xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นเล็งย้ายเข้าพม่าตัดเสื้อผ้าส่งออกผ่านไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#ff0066>ภาพจากเมียนมาร์ไทมส์ โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าต้องปิดลงนับร้อยๆ ตั้งแต่สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ วันนี้นักลงทุนญี่ปุ่นกำลังมุ่งหน้าไปที่นั่นเพื่อผลิตและส่งกลับผ่านไทยไปจำหน่ายในประเทศ </FONT></CENTER>
>
ผู้จัดการรายวัน-- บริษัทตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกจากจีนจำนวนไม่น้อยกำลังมองหาช่องทางย้ายโรงงานจากจีนเข้าพม่า หลังจากค่าแรงในประเทศจีนสูงขึ้นเป็นลำดับ และยังมองหาความเป็นได้ที่จะส่งสินค้าผ่านประเทศไทยเพื่อลดต้นทุน

ปีที่แล้วการส่งออกสินค้าตัดเย็บ หรือ CMP (Cut, manufacture and produce) ซึ่งได้แก่เสื้อผ้าสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์รองเท้า จากพม่าไปญี่ปุ่นขยายตัว 38% คิดเป็นประมาณ 49% ของมูลค่าส่งออกจากพม่าไปญี่ปุ่นทั้งหมด

มูลค่าการค้าสองทางเพิ่มขึ้นเป็น 144.7 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว จาก 111 ล้านในปี 2549

นายเออิทาโร่ โคจิม่า (Eitaro Kojima) ผู้อำนวยการจัดการองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร (Japan External Trade Organization) ในกรุงย่างกุ้งกล่าวเรื่องนี้กับนิตยสารข่าวเมียนมาร์ไทมส์ฉบับวางจำหน่ายในสัปดาห์นี้

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่สมาคมเสื้อผ้าส่งออกพม่า (Myanmar Garment Manufacturers’ Association) กล่าวว่า ปัจจุบันเป้าส่งออกอยู่ที่ยุโรป ละตินอเมริกาและญี่ปุ่นเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดยุโรปมีความยุ่งยากเป็นลำดับ

พม่าตกอยู่ใต้การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่นำโดยสหรัฐฯ และ สหภาพยุโรป ซึ่งได้ห้ามการนำเข้าสินค้าทุกชนิดจากประเทศนี้ โดยกล่าวหาว่าระบอบทหารที่ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2505 ยังปราบปรามประชาชน ละเมิดสิทธิมนุษยชนและยังไม่ยอมปฏิรูปไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

ผู้อำนวยการเจโทรกล่าวว่าอุปสรรคสำคัญคือ จะต้องส่งสินค้าไปยังท่าเรือในมาเลเซียหรือสิงคโปร์ก่อนจะส่งต่ออีกทอด เนื่องจากยังไม่มีบริการเรือสินค้าตรงไปจากพม่าทำให้ต้องใช้เวลาขนส่งถึง 20 วัน

อย่างไรก็ตามนายโคจิม่ากล่าวว่าทางเลือกที่สำคัญในขณะนี้ก็คือ การส่งผ่านประเทศไทย

"ถ้าเราขนส่งโดยทางบกผ่านเมียววดีเข้ากรุงเทพฯ และลงเรือจากที่นั่น ก็จะสามารถร่นระยะเวลาขนส่งจากกรุงย่างกุ้งไปยังญี่ปุ่นลงเหลือเพียงสิบวัน" ผู้อำนวยการของเจโทรกล่าว

เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวอีกว่า ถ้าสามารถแก้ไขปัญหาการขนส่งได้จะมีนักลงทุนจากญี่ปุ่นเข้าไปตั้งโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในพม่าจำนวนมาก เนื่องจากกำลังหาทางย้ายฐานการผลิตจากจีนที่ค่าแรงนับวันสูงยิ่งๆ ขึ้น

ปัจจุบันมีโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในพม่าประมาณ 130 แห่ง ในนั้นมีไม่ถึง 10% ที่เป็นของนักลงจากญี่ปุ่น ประเทศนี้ยังเป็นตลาดนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปใหญ่อันดับสามของโลก รองจากสหรัฐฯ กับเยอรมนี มูลค่านำเข้าปีที่แล้วพุ่งขึ้นเป็น 23,000 ล้านดอลลาร์ นายโคจิม่ากล่าว

"พวกเรา (ญี่ปุ่น) ส่วนใหญ่นำเข้าเสื้อผ้าจากจีน อิตาลี เวียดนาม เกาหลีใต้และไทย ปัจจุบันพม่าอยู่ในอันดับที่สิบผู้ส่งออกเสื้อผ้าไปญี่ปุ่น"

นายโคจิม่ายังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันนักลงทุนอุตสาหกรรมเสื้อผ้าส่งออกญี่ปุ่นที่ประกอบการอยู่ในประเทศจีนกำลังพิจารณาย้ายสู่กัมพูชา พม่า ลาวและบังกลาเทศ เพื่อหนีต้นทุนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ในจีน

"ในอนาคตอันใกล้นี้ อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าฯ จะเป็นภาคธุรกิจที่มีความสำคัญมากในพม่า โดยมีศักยภาพอย่างสูงสำหรับนักลงทุนญี่ปุ่นซึ่งในขณะนี้ได้เริ่มเคลื่อนเข้าพม่าแล้ว" นายโคจิม่ากล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น