xs
xsm
sm
md
lg

เป็นไปได้ไง!? รถไฟฟ้าชายแดนไทย-ไปเวียดนาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#FF0000>แผนที่แสดงเเส้นทางรถไฟฟ้าจากชายแดนไทย-ลาวขนานทางหลวงเลข 9 ไปจนถึงชายฝั่งทะเลจีนใต้ ที่เมืองดงห่า (Dong Ha) จ.กว๋างจิ (Quang Tri) ใช้ที่นั่นเป็นจุดเชื่อมต่อสำหรับเดินทางขึ้นเหนือหรือลงใต้ รอรับระบบรถไฟหัวกระสุนของเวียดนาม </FONT></CENTER>
ผู้จัดการ360รายสัปดาห์-- ลองหลับตานึกภาพแห่งอนาคต จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากว่าในอีก 8 หรือ 10 ปีข้างหน้า เมื่อเชิงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) กลายเป็นจุดเริ่มต้นของรถไฟฟ้าที่มุ่งไปยังชายฝั่งทะเลจีนใต้ ขณะเดียวกันก็มีทางรถไฟอีกสาย สร้างขึ้นคู่ขนานไปกับทางหลวงสายหลัก จากชายแดนไทยไปจนถึงด่านแดนสะหวัน-ลาวบ๋าว (Lao Bao) ทะลุเข้าสู่เวียดนาม

ทางหลวงเลข 9 ซึ่งเริ่มจากเมืองไกสอน พมวิหาน ไปถึงเมืองดงห่า (Dong Ha) เมืองเอกของ จ.กว๋างจิ (Quang Tri) ในเวียดนาม ปัจจุบันตัดผ่านดินแดนที่ค่อนข้างแห้งแล้งทุระกันดารในลาว และ ส่วนปลายเป็นพื้นที่เขตภูเขา

แต่เมื่อแผนการก่อสร้างขนส่งระบบรางแล้วเสร็จ สองข้างทางก็อาจจะเต็มไปด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรมและโรงงานต่างๆ ตลอดจนแหล่งบริการหลากหลายสาขา

แนวทางหลวงเลข 9 ลาว-เวียดนาม ก็จะกลายเป็นเส้นทางคมนาคมและขนส่งสินค้าที่ฟู่ฟ่าสุดขีดในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง เชื่อมระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) ตามแผนการอันทะเยอทะยานที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชียหรือเอดีบี

อย่างน้อยที่สุดโครงการเริ่มต้นได้ผุดขึ้นบนแผ่นกระดาษของกลุ่มทุนจากมาเลเซียไจแอนท์ (Giant Group Ltd) ที่ได้ประกาศเนรมิตความฝันของผู้คนนับร้อยล้านในอนุภูมิภาคนี้ให้ปรากฏเป็นจริง ในอนาคตอันไม่ไกล

และถ้าหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จกลุ่มทุนจากมาเลเซียก็จะอาจจะเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด ที่ให้บริการด้านลอจิสติกส์บนถนนสายยุทธศาสตร์ EWEC

กลุ่มไจแอนท์ก่อเกิดที่เกาะบริทิชเวอร์จิน แต่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ บริษัทนี้กำลังตระเตรียมเงินทุนสำหรับการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าระยะทาง 210 กิโลเมตรเชื่อมประเทศไทย ลาวและเวียดนามเข้าด้วยกัน

ผู้บริหารของกลุ่มนี้เปิดเผยในสัปดาห์ต้นเดือน ม.ค.นี้ว่า GGL ยังได้เคยเสนอต่อทางการลาว ขอเข้าลงทุนก่อสร้างและดำเนินการแบบสัมปทาน ระบบรถไฟรางกว้างเวียงจันทน์-หลวงพระบาง เพื่อไปเชื่อมต่อกับรถไฟจีนจากมณฑลหยุนหนัน รวมระยะทางกว่า 600 กม.อีกด้วย

**รถไฟฟ้าในถิ่นกันดาร:จริงหรือหลอก?**

ชื่อบริทิชเวอร์จินสามารถสร้างความสงสัยให้นักลงทุนต่างๆ ได้เสมอ ในฐานะที่เป็นแหล่งฟอกเงิน หรือ เป็นที่จดทะเบียนของบรรดา "บริษัทกระดาษ" ข้ามชาติ บริษัทที่ไม่มีตัวตนจริงๆ หลายต่อหลายแห่ง ที่ผ่านมา GGL จึงต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างหนักเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

บริษัทจากมาเลเซียแห่งนี้ได้เซ็นบันทึกช่วยความจำกับทางการลาวฉบับหนึ่งในเดือน พ.ย.2551 ขอสัมปทานเป็นเวลา 25 ปี ซึ่งอาจจะขอต่ออายุสัญญาได้อีก 12 ปี สำหรับรถไฟฟ้าสาย EWEC

นายมอห์ด ฟาซวี ฮามิดุน (Mohd Fazwi Hamidun) ประธาน GGL เปิดเผยเรื่องนี้กับหนังสือพิมพ์ในมาเลเซียฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ 8 ม.ค. หลังเซ็นสัญญากับศูนย์เศรษฐกิจและการค้าอาเซียนหรือ AETC (ASEAN Economic & Trade Centre) แห่งกรุงปักกิ่ง เพื่อเริ่มสำรวจโครงการรถไฟฟ้ามูลค่า 5,000 ล้านดอลลาร์โดยจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี กับอีก 5-8 ปีในการก่อสร้าง

นายมอห์ดกล่าวว่า GGL เริ่มสนใจการขนส่งในลาวเมื่อต้นปี 2550 ซึ่งยังไม่มีแผนแม่บทที่ชัดเจนใดๆ ขณะที่ลาวแสดงความปรารถนาจะพัฒนาการขนส่งระบบราง ที่ประกอบด้วยรถไฟระยะทางกว่า 2,500 กม. ในนั้น 650 กม.เป็นรางกว้างเพื่อเชื่อมระบบรถไฟจีนกับเวียดนาม
<CENTER><FONT color=#FF0000> ถ้าหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนการ การก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าเชื่ออนุภูมิภาคสายแรกก็อาจจะเริ่มขึ้นได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า เมื่อมีรถไฟฟ้าแล่นผ่าน ดินแดนที่เคยแห้งแล้งกันดารในลาวกับเขตป่าเขาในเวียดนามก็จะกลายเป็นอีกอย่างหนึ่ง </FONT></CENTER>
ผู้บริหารคนเดียวกันยังกล่าวอีกว่า GGL มีทั้งเงินทุนและเทคโนโลยี โดยมีพันธมิตรทางยุทธศาสตร์คือ TMK Holdings Sdn Bhd และบริษัทที่ปรึกษาของกลุ่มคือ Digimap Sdn Bhd ทั้งหมดเป็นบริษัทมาเลเซีย

"แรกที่เดียวเราได้ยื่นเสนอขอเส้นทางจากเวียงจันทน์ไปยังบ่อแตน (ด่านชายแดนติดกับจีน) แต่รองนายกรัฐมนตรีลาวบอกว่า ควรเริ่มที่สะหวันนะเขตไปลาวบ๋าวก่อน" นายฟาซวีกล่าว

ประธานของ GGL กล่าวว่า การลงทุนก่อสร้างขนาดใหญ่ต้องใช้เวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ก่อนจะคุ้มทุน และได้เตรียมการสำหรับการลงทุนในระยะยาว ตลอดจนแผนการระดมทุนในอนาคตด้วย เนื่องจากโดยพื้นฐานของบริษัทมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้

ยังมีอีกหลายคนที่ช่วยกันยืนยันความตั้งใจที่จะทำให้โครงการรถไฟฟ้าไทย-ลาว-เวียดนามให้ประสบความสำเร็จ

นายสตีเวน ต็อค (Steven Tock) ประธานบริหาร TMK Holdings ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ในมาเลเซียว่า บริษัทพร้อมจะจัดหาเทคโนโลยีระบบราง รวมทั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์ทันสมัยสำหรับโครงการ โดยคาดว่าจะมีมูลค่าราว 2,000 ล้านดอลลาร์

ส่วนประธาน AETC ในกรุงปักกิ่งก็ยืนยันว่า ที่นั่นมีประสบการณ์มานานปีในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ไม่ได้มีปัญหาหรือข้อกังวลอะไรสำหรับรถไฟฟ้าสายอีกสายหนึ่งซึ่งคาดว่าจะต้องใช้ทุนราว 3,000 ล้านดอลลาร์ ในการก่อสร้าง

ประธาน AETC กล่าวอีกว่า หุ้นส่วนใหญ่คือ กลุ่มจงตีก่อสร้าง (Zhong-Tie Construction Group Corporation) มีผลงานสร้างทางรถไฟราว 70% ของทั่วทั้งแผ่นดินใหญ่จีน

**มาเลย์-จีน-เวียดนามจ้องคุม EWEC**

เมื่อมองใกล้เข้ามาอีกก้าวหนึ่ง ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ นักลงทุนจากมาเลเซียกลุ่มแล้วกลุ่มเล่าได้คืบคลานเข้าสู่ลาวเพื่อหาหนทางในการทำมาหากินใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการขนส่งและบริการ

ในเดือน ก.ย.2548 ลาวเซ็นสัญญาร่วมทุนกับกลุ่มทุนมาเลเซีย เพื่อก่อสร้างและดำเนินการเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวันเซโน ในสะหวันนะเขต ซึ่งถือเป็น "เรือธง" การพัฒนาเศรษฐกิจริมทางหลวงเลข 9 โดยฝ่ายมาเลเซียถือหุ้น 70% และลาวถือครองส่วนที่เหลือ

จากนั้นเพียงไม่กี่ปีเขตเศรษฐกิจพิเศษบนถนน EWEC เป็นรูปเป็นร่าง นักลงทุนเริ่มเข้าจับจองพื้นที่ ซึ่งหมายถึงการได้ "สิทธิในการปฏิเสธ" ก่อนผู้อื่นด้วย

ในกลางปี 2550 บริษัท Thai Airport Ground Services Co Ltd หรือ TAGS จากประเทศไทยได้กลายเป็นรายแรกๆ เข้าปักหลักในพื้นที่ 1,680 ไร่เศษ ใกล้กับสะพานข้ามแม่น้ำโขง เพื่อเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนและบริการขนาดใหญ่ในระดับอนุภูมิภาค

ตามรายงานของสื่อทางการลาว TAGS ลงทุนไปราว 48 ล้านดอลลาร์เพื่อการนี้

ในช่วงเดียวกัน ลาวได้อนุญาตให้บริษัทลอจิสติกส์ซิสเต็มกรู๊ป (Logistics System Group) จากญี่ปุ่น ร่วมกับบริษัทเอกชนลาว 2 แห่ง จัดตั้งบริษัทขนส่งระหว่างประเทศขึ้นควบคุมศูนย์การขนถ่ายสินค้าในเขตลาวโดยฝ่ายญี่ปุ่นถือหุ้นใหญ่ 55%

ไกลออกไปจากบริเวณนั้น บริษัทมาเลเซียแห่งหนึ่งกำลังจะเริ่มก่อสร้างเขื่อนดอนสะฮอง ในแขวงจำปาสัก ซึ่งกำลังจะกลายเป็นเขื่อนกั้นลำน้ำโขงแห่งแรก ด้วยเงินลงทุนนับร้อยล้านดอลลาร์
<CENTER><FONT color=#FF0000> มองไปยังอนาคตที่ไม่ใกล้และไม่ไกลจนเกินไป เริ่มด้วยเส้นทางสีแดงพาดกึ่งกลางอนุภูมิภาค การขนส่งระบบรางในอินโดจีนจะเชื่อมเข้าหากันได้หมด โดยการสนับสนุนของธนาคารพัฒนาเอเชีย ทั้งภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียนและอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง (GMS) </FONT></CENTER>
บริษัทจากมาเลเซียอีกหลายแห่งกำลังสำรวจโครงการเขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่กั้นลำน้ำสาขาอื่นๆ ในลาวเพื่อผลิตไฟฟ้าส่งออก อีกจำนวนหนึ่งกำลังสำรวจโครงการเหมืองแร่ในประเทศนี้

ไม่เพียงแต่ทุนมาเลเซียเท่านั้นที่ให้ความสนใจการพัฒนาการขนส่งระบบรางในลาว กลุ่มทุนจากจีนและเวียดนามก็กำลังตามติด

รัฐบาลเวียดนามกำลังช่วยลาวสำรวจศึกษาทางรถไฟช่วงเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน เพื่อไปเชื่อมต่อกับทางรถไฟเวียดนามที่ด่านมุยา (Mu Gia) จ.ห่าตี๋ง (Ha Tinh) ระยะทางกว่า 100 กม.

รัฐบาลจีนก็กำลังช่วยลาวสำรวจทางรถไฟสายยาวเวียงจันทน์-บ่อแตน ซึ่งจะเป็นระบบรางกว้างเพื่อเชื่อมกับรถไฟจีน ไปจนถึงนครคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน

อีกไม่กี่ปีข้างหน้าลาวกำลังจะเป็นไประเทศที่ร่ำรวยด้วยพลังงานไฟฟ้า เมื่อการก่อสร้างเขื่อนใหญ่น้อยนับสิบแห่งแล้วเสร็จลง โดยเริ่มจากเขื่อนน้ำเทิน 2 ที่จะเริ่มปั่นไฟเข้าสู่ระบบในปลายปีนี้

เหมืองแร่ทองคำ-ทองแดงสองแห่งแรกได้เริ่มการผลิตและส่งออก ไม่กี่ปีข้างหน้ากำลังจะมีเหมืองแร่แบบเดียวกันนี้อีก 2-3 แห่ง

ในปัจจุบันลาวส่งออกแร่ไปยังจีนและไทยเป็นหลัก ซึ่งต้องใช้รถบรรทุกขนสินแร่รวมทั้งแผ่นทองแดงที่ผลิตได้ไปยังท่าเรือแหลมฉบังกับอีกสายหนึ่งตัดเข้าเวียดนามไปออกท่าเรือหวุงอาง (Vung Ang) มุ่งสู่จีนแผ่นดินใหญ่

ปัจจุบันภาคใต้ของลาวได้กลายเป็นเขตอุตสาหกรรมเหมืองแร่ใหญ่โตในอนุภูมิภาค

จากเหมืองทองแดง-ทองคำในสะหวันนะเขต ปัจจุบันทุนจากจีน เวียดนาม และไทยหรือไกลออกไปจนถึงอังกฤษ กำลังสำรวจแร่ทองแดง เหล็ก ถ่านหินและบอกไซต์ (Bauxite) ขณะที่บริษัทจากอังกฤษกำลังเร่งสำรวจขุดเจาะก๊าซและน้ำมัน ด้วยความหวัง

ทางรถไฟของลาวอีกสายหนึ่งได้มุ่งลงไปยังชายแดน เพื่อเชื่อมเข้ากับกัมพูชาในอนาคต ที่นั่นกำลังจะกลายเป็นเขตอุตสาหกรรมเหมืองแร่หลากชนิด

ทั้งหมดนี้จะเชื่อมต่อเข้ากับเขตอุตสาหกรรมต่างๆ ในภาคกลางเวียดนามตั้งแต่ จ.กว๋างจิ เถือะเทียนเหว (Thua Thien Hue) นครเหว (Hue) ลงไปจนถึงนครด่าหนัง (Danang) ซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่ในภาคกลางของประเทศ การขนส่งระบบรางจะให้คำตอบได้ดีที่สุด

ใต้ลงไปอีกไม่ไกลใน จ.กว๋างหงาย (Quang Nghai) โรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของเวียดนามกำลังจะเปิดเดินเครื่องในเดือน ก.พ.ศกนี้

**เส้นทางท่องเที่ยวใหม่ข้ามภูมิภาค**

ถึงแม้ว่าการขนส่งสินค้าจะเป็นเป้าหมายแรกของการขนส่งระบบรางในลาว แต่สิ่งหนึ่งที่กำลังจะติดตามพร้อมๆ กันก็คือ “การขนคน” ที่สะดวกรวดเร็ว

เอดีบีมองว่าในอนาคตอันไม่ไกลระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกจะกลายเป็นเขตท่องเที่ยวขนาดใหญ่ของประชากรหลายร้อยล้านคน จากเอเชียตะวันออก ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ดินแดนฮ่องกง มาเก๊าและไต้หวัน กับฝั่งตะวันตกมหาสมุทรแปซิฟิกไปจนถึงชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย

เมื่อถึงวันนั้น จีน เวียดนาม ลาวและไทย จะะถูกเชื่อมต่อเข้าเป็นผืนเดียวกันด้วยระบบขนส่งมวลชนที่สะดวก ปลอดภัยและทันสมัย

ใกล้เข้ามาที่สุดก็คือ นับตั้งไทยมีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่สอง ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวนับแสนใช้สะพานแห่งนี้ไปมาหาสู่กัน ในขณะที่สิ่งปลูกสร้างด้านการท่องเที่ยว โรงแรมและร้านอาหารต่างๆ ได้ผุดขึ้นมาแห่งแล้วแห่งเล่าในสองฝั่ง

ปลายปีที่แล้วกลุ่มทุนจากมาเก๊าได้เปิดให้บริการโรงแรมและกาสิโนสะหวันเวกัส (Savanh Vegas) ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปีข้างหน้าก็จะกลายเป็นโรงแรมหรูระดับ 5 ดาว เพียบพร้อมด้วยบริการระดับเดียวกันที่ถอดแบบจากมาเก๊ากับลาสเวกัส

ผลการศึกษาก่อนหน้านี้ว่า เมื่อการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตามถนน EWEC แล้วเสร็จสมบูรณ์ ทุกประเทศในอนุภูมิภาคจะได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ตั้งแต่จีน ไปจนถึงพม่า.
กำลังโหลดความคิดเห็น