ประเทศไทยเป็นประเทศที่พร้อมไปด้วยทรัพยากร ดังนั้น ไม่ว่าจะเดินทางไปยังภูมิภาคไหน ชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ มักจะมีอาชีพที่เป็นลักษณะของท้องถิ่น แต่หลายๆ ครั้งการรวมกลุ่มกันเพื่อประกอบอาชีพของคนในชุมชนก็มักจะไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความไม่ชำนาญในเรื่องธุรกิจ หรืออาจจะขาดทักษะฝีมือในอาชีพนั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้สถาบันการศึกษาในพื้นที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้
“โครงการพัฒนาอาชีพแบบบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน” ที่อาชีวศึกษาจังหวัด (อศจ.) ภูเก็ต ดำเนินการขึ้นมานั้น ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สถาบันการศึกษาเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือในการประกอบอาชีพของคนในชุมชนอย่างแท้จริง
สำหรับ อศจ.ภูเก็ต ประกอบด้วยสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต วิทยาลัยเทคนิคถลาง วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต วิทยาลัยสารพัดช่างภูเก็ต ซึ่งได้เข้าไปดำเนินงานร่วมกับประชาชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่จนเกิดเป็นผลสำเร็จที่สัมผัสได้
“มนัส ชิณการณ์” อาจารย์วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต เปิดเผยว่า อศจ.ภูเก็ต ได้เริ่มดำเนินโครงการพัฒนาอาชีพฯ มาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน โดยเริ่มจากการคัดเลือกบุคลากรของ อศจ.ภูเก็ตมาอบรมแกนนำ จากนั้นให้แกนนำเข้าไปค้นหากลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งชาวบ้านมีการรวมกลุ่มกันประกอบอาชีพอยู่แล้ว นำความรู้ที่ทางสถาบันการศึกษามีไปถ่ายทอดให้แก่ชาวบ้าน เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
“ถึงขณะนี้เรามีกลุ่มอาชีพที่ร่วมอยู่ในโครงการนี้ 6 กลุ่มด้วยกัน ประกอบด้วย กลุ่มเครื่องแกงตำมือ กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า กลุ่มใบบังแดดผลิตเครื่องหนังทำมือ กลุ่มอาหารและขนมไทย กลุ่มผ้าบาติก และกลุ่มการเลี้ยงหอยแมลงภู่ ซึ่งในแต่ละเดือนทุกกลุ่มจะมาพบกันเดือนละ 1 ครั้ง ที่วิทยาลัยสารพัดช่างภูเก็ต ถึงขณะนี้ทุกกลุ่มมีการหารือในการพัฒนาอาชีพร่วมกัน และมีรายได้ที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งหากเป็นไปได้เป้าหมายในอนาคต อศจ.ภูเก็ตอยากจะขยายโครงการให้ครอบคลุมกลุ่มอาชีพทุกกลุ่มในจังหวัดด้วย” อ.มนัส กล่าว
“ปราณี หย่าหลง”ประธานกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า เล่าย้อนก่อนที่แต่ละกลุ่มจะมารวมตัวกันว่า ในอดีตนั้นชาวบ้านจะรวมกลุ่มกันทำอาชีพอยู่ในพื้นที่กระจัดกระจาย จน อศจ.ภูเก็ตเข้าไปค้นหาเป้าหมาย และพาคณะไปดูงานเพื่อนำกลับมาพัฒนาอาชีพในพื้นที่ กลุ่มอาชีพต่างๆ จึงได้มารวมตัวกัน โดยมีครูอาจารย์จาก อศจ.ภูเก็ต เข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยง จัดอบรม และถ่ายทอดทักษะต่างๆ ที่เกี่ยวกับอาชีพให้
“นอกจากนั้น กลุ่มอาชีพทั้ง 6 กลุ่มยังได้ตั้งกองทุนสัจจะออมทรัพย์ขึ้นมาด้วย เพื่อให้สมาชิกทุกกลุ่มได้มีโอกาสพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันเดือนละ 1 ครั้ง โดยสมาชิกแต่ละคนจะจ่ายเงินเข้ากองทุนคนละ 1 บาทต่อวัน หรือเดือนละ 30 บาท ซึ่งแนวคิดการตั้งกองทุนนี้เกิดขึ้นหลังจากได้ไปดูงานร่วมกัน แล้วเห็นว่าวิธีการนี้นอกจากจะช่วยออมเงินทุนแล้ว ยังทำให้พวกเราได้มาพบปะกัน ช่วยเหลือกันอีกด้วย”
ปราณี บอกอีกว่า สำหรับเงินกองทุนฯ ที่ออมไว้นั้น สมาชิกกองทุนฯ ได้ตกลงร่วมกันว่า เมื่อเงินกองทุนเพิ่มพูนจนถึง 3 แสนบาท สมาชิกจะสามารถมาขอกู้ยืมผ่านทางกองทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำได้ แต่ขณะนี้เงินกองทุนฯ ที่สะสมไว้นั้นมีอยู่ประมาณ 1 แสนบาทจึงไม่มีการปล่อยกู้ให้สมาชิก อย่างไรก็ตาม ทางกองทุนฯ ได้กำหนดกติกาไว้ว่า หากสมาชิกคนใดขาดนำส่งเงินเข้ากองทุนเกิน 3 เดือนจะถูกตัดออกจากการเป็นสมาชิก
“ที่ผ่านมา เรายังไม่เคยตัดใครออกจากสมาชิกเลย เพราะทุกคนเป็นเพื่อนกัน บางครั้งติดธุระสำคัญไม่สามารถนำเงินมาส่งได้ เราก็จะโหวตในที่ประชุมว่าจะให้ต่ออายุสมาชิกหรือไม่ ทุกคนก็จะยอมให้ต่ออายุ และเราคงไม่ตัดเพื่อนออกจากกองทุนฯ เพียงเพราะเขาติดธุระสำคัญ ที่เราตั้งกองทุนฯ ก็ไม่ได้หวังว่ากองทุนจะเติบโต แต่เป็นเพียงสิ่งที่จะทำให้เรามีกิจกรรมร่วมกัน และได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันเท่านั้น”
ไม่เพียงแต่ผลที่เกิดจากการพัฒนาอาชีพเท่านั้นที่สัมผัสได้ ปราณี กล่าวถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นอีกว่า การที่ อศจ.ภูเก็ต ดำเนินโครงการพัฒนาอาชีพฯ ขึ้นมานั้น ทำให้ชาวบ้านมีความใกล้ชิดกับสถานศึกษามากขึ้น จากที่แต่ก่อนมีความรู้สึก ไม่กล้าเข้ามาในสถานศึกษา ไม่กล้าพูดคุยกับครูอาจารย์ในวิทยาลัย แต่หลังจากที่มีครู อาจารย์จาก อศจ.ภูเก็ต เข้าไปให้คำแนะนำ จัดฝึกอบรมต่างๆ ชาวบ้านกับครูก็มีความคุ้นเคยกัน สถานศึกษาก็กลายเป็นสถานที่ที่สามารถเข้ามาขอคำแนะนำ หรือประสานงานต่างๆ ได้ ทำให้สถานศึกษาเป็นของชุมชนอย่างแท้จริง
“จุรี ราชพล” หรือป้าแต๋ว ประธานกลุ่มเครื่องแกงตำมือ ซึ่งแม้ว่าจะมีอายุถึง 60 ปีแล้ว แต่ป้าแต๋วยังแข็งแรงหยิบจับทุกอย่างคล่องแคล่ว เล่าให้ฟังว่า การรวมกลุ่มเครื่องแกงตำมือของชาวบ้าน หมู่ 2 ต.ครอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เริ่มจากการเดินทางไปดูงานในต่างจังหวัดแล้วเห็นงานของกลุ่มอื่นที่มีการรวมตัวกันผลิตพริกแกงขาย จึงคิดว่าหากนำกลับมาทำขายที่ภูเก็ตบ้างน่าจะประสบความสำเร็จ เพราะปัจจุบันคนเลิกตำพริกแกงกินเอง แต่ซื้อจากตลาดแทนแล้ว
“ป้าเริ่มรวมกลุ่มแม่บ้านตั้งแต่ปี 2545 หลังจากดูงานกลับมา ก็เก็บเงินจากแม่บ้านคนละ 100 บาท จำนวน 10 คน ได้เงินทุนมา 1,000 บาท นำไปซื้อวัตถุดิบเพื่อนำมาตำเครื่องแกง ครั้งแรกนั้นกลุ่มเราก็ตำเครื่องแกงแบบพื้นเมืองใส่ขมิ้นลงไปด้วย แล้วก็เอาไปขาย คนซื้อไปก็บ่นกันว่า กินพริกแกงเราหม้อ จาน ชาม เหลืองไปหมด และมีคำติชมมาตลอดว่ายังไม่อร่อย แรกๆ ก็ยังขายไม่ดีนัก มีการปรับปรุงแก้ไขส่วนผสมมาเรื่อยกว่าจะลงตัว เพื่อให้ได้กลิ่นหอม และรสชาติอร่อย เป็นสูตรของกลุ่มเราโดยเฉพาะ”
ปัจจุบัน ป้าแต๋ว บอกว่า กลุ่มจะผลิตเครื่องแกง 3 ชนิด ประกอบด้วย พริกแกงเผ็ด พริกแกงส้ม และพริกแกงไตปลา โดยพริกแกงของป้านั้นสามารถเก็บไว้ได้ถึง 30 วันโดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น และรับประกันว่าไม่ใส่สารกันบูด ที่เป็นเช่นนั้นเป็นเพราะพริกแกงตำมือจะไม่ใส่น้ำเป็นส่วนผสมเหมือนพริกแกงที่ใช้เครื่องปั่นซึ่งจะทำให้เสียง่าย นอกจากนี้ป้ายังใช้วัตถุที่สดใหม่ ที่สำคัญส่วนผสมใดที่มีอยู่ในชุมชนก็จะใช้ของชุมชน เช่น ขมิ้น พริกไทย เป็นต้น ปัจจุบันป้าแต๋วผลิตพริกแกงทั้ง 3 ชนิด ชนิดละ 18 กิโลกรัม โดยมีลูกค้ามาซื้อถึงที่ และในอดีตกลุ่มฯ เคยตำพริกแกงส่งขายที่ประเทศญี่ปุ่นเดือนละ 50 กิโลกรัม แต่คนที่ประสานงานให้ย้ายภูมิลำเนาทำให้รายได้ส่วนนี้ขาดหายไป
“แรกๆ พริกแกงเราก็ยังไม่เป็นที่รู้จักนัก ขายอยู่เฉพาะในพื้นที่ แต่ทาง อศจ.ภูเก็ต เข้ามา เขาก็มาช่วยทำสื่อให้เรา จัดทำสติ๊กเกอร์ติดถุงพริกแกงให้เรา เพื่อให้รู้ว่าเป็นของกลุ่มฯ และสามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่ไหน จนทำให้เราเป็นที่รู้จักมากขึ้น และจะทาง อศจ.ภูเก็ตจะเข้ามาดูแลอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน ถึงขณะนี้แต่ละเดือนทางกลุ่มสามารถแบ่งรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่มฯ ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่ 6 คน ได้คนละประมาณ 2,000 กว่าบาททุกเดือน ทำให้มีรายได้พอเลี้ยงตัวเอง”
ส่วน “สนั่น สิทธิศักดิ์” ประธาน “กลุ่มใบบังแดด” ซึ่งผลิตเครื่องหนังทำมือ บอกกับเราว่า เขามีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ ประมาณ 8,000 บาท จากการจำหน่ายเครื่องหนังทำมือให้แก่นักท่องเที่ยว นอกจากนี้สนั่นยังสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนโดยการจ้างผลิตชิ้นงาน และสอนการทำเครื่องหนังให้คนที่สนใจด้วย
“เดิมทีผมผลิตเครื่องหนัง เช่น เข็มขัด รองเท้า กระเป๋า ขายให้กับนักท่องเที่ยว แต่ผมอยากสอนให้เด็กรุ่นหลังทำเป็นด้วย ไม่อยากให้วิชาความรู้ และประสบการณ์ที่เรามีตายไปพร้อมกับตัวเอง เลยรับสอนการทำเครื่องหนังให้กับทุกคนที่สนใจ โดย อศจ.ภูเก็ต เข้ามาสนับสนุนเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เช่น เครื่องตัดหนังที่จะให้ได้รูปทรงที่ต้องการง่ายขึ้น เขาจะมาช่วยพัฒนาเครื่องมือเหล่านี้ให้เรา และหากเด็กในวิทยาลัยอยากเรียนการทำเครื่องหนังผมก็สอนให้ ทุกคนที่มาเรียนกับผมไม่ต้องเสียค่าเรียนทั้งสิ้น”
นอกจากนี้ สนั่น ยังไปเป็นวิทยากรสอนอาชีพให้กับสถานพินิจฯ เพื่อฝึกอาชีพให้แก่เด็กและเยาวชนที่ถูกลงโทษอยู่ด้วย ซึ่งการร่วมมือกันของสถานศึกษากับผู้ที่มีความรู้ด้านอาชีพในชุมชนจะช่วยสนับสนุนให้คนในพื้นที่มีความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้ ขณะเดียวกัน ก็จะทำให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ด้วย
เชื่อว่า หากสถานศึกษาที่มีองค์ความรู้เข้าไปช่วยเหลือกลุ่มอาชีพชุมชนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อพัฒนาอาชีพของชาวบ้านให้เข้มแข็งขึ้น อนาคตปัญหาความยากจนคงถูกขจัดไปอย่างยั่งยืนแน่นอน