระหว่าง 8.5-9.0 ล้านตัน ลดลงจาก 10 ล้านตันเมื่อปีที่แล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากมีปัจจัยอีกหลายอย่างกำหนด

นายชูเกียรติ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ว่า ยอดส่งออกเดือน ก.พ.นี้อาจจะลดลงต่ำกว่า 600,000 ตัน เทียบกับ 1.04 ล้านตันที่ส่งออกในเดือน ก.พ.2551

ขณะเดียวกัน นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ในวันอังคาร (17 ก.พ.) ว่า ราคาข้าวไทยในปีนี้อาจจะลดลงเหลือเพียง 530 ดอลลาร์ โดยเฉลี่ยเป็นครึ่งต่อครึ่งจากตอนที่พุ่งขึ้นสูงสุดปีที่แล้ว

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ มีความเห็นเช่นเดียวกับนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวฯ โดยกล่าวว่าสถานการณ์ในตลาดโลกปีนี้จะกลับคืนสู่ภาวะปกติ หลังจากเกิดความแตกตื่นแย่งกันซื้อเมื่อปีที่แล้ว

ตามตัวเลขของกรมการค้าต่างประเทศ ในเดือน พ.ค.2551 ข้าวหอม 100% เกรด-บี ของไทยราคาพุ่งขึ้นเป็นตันละ 1,038 ดอลลาร์

เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม กล่าวสัปดาห์ที่แล้วว่า ปีนี้จะมีข้าวเหลือบริโภคภายในประเทศและส่งออกได้ถึง 6.4 ล้านตัน เนื่องจากการผลิตในฤดูข้าวนาปีในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงได้ผลสูงเกิดคาด

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไซ่ง่อนหยายฟง (Saigon Giai Phong) หรือ “ไซ่ง่อนปลดปล่อย” สัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyen Tan Dung) ได้อนุมัติให้สมาคมอาหารเวียดนาม หรือ VietFood (Vietnam Food Association) ปรับเป้าส่งออกประจำไตรมาสที่ 1 ให้เป็นระหว่าง 4.5-5.0 ล้านตัน ในขณะที่จะมีการส่งมอบข้าวเกือบ 900,000 ตันในเดือน ก.พ.นี้

เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เวียดนามกับฟิลิปปินส์ได้เซ็นสัญญาซื้อขายข้าวผสมเมล็ดหัก 25% ปริมาณทั้งหมด 1.5 ล้านตัน โดยจะส่งมอบลอตแรก 1 ล้านตันระหว่างเดือน ก.พ.-มี.ค.นี้

ตามรายงานของสื่อทางการระหว่างเดือน ก.พ.-มี.ค.นี้ ชาวนาในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงอันเป็นอู่ข้าวใหญ่ที่ผลิตข้าวได้ 60% ของทั้งประเทศ กำลังเก็บเกี่ยวข้าวในผืนนาที่เหลืออีกประมาณ 2 ใน 3 ของทั้งหมด สำหรับฤดูที่ผลิตข้าวได้ผลมากที่สุดประจำทุกปี

ขณะเดียวกัน ชาวนาในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำแดงทางภาคเหนือก็กำลังเร่งปักดำข้าวฤดูใบไม้ผลิต-ฤดูร้อน เพื่อเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.ซึ่งจะทำให้เวียดนามมีข้าวออกสู่ตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง

นักวิเคราะห์กล่าวว่า เวียดนามซึ่งจำหน่ายข้าวราคาถูกกว่าข้าวไทยและคุณภาพดีกว่าข้าวจากพม่าหรือกัมพูชา มีโอกาสที่จะส่งออกข้าวได้ทั้งหมด 6.4 ล้านตัน ตามที่หลายฝ่ายคาดเอาไว้

ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง ยอดส่งออกข้าวของเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับสองของโลก ถัดจากประเทศไทย ก็จะสูงเป็นประวัติการ เทียบกับ 4.7 ล้านตันเมื่อปีที่แล้ว และ 5.2 ล้านตันเมื่อปี 2549

ขณะเดียวกัน ปีนี้กำลังจะเป็นปีแรกที่พม่ามีข้าวเหลือส่งออกปริมาณมากที่สุด

นักวิเคราะห์ในตลาด เชื่อว่า ปีนี้พม่าจะมีข้าวเหลือส่งออก 700,000-800,000 ตัน ขณะที่ตัวเลขของทางการระบุว่าเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้นสองเท่าตัวเป็นประมาณ 400,000 ตัน เทียบกับเดือนเดียวกันปี 2551 โดยจำหน่ายในราคาที่ต่ำมาก

ในช่วง 2 เดือนท้ายปี 2551 พม่าขายข้าวผสมข้าวหัก 25% ในราคาเพียงตันละ 260 ดอลลาร์ซึ่ง “สูงขึ้นจาก 220 ดอลลาร์ต่อตันหลังจากส่งออกได้อีกครั่งในเดือน พ.ย.” ทั้งนี้ เป็นรายงานของกระทรวงพาณิชย์ที่เผยแพร่ในกรุงย่างกุ้งสัปดาห์กลางเดือน ม.ค.

พม่าหยุดส่งออกข้าวลงในกลางไตรมาสที่สองของปีหลังถูกพายุพัดถล่มในเดือน พ.ค.
กำลังโหลดความคิดเห็น