xs
xsm
sm
md
lg

ทุนมาเลเซีย MOU ศึกษารถไฟสะหวันนะเขต-เวียดนาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#660099> แผนที่เก่าๆ ของ ผู้จัดการออนไลน์ แสดงแนวทางหลวงเลข 9 พาดผ่านแขวงสะหวันนะเขตของลาวเข้าสู่เวียดนามที่ด่านแดนสะหวัน-ลาวบ๋าว สัปดาห์นี้นักลงทุนจากมาเลเซียได้เซ็นบันทึกฯ กับทางการลาว เริ่มสำรวจเส้นทางรถไฟ ขนานกับทางหลวงสายยุทธศาสตร์นี้ รวมระยะทางกว่า 200 กม. </FONT></CENTER>

ผู้จัดการรายวัน -- ไจแอนท์กรู๊ป (Giant Group Ltd) กลุ่มทุนใหญ่จากมาเลเซีย ได้เซ็นบันทึกช่วยความจำเพื่อความเข้าใจฉบับหนึ่งกับทางการลาว เพื่อเริ่มสำรวจศึกษาความเป็นได้โครงการก่อสร้างทางรถไฟจากเมืองไกสอน พมวิหาน เมืองเอกของแขวงสะหวันนะเขตไปยังด่านลาวบ๋าว (Lao Bao) ชายแดนเวียดนาม ในโครงการลงทุนที่คาดว่าจะสูงถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นับเป็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญในความพยายามใช้ประโยชน์ด้านโลจิสติกส์จากถนนระเบียงเศรษฐกิจสายตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) และ แผนการพัฒนาทำให้ลาวดินแดนที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เป็นดินแดนแห่งการเชื่อมต่อ

ตามรายงานของสำนักข่าวสารปะเทดลาว (ขปล.) พิธีเซ็นเอกสารจัดขึ้นวันจันทน์ (10 พ.ย.) ในนครเวียงจันทน์ ระหว่างนายเพ็ดสะหมอน วีละพัน รองอธิบดีกรมแผนการและความร่วมมือ กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง กับ นายมูหะหมัด ฟารุดดิน (Muhamad Faruddin) รองผู้อำนวยการของไจแอนท์ กรู๊ป จำกัด นายสีทอง ทองแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงโยธาธิการ ร่วมเป็นสักขีพยานด้วย

โฆษกของบริษัทจากมาเลเซียแห่งนี้ กล่าวว่า ในระหว่างการสำรวจซึ่งอาจจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี จะมีการระดมทุนและหาผู้ร่วมทุนโครงการนี้ และ การก่อสร้างอาจจะใช้เวลาประมาณ 8 ปี

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของทางการลาว เปิดเผยกับ “ผู้จัดการรายวัน” ก่อนหน้านี้ ว่า แต่เดิมสองฝ่ายมีกำหนดจะเซ็นบันทึกช่วยความจำกันตั้งแต่วันพุธที่ 8 ต.ค.และ ถ้าหากผลการศึกษาพบว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ฝ่ายลาวก็อาจจะอนุมัติให้เป็นโครงการสัมปทานแบบเทิร์นคีย์

ทางรถไฟสายสะหวันนะเขต-กว๋างจิ (Quang Tri) นี้ เป็นหนึ่งในเส้นทางในแผนแม่บทระบบรถไฟของลาว ซึ่งมีระยะทางรวมกันกว่า 2,500 กม.เพื่อเชื่อมการคมนาคมขนส่งระบบรางเข้ากับประเทศเพื่อนบ้าน คือ ไทย จีน และ เวียดนาม
<CENTER><FONT color=#660099> ภาพเก็บจาก www.nk1-highway.com มารวมกัน วันนี้มีป้ายหนองคาย-ท่านาแล้ง วันข้างหน้าอาจจะมีป้ายมุดาหาร-ลาวบ๋าวก็เป็นได้ รถไฟสายใหม่นี้อยู่ในแผนแม่บทการขนส่งระบบรางของลาว </FONT></CENTER>
ระบบการขนส่งในลาวกำลังได้รับความสนใจจากทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่มีการเปิดใช้ทางหลวงเลข 9 เชื่อมไทย ลาวกับเวียดนามที่ซ่อมแซมแล้วเสร็จในปี 2547 และเปิดใช้สะพานมิตรภาพมุกดาหาร-สะหวันนะเขต ในปลายปี 2549

ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 10 ก.ย.ในนครเวียงจันทน์ ได้มีการเซ็นบันทึกช่วยความจำอีกฉบับหนึ่งเพื่อสำรวจโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายแรกของลาวรวมระยะทางกว่า 50 กม. ซึ่งบริษัทคู่สัญญาจากญี่ปุ่น ระบุว่า หากพบว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ก็อาจจะเลือกใช้ระบบแม็กเลฟ (Maglev) หรือรถไฟความเร็วสูงที่ใช้สนามแม่เหล็กซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่

เจ้าหน้าที่ทางการลาวผู้หนึ่งบอกกับ “ผู้จัดการรายวัน” ว่า นี่เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น บริษัทต่างชาติจำนวนมากกำลังเจรจากับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อเข้าสำรวจโครงการก่อสร้างถนนทันสมัย ทางรถไฟ ตลอดจนระบบขนส่งและคลังสินค้า ในประเทศที่กำลังกลายเป็น “ดินแดนเชื่อมต่อ” หรือ Land-linked Country

ลาวกำลังเป็นปลายทางใหม่ของทุนต่างชาติจากทุกสารทิศที่มองทะลุเส้นทางยุทธศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจสายตะวันออก-ตะวันตก กับสายเหนือ-ใต้ ในอนุภูมิภาค ซึ่งทำให้คาบสมุทรอินโดจีนเป็นดินแดนเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าทางบกจากทะเลจีนใต้ไปยังมหาสมุทรอินเดีย ตะวันออกกลางและยุโรป ซึ่งปัจจุบันใช้ต้องเดินเรือไปอ้อมช่องแคบมะละกา

โครงการลงทุนในการพัฒนาโลจิสติกส์สอดคล้องอย่างลงตัวกับแผนแม่บทถนนสายเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงหรือ GMS (Greater Mekong Sub-region) ที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชียหรือเอดีบี ทั้งแนวขวางและแนวตั้ง

ทางการลาวได้ออกแผนแม่บทพัฒนาการขนส่งระบบรางเป็นทางรถไฟแนวนอนและแนวตั้ง ซึ่งในนั้นเป็นระบบรถไฟแบบรางกว้าง 1.435 เมตร สำหรับรถไฟความเร็วสูงรวมระยะทางเกือบ 850 กม.

แต่เนื่องจากไม่เคยมีโครงข่ายระบบรถไฟมาก่อน แผนพัฒนาการระบบรางในลาวจะต้องใช้เงินทุนถึง 13,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างขึ้นใหม่ทังหมด

การขนส่งทางบกผ่านทางหลวงเลข 9 กำลังได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นการเปิดศักราชใหม่แห่งการคมนาคมขนส่งทางบกเชื่อสองมหาสมุทร ซึ่งปัจจุบันรอการเปิดใช้ส่วนปลายในพม่าระยะทางเพียง 125 กม.เท่านั้น

กลุ่มทุนจากมาเลเซียที่มองการณ์ไกล ได้เข้าปักหลักที่ริมทางหลวงเลข 9 ก่อนใครๆ โดยได้รับสัมปทานลงทุนก่อสร้างเขตเศรษฐกิจสะหวัน-เซโน ในสะหวันนะเขตซึ่งจะเป็นเขตการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก และบริการ

ตามรายงานของสำนักข่าวทางการลาว ทางรถไฟที่กลุ่มไจแอนท์กรู๊ป กำลังจะสำรวจนี้จะตัดผ่านเขตเศรษฐกิจดังกล่าวด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น