xs
xsm
sm
md
lg

ฮานอยอนุมัติ $2,000 ล้านถางทางรถหัวกระสุนปีนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#cc00cc>ใกล้เข้ามาอีก-- ภาพจากแฟ้มเดือน ก.พ.2551 รัฐมนตรีขนส่ง นายโห่เหงียะยวุ๋ง (Ho Nghia Dung) อันดับ 4 จากซ้ายมือ กับประธานคณะกรรมการประชาชนนครโฮจิมินห์นายเลห่งม์กวาน (Le Hong Quan) ในพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างระบบรถไฟฟ้าบนดิน-ใต้ดินสายแรก มูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนปีนี้กำลังจะมีพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างรถไฟฟ้าหัวกระสุนฮานอย-โฮจิมินห์ 1,600 กม. (Reuters) </FONT> </CENTER>

ASTVผู้จัดการออนไลน์-- รัฐบาลเวียดนามได้อนุมัติเงินงบประมาณก้อนแรก 2,000 ล้านดอลลาร์เพื่อเริ่มงานเคลียร์หน้าดินตลอดเส้นทาง ซึ่งจะเป็นการเริ่มการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนความเร็วสูงหรือรถหัวกระสุน (Bullet Train) ซึ่งเวียดนามได้ตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีรถซินกันเซ็น (Shinkansen) แบบหัวกระสุน

สื่อของทางการเวียดนามรายงานเรื่องนี้โดยระบุว่านายกรัฐมนตรีนายเหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyen Tan Dung) ได้อนุมัติงบประมาณก้อนดังกล่าวตั้งแต่เดือน พ.ย.2551 เพื่อเป็นทุนเริ่มต้นตามผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาซึ่งสำรวจศึกษาโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2549 โดยการสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่น

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไซ่ง่อนหยายฟง (Saigon Gia Phong) หรือ "ไซ่ง่อนปลดปล่อย" จะต้องใช้เงินทุนก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 33,000 ล้านดอลลาร์ รัฐบาลญี่ปุ่นจะสนับสนุนเงินทุนทั้งในรูปเงินร่วมลงทุนกับเงินกู้ส่วนหนึ่ง ส่วนเวียดนามจะระดมทุนอีก 23,100 ล้านดอลลาร์สมทบ

ในนั้น 9,900 ล้านดอลลาร์จะเป็นเงินทุนของบริษัทรถไฟเวียดนาม เป็นค่าเวนคืนที่ดิน ค่าชดเชย ตลอดจนจัดสร้างถาวรวัตถุ สื่อของทางการกล่าว

อาจจะต้องรอไปจนถึงปี 2578 หรืออีก 26 ปีข้างหน้าการก่อสร้างจึงจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งระบบ แต่ด้วยเทคโนโลยีล่าสุด ระบบรถไฟชินกันเซ็น (Shinkansen) จะช่วยร่นระยะเวลาเดินทางระหว่างกรุงฮานอยกับนครโฮจิมินห์ให้เหลือเพียง 6 ชั่วโมงเศษ จากปัจจุบัน 28-30 ชั่วโมงด้วยรถไฟปกติ

ตามรายงานก่อนหน้านี้ถ้าหากเวียดนามเลือกใช้อีกระบบหนึ่งก็จะสามารถร่นเวลาลงได้เพียง 10 ชั่วโมง

หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนการรถไฟหัวกระสุนสองขบวนแรกจะออกจากสถานีได้ในปี 2563 หรืออีกเพียง 11 ปีเท่านั้น ทั้งหมดนี้เป็นบทสรุปในรายงานของบริษัทที่ปรึกษาที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลญี่ปุ่นให้สำรวจศึกษาโครงการนี้เพื่อเชื่อมภาคเหนือกับภาคใต้รวมระยะทางกว่า 1,600 กิโลเมตร
<CENTER><FONT color=cc00cc>ภาพจากเหตุการณ์เดียวกัน สาวพิธีการถือพานใส่หมวกกันน๊อคกับถุงมือสำหรับแขกที่ได้รับเชิญไปร่วมพิธี ข้างหลังเป็นภาพวาดรถไฟฟ้าใต้ดินแบบญี่ปุ่น หากเป็นซินกันเซ็นก็จะดูหรูยิ่งกว่า (AFP) </FONT></CENTER>
ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาการขนส่งระบบรางระหว่างปี 2563-2583 ที่นายกรัฐมนตรีเวียดนามเซ็นอนุมัติในเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว ไซ่ง่อนหยายฟงรายงานโดยอ้างเอกสารของบริษัท Vietnam-Japan Consulting ที่ได้สำรวจศึกษาโครงการมานานกว่า 1 ปี

แผนการเงินเสร็จสรรพชัดเจน รถไฟหัวกระสุนจะแล่นขนานกับเส้นทางรถไฟในปัจจุบัน โดยมีกำหนดจอดเพียง 10 จุดรายทาง จากสถานียาเลิม (Gia Lam) ในเมืองหลวงจนถึงสถานีถูเทียม (Thu Thiem) ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำไซ่ง่อนในนครโฮจิมินห์รวมระยะทาง 1,630 กม.

แต่ไม่ใช่เงินเพียงเรื่องเดียว เวียดนามยังจะต้อง จ่ายแพงๆ อีกมากมาย สำหรับระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่นี้

ตามรายงานของบริษัทที่ปรึกษา การก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าชินกันเซ็นเวียดนาม จะใช้ที่ดินตลอดเส้นทางประมาณ 4,261 เฮกตาร์ (26,000 ไร่เศษ) 70% เป็นพื้นที่การเกษตรและป่าไม้ 20% เป็นพื้นที่ในชนบททั่วไป 10% เป็นพื้นที่ในเขตเมือง

กำลังจะมีราษฎรที่อาศัยอยู่ตามเส้นทางถูกอพยพโยกย้ายออกไปราว 10,000 ครัวเรือน และ ชาวนาอีกราว 7,000 รายกำลังจะสูญเสียพื้นที่ทำกิน

รถไฟในปัจจุบันให้บริการมาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2469 และเปลี่ยนรูปแปลงโฉมมาหลายยุคหลายสมัย ร่นเวลาเดินทางระหว่างฮานอย-โฮจิมินห์ลงจาก 42 ชั่วโมงเมื่อเริ่มต้นเหลือ 40, 36 และ 29 ชั่วโมงมาเป็นลำดับ แต่หลังจากนี้จะกลายสภาพไปเป็นรถไฟชุมชนที่ให้บริการเป็นช่วงๆ ตามท้องถิ่นต่างๆ

เวียดนามมีแผนการอันทะเยอะทะยานที่จะพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและกระจายสินค้าทั่วประเทศ ทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ รวมทั้งการก่อสร้างขนส่งมวลชนระบบรางนับสิบสาย เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโฮจิมินห์กับเมืองหลวงซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น และ เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น

ต้นปี 2551 ได้มีการวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน-บนดินสายที่ 1 ของนครโฮจิมินห์ที่มีประชากร 8 ล้านคน 90% ของโครงการก่อสร้างที่มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์เป็นเงินช่วยเหลือแบบ “เกือบจะให้เปล่าๆ” จากรัฐบาลญี่ปุ่น

กลุ่มบริษัทซีเมนส์จากออสเตรียได้ศึกษาเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดิน-บนดินอีกสายหนึ่งของนครใหญ่ศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งภาคใต้ และยื่นขออนุมัติจากรัฐบาลเวียดนามจะขอจัดสร้างโดยหาทุนสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลีย เยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์ คาดว่าจะสรุปความคืบหน้าได้ในต้นปีนี้
<CENTER><FONT color=cc00cc>ภาพจากแฟ้ม www.pbase.com รถไฟฟ้าหัวกระสุนจอดที่สถานีแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว ด้วยขนาดมหึมาเหมือนงูยักษ์ เหมือนปลาไหลเมอร์เรย์ที่สงบนิ่งแต่พร้อมจะทะยานไปข้างหน้า ชินกันเซ็นรุ่นนี้แล่นด้วย ความเร็วปกติ 160 ไมล์ต่อชั่วโมง เร่งให้เร็วกว่านั้นได้ วันข้างหน้าวิ่งฮานอย-โฮจิมินห์จะใช้เวลาเพียง 6 ชั่วโมงกับ 30 นาที แต่ค่าโดยสารอาจจะเท่าๆ กับค่าเครื่องบิน  </FONT></CENTER>
ทางการนครโฮจิมินห์มีแผนการที่จะสร้างระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนรวม 6 สาย กับ รถไฟฟ้าระบบรางเดี่ยว (Monorail) อีก 3 สายด้วยกัน

ส่วนในกรุงฮานอยญี่ปุ่นให้เงินทุนสนับสนุนการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน-บนดินสายแรกมูลค่า 1,200 ล้านดอลลาร์ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเงินกู้ พิธีวางศิลาฤกษ์จัดขึ้นในเดือน เม.ย.ปีที่แล้ว กำหนดแล้วเสร็จในปี 2560 ในเมืองหลวงเวียดนามจะมีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนรวม 4 สาย

สำหรับสำหรับรถไฟฟ้าหัวกระสุน วิศวกรชุดแรกจำนวน 10 นาย มีกำหนดจะเดินทางไปฝึกอบรมที่องค์การรถไฟญี่ปุ่นระหว่างเดือน มี.ค.-พ.ย.ปีนี้ ด้วยความร่วมมือตามความตกลงที่รัฐบาลสองประเทศร่วมกันลงนามในปี 2549

บริษัทที่ปรึกษากล่าวว่า ถ้าหากทุกอย่างเป็นไปตามกำหนด เฟสแรกระหว่างฮานอยกับเมืองวีงห์ (Vinh) จ.เหงะอาน (Nghe An) จะเปิดใช้ได้ในปี 2563 ระยะทาง 291 กม. ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมงกับ 24 นาที พร้อมๆ กับช่วงไซ่ง่อน-ญาจาง (Nha Trang) ใน จ.แค๊งฮว่า (Khanh Hoa) ระยะทางกว่า 439 กม. แต่ใช้เวลาวิ่งพียง 90 นาทีเท่านั้น ไซ่ง่อนหยายฟงกล่าว

ไกลออกไปในปี 2573 รถไฟหัวกระสุนฮานอย-โฮจิมินห์จะเปิดทะลุถึงกันได้ตลอดทั้งสายโดยใช้เวลาเดินทาง 6 ชั่วโมงกับ 30 นาที ด้วยค่าโดยสารที่อาจจะเท่าๆ กับค่าโดยสารเครื่องบิน.
กำลังโหลดความคิดเห็น