ASTVผู้จัดการรายวัน--ชาวประมงอวนลากพม่าในเขตเมืองตานด่วย (Thandwe) รัฐยะไข่ (Rakhine) กำลังลำบากหนัก จำนวนปลาที่จับได้ในแต่ละวันลดฮวบลงอย่างน่าตกใจ ในเดือน ก.พ.ที่ฤดูหาปลาเริ่มขึ้น เจ้าของเรือประมงขาดทุนไปตามๆ กัน
ตามรายงานของนิตยสารข่าวเมียนมาร์ไทมส์ ชาวประมงที่เมืองดังกล่าวอันเป็นแหล่งจับปลาจากทะเลเบงกอลที่ขึ้นชื่อ จับปลาได้น้อยลงถึง 75% ในช่วงเดือนต้นปีนี้ จากที่เคยจับได้รวมกันวันละประมาณ 3,000 วิส (4,800 กิโลกรัม)
ยังไม่มีผู้ใดอธิบายได้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เชื่อกันว่าอาจจะเป็นผลกระทบจากไซโคลนนาร์กิส ที่ก่อตัวในทะเลเบงกอลและพัดถล่มชายฝั่งจนถึงที่ราบปากแม่น้ำอิรวดี กรุงย่างกุ้งและเขตพะโคที่ห่างออกไปกว่า 200 กิโลเมตร
นายทินทุน (Tin Tun) ซึ่งประกอบอาชีพประมงในตานด่วยมานาน 30 ปี บอกกับเมียนมาร์ไทมส์ว่า ปรากฏการณ์นี้เริ่มส่อเค้าให้เห็นตั้งแต่ปลายปี 2551 หลังพายุนาร์กิสพัดทำลายล้างสรรพสิ่งในเดือน พ.ค.และยังไม่มีใครสามารถอธิบายสาเหตุได้ หรืออาจจะเป็นเพราะว่า ปี่ที่ผ่านมาชาวประมงจับปลาจากทะเลเบงกอลมากจนเกินไป
"ทุกปีที่ผ่านมาริมหาดจะเต็มไปด้วยปลาที่ชาวบ้านนำออกผึ่งแดดทำปลาแห้ง แต่ในช่วงปีสองปีมานี้หาดทรายว่างลงอย่างเห็นๆ มีปลาตากแห่งอยู่เป็นหย่อมๆ เท่านั้น" นายทินทุนกล่าว
"วันนี้เราจับปลาแทบไม่ได้เลย นั่นคือสูญไป 30,000 จั้ต (1,500 บาท) เป็นค่าน้ำมันเพื่อแล่นเรือออกหาปลาคืนหนึ่งๆ เรายังต้องจ้างคนงานหญิงช่วยตากแห้งปลาและจ้างคนงานอีก 20 คน"
ชาวประมงอีกหลายคนตามหมู่บ้ายต่างๆ ที่เรียงรายตามชายหาดงาปาลี (Ngapali) ให้ข้อมูลคล้ายกับนายทินทุน ทุกคนบอกว่าปีนี้จับปลาได้น้อยลงอย่างผิดปกติ จากที่ผ่านมาทุกเช้าเมื่อเรือกลับเข้าถึงฝั่ง ที่นั่นจะมีปลากองพะเนินกันนับเป็นตันๆ
เรือหาปลาจากทันด่วยจะแล่นออกสู่ท้องทะเลห่างจากฝั่ง 30-32 กม. เพื่อลากอวนในเวลากลางคืน และ กลับเข้าฝั่งให้ทันเวลาเช้าเพื่อนำปลาไปผึ่งแดนให้แห้งบนหาดทราย และส่งขายตลาดในเมือง
ใน 8 หมู่บ้านตั้งแต่หาดงาปาลีไปจนถึงตัวเมืองมีเรือประมงใหญ่น้อยราว 300 ลำ แต่ละคืนจะมีเรือแล่นออกจากฝั่งราว 100-120 ลำ และ เมื่อครั้งที่ยังไปได้ดี แต่ละลำอาจจะจับปลาได้คืนละ 800 หรือ กว่า 1 นั้น หาดทรายยาวเหยียดก็จะเต็มไปด้วยปลาตากแห้ง
ชาวประมงจับปลาได้น้อยลง แต่ก็ยังอยู่ได้เนื่องจากราคาปลาในตลาดไม่ได้ลดลง แต่ยังขึ้นลงอยู่ระหว่าง 2,000-3,000 จั๊ต (100-150 บาท) ต่อกิโลกรัม ระดับเดียวกับเมื่อปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตามนายทินทุนกล่าวว่า ทุกคนได้แต่หวังว่าในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ทุกอย่างจะเป็นปกติ เนื่องจากเป็นช่วงเดือนที่จับปลาได้มากที่สุดในทะเลเบงกอล
"เราไม่มีทางทราบได้เลยว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมจึงจับปลาได้น้อยลงกว่าปีก่อนๆ" นายทินทุนกล่าว
ทุกๆ ปีจะมีพายใหญ่พัดเข้าสู่ฝั่งทะเล ตั้งแต่ตอนใต้รัฐยะไข่ปีละหลายลูก แต่พายุนาร์กิสเมื่อปีที่แล้วเป็นลูกที่สร้างความเสียหายให้แก่พม่าอย่างหนักหน่วงที่สุด มีผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า 100,000 คน
ฝนตกหนักทำให้น้ำในเขตปากแม่น้ำอิรวดีเอ่อขึ้นท่วมชุมชนต่างๆ ริมฝั่ง พายุลมแรงได้หอบคลื่นจากทะเลพัดเข้าสู่หมู่บ้านและหอบผู้คนกับบ้านเรือนหายไปในพริบตา นาข้าวถูกทำลายครึ่งต่อครึ่ง
กรุงย่างกุ้งได้รับความเสียหายอย่างหนักจากพายุลูกนี้ ซึ่งได้พัดผ่านไปจนถึงเขตพะโค (Bago) รัฐมอญและรัฐกะเหรี่ยงที่อยู่ติดชายแดนไทย.
.