xs
xsm
sm
md
lg

สิ้นยุค“หวอวันเกียต”การปฏิรูปดำเนินต่อไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#3366FF>รูปของอดีตนายกรัฐมนตรี หวอวันเกียต (Vo Van Kiet) ตั้งอยู่ที่แท่นพิธีซึ่งจัดขึ้นที่ทำเนียบแห่งเอกภาพ ในนครโฮจิมินห์ เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2551 ทั้งนี้ เวียดนามได้กำหนดให้มีการไว้อาลัยเป็นเวลา 2 วัน (ภาพ : เอเอฟพี).</CENTER>
ผู้จัดการรายวัน-- เวียดนามจัดพิธีศพอย่างสมเกียรติให้กับนายหวอวันเกียต (Vo Van Kiet) อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้นำประเทศฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ เข้าสู่โลกยุคใหม่และประเทศคอมมิวนิสต์แห่งนี้ได้เข้าเป็นสมาชิกประชาคมการค้าโลกอย่างเต็มภาคภูมิในปัจจุบัน

ประชาชนนับหมื่นๆ เรียงรายตามท้องถนนนครโฮจิมินห์เมื่อวันอาทิตย์ (15 มิ.ย.) เคารพอดีตผู้นำขณะที่ขบวนแห่เคลื่อนโลงศพผ่านไปถนนสายหลักมุ่งสู่สุสานนครโฮจิมินห์ หลังจากจัดพิธีไว้อาลัยขึ้นที่ห้องมหาประชาคมถ่งเญิต (Thong Nhat) ณ ทำเนียบแห่งเอกภาพ (Reunification Palace)

เมื่อวันเสาร์ นายนงดึ๊กแหม่ง (Nong Duc Manh) เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้นำขบวนแถวยาวเหยียดเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรค รัฐบาลตลอดจนประชาชนทั่วไปเข้าแสดงความอาลัยครั้งสุดท้ายแด่นายเกียตในงานที่จัดขึ้นระดับรัฐพิธี

นายแหม่งซึ่งเป็นตัวแทนของคนทั้งชาติในการไว้อาลัย ได้นำขบวนแถวบรรดาผู้นำและอดีตผู้นำ ตลอดจนบรรดาสหายทำพิธีไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้ายในวันอาทิตย์นี้

เข้าร่วมพิธียังประกอบด้วยอดีตเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ 2 คน คือ นายโด๋เหมื่อย (Do Muoi) กับ พล.ท.เลข่าเฟียว (Le Kha Phieu) และ อดีตประธานาธิบดีคือ พล.อ.เลดึ๊กแอง (Le Duc Anh)

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์แทงเนียน ทางการของหลายจังหวัดในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงอันได้แก่ ก่าเมา (Ca Mau) เกียนยาง (Kien Giang) เบ๊นแจ (Ben Tre) และ นครเกิ่นเทอ (Can Tho) ลงทุนเดินทางรอนแรมข้ามคืน เพื่อไปให้ทันเวลาที่เปิดให้ไว้อาลัยอดีตนายกรัฐมนตรี

ประธานาธิบดีเวียดนามนายเหวียนมิงเจี๊ยต (Nguyen Minh Triet) ได้ลงนามในหนังสือไว้อาลัยระบุว่า นายหวอวันเกียต "เป็นผู้นำที่น่าทึ่งของพรรคและรัฐบาล" เป็นผู้สละทั้งชีวิตเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
<CENTER><FONT color=#3366FF>เจ้าหน้าที่กำลังวางโรงศพของอดีตนายกรัฐมนตรีเวียดนาม นายหวอวันเกียต ในระหว่างพิธีฝังศพที่สุสานของท้องถิ่นในนครโฮจิมินห์ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2551(ภาพ : เอเอฟพี).</CENTER>
นายกรัฐมนตรีเวียดนามเหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyen Tan Dung) กล่าวว่า เวียดนามจะต้องภาคภูมิใจตลอดไปที่ได้สร้างนายเกียตขึ้นมา เป็นผู้นำและนักปฏิรูปที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศ

ไกลออกไปทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐและสำนักงานเลขาธิการองค์การสหประชาชาติในนครนิวยอร์กต่างก็ออกคำแถลงร่วมแสดงความเสียใจต่อรัฐบาล และ ประชาชนชาวเวียดนามต่ออสัญกรรมของนายเกียต

พิธีอาลัยยังจัดขึ้นที่หอประชุมถ่งเญิตในกรุงฮานอย และที่ จ.หวิงลอง (Vinh Long) ในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงอันเป็นบ้านเกิดของอดีตผู้นำอีกด้วย ซึ่งประชาชนที่นั่นนับหมื่นๆ เข้าแถวยาวเหยียดฝ่าสายฝนมุ่งหน้าไปไว้อาลัยครั้งสุดท้ายที่สำนักงานคณะกรรมประชาชนจังหวัด

ตามรายงานของสำนักข่าววีเอ็นเอของทางการเวียดนาม นายเกียตถึงแก่กรรมในวันพุธ (11 มิ.ย.) ด้วยวัย 85 ปี ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในสิงคโปร์ ข่าวแพร่งพรายออกมาครั้งแรกในวันพฤหัสบดี ในวันศุกร์จึงมีคำแถลงยืนยันและไว้อาลัยอย่างเป็นทางจากพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

พรรคคอมมิวนิสต์ได้ยกย่องนายเกียตเป็น "สหายนักปฏิวัติแห่งชาติ" ลูกหลานของประชาชน
เวียดนาม "วีรบุรุษแห่งพรรค" และ สหายที่ภักดีของอดีตประธานโฮจิมินห์ การถึงแก่กรรมของนายเกียตเป็น "การสูญเสียของพรรคและรัฐ ประเทศและประชาชน"

หลังสงครามสิ้นสุดลงในต้นปี 2518 เวียดนามได้เข้าสู่ยุคแห่งการก่อสร้างประเทศขึ้นใหม่ซากหักพัง ขณะที่ต้องกระโดดเข้าสู่สงครามในกัมพูชากับกองโจรเขมรแดง ในท่ามกลางความสับสนของสถานการณ์โลกเมื่อสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นผู้นำคอมมิวนิสต์ค่ายหนึ่งล่มสลายลงในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990

นายเกียตไม่ได้เป็นเพียงนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งเท่านั้น หากเป็นผู้นำที่นำประเทศคอมมิวนิสต์ประเทศหนึ่ง ก้าวเข้าสู่โลกยุคใหม่

การปฏิรูปเศรษฐกิจที่ก่อตัวขึ้นในยุคนี้ได้เป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาความอดอยากยากจนของประเทศในช่วง 2 ทศวรรษหลังสงคราม ทำให้ชาวเวียดนามหลายสิบล้านคนมีความกินดีอยู่ดีขึ้น

นโยบาย "เปลี่ยนแปลงใหม่" หรือ "โด่ยเหมย" (Doi Moi) ที่เริ่มขึ้นในยุคของนายเกียตได้นำไปสู่การเปิดประตูสู่โลกภายนอก นำไปสู่การปรับความสัมพันธ์คืนดีกับจีนและสหรัฐฯ ซึ่งต่างเป็นศัตรูสำคัญด้านอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ในช่วงสงคราม
<CENTER><FONT color=#3366FF>(จากทางซ้าย) ผู้นำระดับสูงของเวียดนามหลายคน ซึ่งรวมทั้งนายเหวียนเติ๋นยวุ๋ง นายกฯ คนปัจจุบัน  พล.ท.เลข่าเฟียว อดีตเลขาฯ พรรคคอมมิวนิสต์ นายนงดึ๊กแหม่ง เลขาฯ พรรคคอมมิวนิสต์คนปัจจุบัน และนายเหวียนมิงเจี๊ยต ประธานาธิบดี รวมทั้งสมาชิกในครอบครัวกำลังโปรยดินลงไปในหลุมฝังศพ ซึ่งจัดขึ้นที่นครโฮจิมินต์ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.</CENTER>
นายเกียตเกิดปี 2465 ในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขง เข้าร่วมการปฏิวัติต่อต้านฝรั่งเศสเมื่อปี 2481 เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนปลายปีถัดมา เคลื่อนไหวปฏิวัติในหลายจังหวัดภาคใต้ รวมทั้งในกรุงไซ่ง่อนเมื่อก่อน เคยสูญเสียภรรยาคนแรกกับลูกอีก 2 คนจากการทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ

นายเจิ่นก๊วกเฮือง (Tran Quoc Huong) สหายที่ร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ กับนายเกียตในช่วงปีแห่งสงครามเขียนในสมุดบันทึกว่า "ผมเสียใจอย่างสุดซึ่งที่ทราบข่าวว่าคุณเสียชีวิต คุณเป็นสหายเป็นเพื่อนและเป็นพี่ของผม"

นายเกียตเป็น "ชาวใต้" เพียงไม่กี่คนที่เติบโตขึ้นมาในท่ามกลางความสับสนด้านลัทธิอุดมการณ์ ได้รับเลือกเป็นกรรมการกลางพรรคและเป็นสมาชิกสำรองกรมการเองพรรคคอมมิวนิสต์ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 4 ปี 2519 และเป็นเลขาธิการพรรคสาขานครโฮจิมินห์ปีเดียวกัน อันเป็นการเริ่มบทบาทในองค์กรสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์

ปี 2530 ได้รับเลือกเป็นสมาชิกรัฐสภา และได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 ของเวียดนาม

ปี 2535 นายเกียตได้รับเลือกจากรัฐสภาขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลและเป็นรองอันดับ 1 ประธานสภากลาโหม และอยู่ในตำแหน่งนี้มาจนกระทั่งปี 2540

ช่วงปีที่นายเกียตมีตำแหน่งระดับนำในพรรคและในรัฐบาลนี้เป็นช่วงที่มีการต่อสู้ด้านความคิดและอุดมการณ์อย่างหนักในบรรดาสหายร่วมพรรค ซึ่งได้แบ่งเป็นขั้วอนุรักษ์นิยมกับขั้วปฏิรูปอย่างชัดเจน

ปี 2534 เป็นปีที่ "กำแพงเบอร์ลิน" พังทลาย ระบอบโซเวียตซึ่งเป็นผู้สนับสนุนค้ำจุนเวียดนามในทุกด้านได้พลังทลายลง สถานการณ์โลกคอมมิวนิสต์สับสนปั่นป่วน เป็นปีที่เวียดนามเรียกว่า "ยุคแห่งความเป็นความตาย" เริ่มขึ้น เวียดนามต้องหันไปปรับสัมพันธ์กับจีนซึ่งเป็นผู้นำคอมมิวนิสต์ต่างค่าย

ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 8 ของพรรคปี 2840 นายเหวียนลิงห์ (Nguyen Van Linh) เลขาธิการใหญ่พรรคได้ลาออก พร้อมกับนายเกียตและผู้นำสายปฏิรูปอีกลายคน

ปฏิบัติการดังกล่าวเพื่อแลกกับการลาออกจากพรรคของผู้นำสายอนุรักษ์นิยมในกรมการเมืองซึ่งรวมทั้ง พล.อ.เลดึ๊กแอ็ง นายมายจี๋เถาะ (Mai Chi Tho) รัฐมนตรีมหาดไทยกับนายเหวียนเกอแถ็ก (Nguyen Co Thach) รัฐมนตรีต่างประเทศในขณะนั้น

การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นได้ทำให้อำนาจการนำไปทอดไปสู่คนรุ่นปัจจุบันซึ่งมีนายนงดึ๊กแหม่งขึ้นนำพรรค นายเหวียนฝูจ่อง (Nguyen Phu Trong) เป็นประธานรัฐสภาในฐานะตัวแทนของชาวเหนือ นายยวุ๋งเป็นนายกฯ และนายเจี๊ยตเป็นประธานาธิบดี ในฐานะตัวแทนของชาวใต้

การปฏิรูปเศรษฐกิจในเวียดนามอันเป็นมรดกตกทอดมาจากยุคของนายหวอวันเกียตยังดำเนินต่อไป ท่ามกลางความยากลำบาก.
กำลังโหลดความคิดเห็น