xs
xsm
sm
md
lg

ไม่นานจะมีรถโดยสารข้ามชาติจากไทยไปเวียดนาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=660099>  ภาพ Reuters นายกฯ เวียดนาม เหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyen Tan Dung) พบหารือทวิภาคีกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นรม.ของไทย ที่ชะอำวันเสาร์ (28 ก.พ.) สองฝ่ายเห็นพ้องที่จะขยายความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนกับการท่องเที่ยวอย่างกว้างขวางในช่วงต่อไปนี้ ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันเจ้าหน้าที่ไทย-ลาวและเวียดนาม ได้ตกลงกันจะขึ้นทะเบียนรถยนต์ 1,500 คันแรกเพื่อขนส่งสินค้ากับผู้โดยสารเชื่อมระหว่าง 3 ชาติ </FONT></CENTER>

ASTVผู้จัดการรายวัน — สามประเทศเวียดนาม ลาว และไทย ได้ตกลงร่วมออกใบอนุญาตให้แก่รถยนต์ 1,500 คันแรก ที่จะใช้ขนส่งสินค้ากับผู้โดยสารข้ามแดนระหว่างทั้งสามประเทศ บนถนนสายระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกตะวันตก (East-West Economic Corridor) ซึ่งเจ้าหน้าที่กล่าวว่าจะช่วยเพิ่มขยายการค้า การลงทุนกับกิจกรรมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

ทั้งหมดนี้เป็นไปตามความตกลงภายใต้กรอบกลุ่มความร่วมมืออนุภูมิภาคแม่น้ำโขง หรือ GMS (Greater Mekong Sub-Region) เจ้าหน้าที่จากสามประเทศได้ประชุมหารือเรื่องนี้กันที่เมืองดาลัท (Dalat) เมืองเอกของ จ.เลิมด่ง (Lam Dong) ในเขตที่ราบสูงภาคกลาง เวียดนาม ระหว่างวันที่ 25-26 ก.พ.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เป็นรายงานของสื่อทางการเวียดนาม

ตามความตกลงภายใต้กรอบการขนส่งข้ามแดนของ GMS นั้น แต่ละประเทศได้อนุญาตให้รถยนต์ฝ่ายละ 500 คัน สำหรับใช้ในการขนส่งตามถนน EWEC ในระยะแรกนี้ หนังสือพิมพ์เวียดนามนิวส์ กล่าว

นับเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งในความพยายามของสมาชิก 6 ประเทศแห่งอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงอันได้แก่ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา พม่า และ จีน ในการหาทางขนส่งสินค้ากับผู้โดยสารให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และผ่านขั้นตอนทางราชการให้น้อยที่สุด

การประชุมตกลงเรื่องนี้มีขึ้นไม่กี่วัน ก่อนผู้นำกลุ่มสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สมาชิก GMS จำนวน 5 ประเทศร่วมเป็นสมาชิกอยู่ด้วย จะออกคำแถลงเรียกร้องให้บรรดาภาคีอาเซียนทั้ง 10 ชาติต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก

จีนซึ่งเป็นสมาชิกหนึ่งของ GMS เป็นประเทศหุ้นส่วนสำคัญของอาเซียน ในกรอบที่เรียกว่า “อาเซียน+3” เช่นเดียวกับญี่ปุ่นและเกาหลี
<CENTER><FONT color=660099> วันข้างหน้าอาจจะได้นั่งรถบัสโดยสารจากพิษณุโลกหรือขอนแก่นไปเวียดนาม ทางหลวงเลข 9 (ลาว-เวียดนาม) เป็นเส้นทางหลักของถนนระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) ภายใต้กรอบ GMS สามประเทศจะได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในเร็วๆ นี้ พม่า จีนและกัมพูชาจะเป็นปลายทางต่อไป </FONT></CENTER>
นอกจากนั้น ความตกลงด้านการขนส่งบนถนน EWEC ก็ยังมีขึ้นในขณะที่นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyen Tan Dung) กับ นายกรัฐมนตรีของไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้พบปะเจรจาทวิภาคีและตกลงที่จะกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ

ถนนระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ทีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับอนุภูมิภาค ในฐานะที่เป็นทางบกที่สั้นที่สุดในการขนส่งสินค้ากับผู้โดยสารจากเวียดนามไปยังลาวและไทย ขณะที่ไทยได้ใช้ประโยชน์ขนส่งสินค้าเข้าลาวกับเวียดนาม หรือเพื่อไปออกสู่ท่าเรือในทะเลจีนใต้

ปัจจุบันชายฝั่งทะเลภาคกลางของเวียดนามมีท่าเรือขนาดใหญ่ 2 แห่งที่สามารถให้บริการสินค้าจากไทยที่มุ่งไปยังปลายทางอื่นๆ ในเอเชีย ตะวันออก และแปซิฟิก คือ ท่าเรือเตี่ยนซา (Tien Sa) ในนครด่าหนังกับท่าเรือหวุงอาง (Vung Ang) ใน จ.ห่าตี๋ง (Ha Tinh)

เมื่อเปิดใช้การตลอดเส้นทาง ถนนสายระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก จะมีความยาวรวม 1,450 กิโลเมตร แบ่งเป็นหลายช่วง คือ มะละแหม่ง (Mawlamyine) เมียววดี (Myawaddy) ในพม่า ช่วงแม่สอด-พิษณุโลก-ขอนแก่น-กาฬสินธุ์-มุกดาหาร ในประเทศไทย กับสะหวันนะเขต-แดนสะหวัน ในลาว และ ระหว่างลาวบ๋าว (Lao Bao) เหว (Hue)-ด่าหนัง (Danang) ในเวียดนาม

ปัจจุบันเหลือเพียงช่วงแม่มะละแหม่ง-เมียววดี เท่านั้นที่ยังไม่เปิดใช้รวมระยะทางเพียง 100 กม.เศษ

ถนนระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ยังตัดผ่านถนนระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) อีกหลายช่วง ไม่ว่าจะเป็น ย่างกุ้ง-ทะวาย (Dawei) ในพม่า เชียงใหม่-กรุงเทพฯ หนองคาย-กรุงเทพฯ ทางหลวงเลข 13 ในลาว กับทางหลวงสาย A1 ในเวียดนาม

โครงการถนนระเบียงเศรษฐกิจได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านการค้า การลงทุน ระหว่างลาว พม่า ไทย และเวียดนาม ลดค่าใช้จ่ายด้านการขนส่ง ขนส่งผู้โดยสารอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สนับสนุนการพัฒนาเขตชายแดนและเขตชนบทที่ยากจน และส่งเสริมการท่องเทียวในอนุภูมิภาค

สำหรับจีนได้มอบให้รัฐบาลมณฑลหยุนหนันเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม GMS ในนามของจีนทั้งประเทศ
<CENTER><FONT color=6600099> ปลายสุดทางด้านตะวันตกของถนน EWEC อยู่เมืองมะละแหม่ง (Mawlamyine) ก้นอ่าวเมาะตะมะ ในพม่า เส้นทางบกสายนี้รวมความยาวได้ 1,540 กม.สั้นที่สุดสำหรับเชื่อมทะเลจีนใต้กับมหาสมุทรอินเดีย โดยไม่ต้องแล่นเรืออ้อมช่องแคบมะละกา   </FONT></CENTER>
ก่อนหน้านี้ ไทย ลาวและเวียดนาม รวมทั้งไทยและกัมพูชา ได้แยกกันลงนามในบันทึกว่าด้วยสิทธิ์ในการขนส่งสินค้าโดยอนุญาตให้รถบรรทุกของแต่ละฝ่ายเข้าไปให้บริการในอีกประเทศหนึ่งได้ บันทึกดังกล่าวนี้ผนวกเข้าในสัญญาการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน (Cross Border Transport Agreement) ระหว่างประเทศสมาชิก GMS ต่างๆ เมื่อหลายปีก่อน

ในเดือน มี.ค.2551 ผู้นำ GMS ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งที่ 3 ในนครเวียวงจันทน์ของลาว และมีความตกลงที่จะเสริมขยายความสัมพันธ์ด่านการค้าและการลงทุน เร่งเร้าให้มีการนำความตกลงเกี่ยวกับการขนส่งสินค้ากับผู้โดยสารข้ามพรมแดนไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุวัตถุประสงค์โดยเร็ว

สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากนโยบายในระดับรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังเป็นความเรียกร้องต้องการของภาคเอกชนประเทศต่างๆ ที่อยากจะให้ CBTA ปรากฏเป็นจริงโดยเร็ว สภาธุรกิจอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง (GMS Business Forum) ได้เปิดประชุมคู่ขนานกับการประชุมผู้นำประเทศต่างๆ ในเวียงจันทน์เมื่อปีที่แล้ว ได้ผลักดันภาครัฐบาลในเรื่องนี้

การประชุมในเวียงจันทน์มีผู้แทนบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่เข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก

บริษัทยักษ์ใหญ่ที่สนใจเข้าลงทุนในอนุภูมิภาคนี้ยังรวมทั้งกลุ่มอิโตชู (Itoshu) ซึ่งเป็นบริษัทการค้าใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ซัมซุงจากเกาหลี บริษัทบริการขนส่งพัสดุด่วน UPS ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ กับกลุ่มโรงแรมบันยันทรี (Banyan Tree) และ ไมโครซอฟท์ซึ่งเป็นผู้ผลิตซอฟท์แวร์ใหญ่ที่สุดของโลก

ภาคเอกชนยังได้ผลักดันให้รัฐบาล GMS เร่งดำเนินการให้การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในอนุภูมิภาค ผ่านการตรวจและผ่านขบวนการตรวจคนเข้าเมืองเพียงครั้งเดียว หรือ SSI (Single Stop Inspection)

อย่างไรก็ตาม สื่อของทางการเวียดนามไม่ได้ให้รายละเอียดว่า การประชุมที่ดาลัตครั้งนี้มีการขึ้นทะเบียนรถยนต์ประเภทใดบ้าง และแยกเป็นจำนวนประเภทละเท่าไร
กำลังโหลดความคิดเห็น