ผู้จัดการรายวัน-- ชาวนาในภาคใต้เวียดนามกำลังบอบช้ำจากราคาข้าวตกต่ำ ซึ่งส่วนหนึ่งเนื่องมาจากข้าวพันธุ์ดอกมะลิ (Dok Mali Rice) ซึ่งเป็นข้าวหอมคุณภาพดีที่ส่งไปจากกัมพูชา ทั้งที่ถูกกฎหมายและลักลอบส่งเข้าไปตีตลาดจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่าและกำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในขณะนี้
ตามรายงานของสื่อในเวียดนามขบวนของกองทัพมดที่ขนข้าวเปลือกใส่กระสอบบรรทุกบนรถจักรยานยนต์ได้จอดกับเป็นแถวยาวที่เชิงสะพานซวนโต๋ (Xuan To) ข้ามแม่น้ำโขงทางฝั่งกัมพูชาซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอีกฝ่ายหนึ่งใน จ.อานยาง (An Giang) รอคอยผู้ค้าข้ามไปรับซื้อ โดยทางการไม่ได้เก็บภาษีเพื่อ "ช่วยเหลือ" ชาวนาเวียดนาม
ข้าวหอมพันธุ์ดีจากกัมพูชาและไทยยังส่งไปทางเรือตามลำคลองสาขาโดยเรือเวียดนามกับเรือของฝ่ายเขมรจอดอยู่ใกล้กัน เข้าเทียบกันโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสองฝ่ายมิได้เอาใจใส่
คนงานจากกัมพูชากล่าวว่า มีการขนข้าวจากโกดังเก็บในเขต จ.ตาแกว (Takeo) วันละประมาณ 300 ตันไปยังจุดซื้อขายขนาดใหญ่อย่างน้อย 5 จุดที่จัดขึ้นตามลำคลองส่วนที่เป็นพรมแดนธรรมชาติของสองประเทศ
"ประมาณว่ามีการขนข้าวเข้าจังหวัดอานยางโดยผ่านด่านติ๋งเบียน (Tinh Bien) วันละไม่น้อยกว่า 1,500 ตัน.. ส่วนใหญ่เป็นข้าวดอกมะลิ" นายซยางเลิม (Giang Lam) เจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ด่านชายแดนแห่งนั้นเปิดเผยกับสื่อในเวียดนาม
นายเลิมกล่าวว่าสำหรับ "ข้าวดอกมะลิ" เป็นข้าวขาวเมล็ดยาว ซึ่งอาจจะขนไปจากประเทศไทยอีกทอดหนึ่ง ส่วนของกัมพูชาเป็นพันธุ์เมล็ดสั้น แต่ก็ได้รับความนิยมในเวียดนามเนื่องจากมีกลิ่นหอมและความนุ่มนวลในการรับประทาน
ปัจจุบันผู้ค้าจากจังหวัดต่างๆ มิได้ให้ความสนใจข้าวที่ปลูกในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงมากนัก แต่ได้แห่กันไปยัง จ.อานยาง เพื่อกว้านซื้อ ข้าวดอกมะลิที่จำหน่ายกันกิโลกรัมละ 5,300 ด่ง (อัตราแลกเปลี่ยน 17,500 ด่งต่อดอลลาร์) และ 5,000 ด่งสำหรับข้าวเมล็ดสั้น
เมื่อสีเป็นข้าวสารแล้วทั้งหมดจะส่งออกจำหน่ายผ่านช่องทางค้าปลีกต่างๆ ใน จ.เตียนยาง (Tien Giang) ลองอาน (Long An) นครเกิ่นเทอ (Can Tho) และไกลถึงนครโฮจิมินห์
อย่างไรก็ตาม "ข้าวหอมมะลิ" ที่ปลูกในประเทศไทยนั้นจะมีราคาสูงและส่งออก โอกาสที่จะถูกขนส่งข้ามกัมพูชาไปจนถึงเวียดนามในรูปข้าวเปลือกนั้นเป็นไปได้น้อยมาก ซึ่งอาจจะเป็นการแอบอ้างของพ่อค้าชาวเขมรเอง
ผู้ค้าในเวียดนามกล่าวว่าชาวนาในเขตที่ราบปาแม่น้ำโขงปลูกข้าวพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงเช่น IR50401 กับ 3217 เพื่อป้อนตลาดในท้องถิ่น แต่ขณะนี้ข้าวจากไทยและกัมพูชาได้ทะลักเข้าไปครองตลาดแทน และชาวเวียดนามนิยมบริโภคเนื่องจากกลิ่นหอมและรสชาติดี
ด่านศุลกากรติ๋งเบียนมิใช่เพียงประตูเดียวที่เป็นทางผ่านของข้าวจากไทยและกัมพูชา ข้าวอีกนับพันๆ ตันต่อวันถูกขนข้ามช่องทางอื่นๆ อีกหลายจุดตลอดแนวชายแดน จ.อานยางกับ จ.ตะแกว จ.ด่งท๊าป (Dong Thap) จนถึง จ.เกียนยาง (Kien Giang) ที่อยู่ใต้ลงไปนับร้อยกิโลเมตร
ในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงมีการปลูกข้าวหอมพันธุ์ดีเพื่อส่งออกและจำหน่ายในตลาดท้องถิ่นเช่นเดียวกัน แต่ก็ยังคุณภาพเทียบกับข้าวไทยและกัมพูชาไม่ได้ ไม่ได้รับความนิยมและราคายังสูงกว่าอีกด้วย ผู้ค้าอีกรายหนึ่งกล่าว
ไม่สามารถขอการยืนยันจากฝ่ายใดได้ว่า "ข้าวดอกมะลิ" ถูกส่งข้ามแดนผ่านกัมพูชาไปได้อย่างไรในรูปข้าวเปลือก และ ยังไม่เคยมีรายงานมาก่อนว่า มีการปลูก "ข้าวหอมมะลิ" ในกัมพูชา.