ASTV ผู้จัดการรายวัน-- ถึงแม้ว่ากระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทจะตั้งเป้าหมายส่งออกข้าวเพียง 4 ล้านตัน แต่ปีนี้เวียดนามยังมีข้าวเหลือเฟือที่จะส่งขายตลาดโลก องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือ FAO (Food and Agriculture Organization) กล่าวว่า เวียดนามมีผลผลิตเหลือส่งออกได้ถึง 5 ล้านตันอย่างสบาย
เจ้าหน้าที่เวียดนามเปิดเผยว่า เพิ่งจะมีการเซ็นสัญญาซื้อขายข้าวปริมาณ 1 ล้านตันกับฟิลิปปินส์ต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาเป็นข้าวชนิดผสมข้าวหัก 25% ทั้งหมด จากปริมาณซื้อขายที่ตกลงทั้งสิ้น 1.5 ล้านตันตลอดปีนี้ แม้จะได้ราคาค่อนข้างต่ำและราคาจำหน่ายยังไม่นิ่ง
ตัวเลขของ FAO ใกล้เคียงกับตัวเลขของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามที่ระบุว่า ปี 2552 อาจจะมีข้าวส่งออกได้ถึง 4.8 ล้านตัน
องค์การอาหารฯ โลกระบุตัวเลขดังกล่าวในบทวิเคราะห์ฉบับล่าสุดที่ออกเผยแพร่ในสัปดาห์นี้ ในขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เวียดนามกำลังจะทยอยส่งมอบข้าวล๊อตแรกให้แก่ทางการฟิลิปปินส์ตั้งแต่เดือน ก.พ.นี้เป็นต้นไป
แต่ในสัปดาห์ต้นเดือนเดียวกัน ทางการเวียดนามได้ลดเป้าส่งออกข้าวลงเหลือเพียง 4 ล้านตัน สำหรับปี 2552 นายกรัฐมนตรีนายเหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyen Tan Dung) ได้สั่งการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องจำกัดเป้าส่งออก เพื่อให้มีหลักประกันจะไม่ขาดแคลน ไม่เกิดความตื่นตระหนกเช่นปีที่แล้ว
หน่วยงานต่างๆ ของเวียดนามจะประชุมหารือและปรับเป้าส่งออกทุกไตรมาส ขณะที่รายงานของ FAO ระบุว่า ปี 2552 เป็นโอกาสอันดีสำหรับทางการคอมมิวนิสต์ในการสร้างเสริมความมั่นคงด้านอาหารในประเทศ ขณะที่มีเหลือส่งออกจำนวนมาก
องค์การนี้เชื่อว่าปี 2552 นี้ประเทศต่างๆ รวมทั้งเวียดนามจะยังสามารถจำหน่ายข้าวได้ราคาดี แม้ว่าราคาตลาดโลกอาจจะไม่พุ่งขึ้นสูงเช่นเมื่อปีที่แล้ว
ปี 2551 เวียดนามส่งออกข้าวได้ทั้งหมด 4.72 ล้านตัน เกินเป้าหมาย 4.5 ล้านตัน และทำเงินได้ 2,900 ล้านดอลลาร์ เพิ่มเกือบสองเท่าตัวจากปี 2550
นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งยังไม่เห็นด้วยกับการคาดการของ FAO โดยชี้ให้เห็นปริมาณข้าวที่ตกค้างจากปีที่แล้วในประเทศแถบนี้ที่มีอยู่หลายล้านตัน ในขณะที่กำลังจะมีข้าวใหม่ออกมาอีกหลายล้านตัวในฤดูการผลิตต้นปี
กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามออกรายงานปลายเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว คาดว่าปีนี้อาจจะทำเงินได้น้อยลงแม้จะมีข้าวส่งออกมากขึ้นก็ตาม
อย่างไรก็ตามสมาคมอาหารเวียดนาม หรือ VietFood ได้ประกาศปรับขึ้นราคาข้าวผสมเมล็ดหัก 25% ระหว่าง 3-4.9% ในเดือน ม.ค.นี้ ก่อนผู้ส่งออกจะเริ่มส่งข้าว 500,000 ตันให้แก่ฟิลิปปินส์ระหว่างเดือน ก.พ.- มี.ค.นี้ รอยเตอร์รายงานเมื่อวันพุธ (21 ม.ค.) โดยอ้างการเปิดเผยของผู้ส่งออก
"บริษัทอาหารต่างๆได้เตรียมเก็บสต๊อคข้าวเพื่อส่งออก (ให้ฟิลิปปินส์) การขึ้นราคาจะไม่ส่งกระทบต่อการส่งมอบ แต่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ราคากำลังจะสูงขึ้น" ผู้ค้าข้าวในนครโฮจิมินห์ ศูนย์กลางการค้าข้าวใหญ่ที่สุดในประเทศกล่าวกับรอยเตอร์
ราคา FOB (Free-on-Board) ข้าว 25% เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 330-350 ดอลลาร์ต่อตันสัปดาห์นี้ จาก 320 ดอลลาร์สัปดาห์ที่แล้ว ก่อนที่สมาคมอาหารเวียดนามหรือ VietFood ที่กำกับดูแลการส่งออกจะกำหนดราคาไว้ที่ 370 ดอลลาร์ต่อตันในวันที่ 12 ม.ค.
ส่วนราคา FOB สำหรับข้าวคุณภาพดีผสมข้าวหัก 5% ได้เพิ่มขึ้นเป็น 395 ดอลลาร์ต่อตัน จาก 390 ดอลลาร์สัปดาห์ที่แล้ว แต่ก็ยังต่ำกว่าตันละ 400 ดอลลาร์ตามที่ VietFood กำหนด
"ผู้ส่งออกหลายรายได้เริ่มเก็บข้าวเข้าสต๊อคตั้งแต่เดือนธันวาคม จึงมีหลักประกันว่าจะไม่เกิดขาดแคลนในขณะที่กำลังเตรียมขนส่ง แต่อาจจะขาดแคลนข้าวหักเพื่อผสมให้เป็นข้าว 25 เปอร์เซ็นต์ในระยะยาว" ผู้ค้าอีกคนหนึ่งกล่าว
ชาวนาจะเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวฤดูต้นปีในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงปลายเดือน ก.พ.นี้ ซึ่งเป็นฤดูที่ให้ผลผลิตมากที่สุดและส่วนใหญ่เป็นข้าวคุณภาพดีโอกาสที่จะมีเมล็ดหักน้อย" ส่วนข้าวที่กำลังจะส่งมอบให้ฟิลิปปินส์นี้เป็นข้าวฤดูนาปีกับนาปรังครั้งที่สามอีกส่วนหนึ่งที่เก็บเกี่ยวพร้อมกันในปลายปี 2551 ในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขง ผู้ค้าอธิบาย
ผู้ค้าในนครโฮจิมินห์เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าในต้นเดือน ม.ค.ได้มีการเซ็นสัญญาซื้อขายข้าว 25% กับฟิลิปปินส์จำนวน 1 ล้านตันในราคา 380 ดอลลาร์ต่อตัน (รวมค่าขนส่ง) และอาจจะถึง 1.5 ล้านตันตลอดปีนี้โดยสองฝ่ายยังจะต้องหารือในรายละเอียดว่าจะเป็นข้าวชนิดไหนปริมาณเท่าไรบ้าง
คาดว่าสมาคมอาหารเวียดนามได้ปรับราคาพื้นฐานสำหรับส่งออกลงในเร็วๆ นี้ เนื่องจากราคาปัจจุบันสูงกว่าราคาจริง รอยเตอร์กล่าว
เดือน เม.ย.ปีที่แล้วรัฐบาลเวียดนามได้สั่งหยุดส่งออกข้าวทุกชนิด หลังจากราคาพุ่งขึ้นสูงในตลาดท่ามกลางเงินเฟ้อรุนแรงที่พุ่งขึ้นกว่า 20% เกิดความโกลาหลไปทั่ว ประชาชนทั่วไปในเมืองใหญ่ตื่นตระหนก ออกกว้านซื้อข้าวจากซูเปอร์มาร์เก็ตหรือศูนย์การค้าเข้าเก็บเพราะเกรงว่าจะขาดแคลน
เวียดนามอนุญาตให้ส่งออกข้าวได้อีกครั้งหนึ่งในเดือน มิ.ย. และเริ่มส่งออกจริงในเดือน ส.ค. ขณะที่ราคาในตลาดโลกตกต่ำลงอย่างมาก ทำให้พลาดโอกาสที่จะเงินมหาศาล
ในช่วงต้นปี 2551 หลายประเทศได้ห้ามส่งออกข้าว รวมทั้งอินเดียที่ผลิตได้น้อยลงและให้ส่งออกได้เพียงข้าวหอมบาสมาติซึ่งเป็นข้าวคุณภาพดีราคาแพงเท่านั้น จึงยิ่งทำให้เกิดความวิตกไปทั่ว เกรงว่าจะเกิดยุคข้าวยากหมากแพง
ในการประชุมรัฐสภาสมัยประชุมปลายปี 2551 กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและส่งออกข้าวได้ถูกอภิปรายโจมตีเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง สมาชิกรัฐสภาไม่พอใจเนื่องจากการห้ามส่งออกข้าวปีที่แล้วทำให้พลาดโอกาสที่จะนำรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล.