ซินหัว -- นายเคิร์ต แคมป์เบล (Kurt Campbell) ผู้ชวยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก มีกำหนดเดินทางเยือนพม่าระหว่างวันที่ 3-4 พ.ย.ศกนี้ ทั้งนี้ เป็นคำแถลงที่ออกโดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันศุกร์
คณะของ นายแคมป์เบล กับผู้ช่วยคนหนึ่งคือ นายสก็อต เมอร์ซีล (Scott Merciel) กำลังจะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ไปเยือนพม่า นับตั้งแต่ฝายทหารยึดอำนาจและปกครองประเทศติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2505
สหรัฐฯ เป็นผู้นำหน้าในการใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัฐบาลทหาร เพื่อกดดันให้ปฏิรูปประชาธิปไตยในประเทศ และปรับปรุงด้านสิทธิมนุษยชน รัฐบาลประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้ประกาศจะหารือกับฝ่ายพม่าให้มากยิ่งขึ้น แต่จะยังไม่เลิกมาตรการคว่ำบาตร ที่สหภาพยุโรปเอง ก็ใช้กับพม่ามาหลายปีเช่นเดียวกัน
“พวกเขาคาดว่าจะได้พบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาล และพบสมาชิกของพรรคฝ่ายค้าน รวมทั้งนางอองซานซูจีและตัวแทนของชนกลุ่มน้อยต่างๆ ด้วย” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าว
วันที่ 29 ก.ย.ระหว่างการประชุมใหญ่สามัญประจำปีขององค์การสหประชาชาติ สหรัฐฯ อนุญาตให้ พล.จ.เนียนวิน รัฐมนตรีต่างประเทศพม่า เดินทางไปเยี่ยมสถานทูตในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ได้เป็นครั้งแรก และ พล.อ.เต็งเส่ง ก็ได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีจากพม่าคนแรกที่ไปร่วมการประชุมใหญ่ของยูเอ็นในหลายปีมานี้
สหรัฐฯได้ลดความสัมพันธ์กับระบอบทหารพม่าลงเป็นระดับอุปทูต หลังจากฝ่ายทหารปราบปรามประชาชน ที่เดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย และทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3,000 คน ในปี 2531 นำมาซึ่งการรัฐประหารยึดอำนาจกันเองอีกครั้งหนึ่งในหมู่ผู้นำกองทัพ
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า การเยือนของนายแคมป์เบล เป็นการ “สานต่อการพบปะสนทนา” กับฝ่ายพม่า
รัฐบาลประธานาธิบดี โอบามา ได้ทบทวนนโยบายต่อพม่าเสียใหม่ เปลี่ยนมาเป็นการพูดจากับพม่าโดยตรง เพื่อ “ปูทางไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น” แต่นักการทูตอาวุโสในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.กล่าวว่า สหรัฐฯ จะยังคงสนับสนุนพม่าที่ “เป็นเอกภาพ มีสันติ เจริญรุ่งเรือง และเป็นประชาธิปไตย” ต่อไป
“ถ้าหากพม่าสามารถช่วยให้เกิดความคืบหน้าอย่างมีความหมายได้ ก็เป็นไปได้ที่จะมีการปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งเราทราบดีว่าเรื่องนี้จะต้องใช้เวลานานและเป็นขบวนการที่ยากลำบากและเราได้เตรียมความพยายามสำหรับเรื่องนี้” นายแคมป์เบลกล่าวก่อนหน้านี้
การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแลฃะารเมืองของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ได้เปิดโอกาสให้ประเทศเพื่อนบ้านของพม่าในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ จีน อินเดีย และ ไทย ตลอดจนเกาหลี สิงคโปร์ และ มาเลเซีย เข้าลงทุนด้านพลังงาน ขณะที่จีนแผ่อิทธิพลด้านอื่นๆ เข้าสู่พม่าโดยตรง
บริษัท เชฟรอน คอร์ป (Chevron Corp) ที่ซื้อผลประโยชน์ในพม่าต่อจากกลุ่มยูโนแคล (Unocal) เมื่อหลายปีก่อน ปัจจุบันเป็นบริษัทจากสหรัฐฯ เพียงแห่งเดียวที่ยังทำธุรกิจในพม่า โดยร่วมหุ้นกับกลุ่มโตตาลเอสเอ (Total SA) บริษัทน้ำมันใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส กับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากประเทศไทย ในหลุมก๊าซยาดานา (Yadana) ในอ่าวเมาะตะมะ
ก๊าซที่ผลิตได้จากหลุมดังกล่าวเกือบทั้งหมดส่งจำหน่ายให้แก่ประเทศไทย ทำรายได้ให้รัฐบาลทหารปีละกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์
รัฐบาลอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้พยายามหลายครั้งที่จะบีบให้กลุ่มเชฟรอนออกจากพม่า รวมทั้งออกกฎหมายใช้มาตรการภาษี แต่ไม่สำเร็จ