ASTVผู้จัดการรายวัน -- ทางการพม่าได้เปิดพิพิธภัณฑ์อัญมณีในเมืองหลวงใหม่เนย์ปีดอ (Naypyidaw) เมื่อสัปดาห์ที่แล้วให้สาธารณชนทั่วไปเข้าชม โดยภายในมีการวางแสดงผลิตภัณฑ์อัญมณีล้ำค่ามากมาย รวมทั้งพลอยแดงก้อนโตขนาด 21,450 กะรัต ซึ่งเป็นชิ้นใหญ่ที่สุดในโลก กับมุกธรรมชาติอีกเม็ดหนึ่งที่สื่อทางการกล่าวว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเช่นเดียวกัน
หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ซึ่งเป็นของรัฐบาล รายงานเรื่องนี้ในวันศุกร์ (13 ม.ค.) ที่ผ่านมา ทางการกำลังเปิดให้คนทั่วไปสามารถเข้าชมได้เป็นเวลา 1 สัปดาห์ จนถึงวันพุธ (18 ก.พ.) นี้
หอพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวเป็นอาคารสูง 3 ชั้นบนเนื้อที่ 12.5 เอเคอร์ (ว่า 31 ไร่) ใหญ่โตกว่าพิพิธภัณฑ์อัญมณีแห่งแรกในกรุงย่างกุ้ง นิวไลท์ออฟเทียนมาร์รายงานในบนเว็บไซต์ ที่ไม่สามารถเปิดเข้าอ่านได้ตลอดสัปดาห์ที่แล้ว
ภายในหอพิพิธภัณฑ์มีการวางแสดงอัญมณีหลากหลายชนิดอันเป็นสินค้าออกสำคัญของประเทศที่ทำรายได้เป็นอันดับสามมาตลอดหลายปีมานี้ รวมทั้งไข่มุกธรรมชาติเม็ดโต 845 กะรัต ขนาด 6.2x3 เซนติเมตร กับหยกน้ำหนัก 69 กิโลกรัมอีกชิ้นหนึ่ง
สื่อของทางการไม่ได้นำภาพทับทิมยักษ์สุดประมาณค่ากับมุกเม็ดโตที่สุดในโลกออกเผยแพร่
หอวางแสดงยังประกอบด้วยหินล้ำค่าอีกหลายชนิดที่ผลิตได้ในพม่า รวมทั้งเครื่องประดับสุดหรูประดับทับทิมและพลอยหลากสี สื่อของทางการกล่าว
นอกจากผลิตภัณฑ์ที่เจียระไนแล้ว หอพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่นี้ ยังวางแสดงหินล้ำค่ากับหยกจากเมืองโมกก (Mogok) แหล่งผลิตใหญ่ที่สุด คุณภาพดีที่สุดในประเทศ
หอแสดงในกรุงย่างกุ้งอยู่ใกล้ศูนย์จำหน่ายอัญมณีที่มีการเปิดการประมูลลอตใหญ่และเปิดซื้อขายกันปีละหลายครั้ง และตั้งอยู่ติดกับศูนย์แสดงนิทรรศการที่พลุกพล่านอีกด้วย
นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ กล่าวว่า ทางการเริ่มเปิดงานแสดงอัญมณีประจำทุกปีมาตั้งแต่ปี 2507 และ เริ่มเปิดงานแสดงช่วงกลางปีมาตั้งแต่ปี 2535 ในที่สุดก็จัดแสดงปีละ 3 ครั้งตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา โดยผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นผู้ค้าจากจีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง และจากประเทศไทย
นอกจากโมกกแล้วในพม่ายังมีแหล่งอัญมณีอื่นๆ อีก 5 แห่งด้วยกัน ทั้งหมดอยู่ในภาคเหนือ
ปัจจุบันพม่าเป็นแหล่งผลิตอัญมณีใหญ่ที่สุดของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งผลิตพลอยแดงที่คุณภาพดีที่สุด รวมทั้ง “เพชรตาแมว” ที่หายาก หยก มรกต บุษราคัม เพทาย และไพฑูรย์ ตลอดจนมุกเลี้ยงและมุกจากแหล่งธรรมชาติ
ทะเลอันดามันได้ชื่อเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงไข่มุกดำใหญ่คุณภาพดีที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากญี่ปุ่น
รัฐบาลทหารพม่าที่ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2505 ได้เร่งส่งเสริมการลงทุนในแขนงผลิตอัญมณีเพื่อนำหินล้ำค่าขึ้นมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศตกอยู่ใต้การคว่ำบาตรของโลกตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรปในช่วงหลายปีมานี้
ปีที่แล้วรัฐบัญญัติของสหรัฐฯ ฉบับหนึ่งที่ห้ามนำเข้าอัญมณี ตลอดจนเครื่องสินค้าประดับที่ผลิตจากอัญมณีอันมีต้นทางจากพม่า โดยผ่านประเทศที่สาม ได้เริ่มมีผลบังคับใช้อันเป็นมาตรการเพิ่มเติมจากที่เคยห้ามนำเข้าประเภทนี้ตรงจากพม่า
แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้ค้าทั้งจากเอเชียและประเทศตะวันตกไปร่วมประมูลซื้อขายหยกกับหินอัญมณีในกรุงย่างกุ้งทุกครั้ง
ยังไม่มีตัวเลขที่เป็นปัจจุบัน แต่หนังสือพิมพ์ของทางการอ้างตัวเลของค์การสถิติแห่งชาติระบุว่า รายได้จากการจำหน่ายและส่งออกสินค้าอัญมณีมีมูลค่าทั้งสิ้น 647.53 ล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2550-2551 (เม.ย.-มี.ค.) จากมูลค่าส่งออกทั้งหมดของประเทศ 6,043 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกัน
ระหว่างเดือน เม.ย.2550 ถึงเดือน มี.ค.2551 พม่าผลิตหินหยกได้รวมน้ำหนัก 20,235 ตัน กับอัญมณีอื่นๆ รวมกัน 22,668 กะรัต ซึ่งรวมทั้งทับทิม กับไข่มุกต่างๆ รวม 846 กก.
ตามรายงานของสื่อทางการ รัฐบาลทหารได้เปิดการประมูลซื้อขายอัญมณีครั้งล่าสุดในเดือน มิ.ย.2551 หรือเดือนเศษๆ หลังพายุนาร์กิสจากอ่าวเบงกอลพัดเข้าถล่มเขตอู่ข้ามปากแม่น้ำอิรวดีจนถึงกรุงเก่าย่างกุ้ง
ในเดือน มี.ค.ปีเดียวกัน พม่าได้เปิดประมูลอัญมณีทั้งสิ้นกว่า 7,700 ชิ้น สร้างรายได้ให้แก่ประเทศคิดเป็นจำนวนเงินกว่า 153 ล้านดอลลาร์
สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ได้ขยายเวลาในการลงโทษคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจพม่าติดต่อกันมาหลายปี ขณะที่องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนต่างๆ ได้กระตุ้นให้บรรดาผู้ซื้ออัญมณีหยุดซื้อและต่อต้านการเปิดประมูลขายของพม่าด้วย
ในต้นเดือน พ.ค.ซึ่งไซโคลนนาร์กิสพัดถล่มพม่านั้น อดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐฯ ได้ออกมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่โดยมุ่งเล่นงานกลุ่มรัฐวิสาหกิจค้าอัญมณีกับไม้ ซึ่งสหรัฐฯ กล่าวว่าเป็นฐานการเงินให้แก่กลุ่มปกครองทหาร
ปธน.บุช ได้อนุมัติให้กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ อายัดทรัพย์สินของบริษัทสัญชาติพม่าซึ่งเป็นฐานทางการเงินที่สำคัญให้แก่รัฐบาลทหารของประเทศ
มาตรการดังกล่าวยังพุ่งเป้าไปที่รัฐวิสาหกิจที่สร้างความมั่งคั่งให้แก่บรรดานายพลโดยเจาะจงไปที่ 3 แห่งคือ รัฐวิสาหกิจอัญมณี รัฐวิสาหกิจไข่มุก และ รัฐวิสาหกิจไม้ซุง