ASTVผู้จัดการรายวัน -- รัฐบาลกัมพูชาได้ประกาศลดงบประมาณด้านกลาโหม ปี 2552 ลงเหลือเพียง 160 ล้านดอลลาร์ หลังจากเมื่อเดือนก่อนประกาศเพิ่มงบดังกล่าวขึ้นเป็น 500 ล้านดอลลาร์ แต่ต้องลดลงในที่สุด เมื่อได้รับการท้วงติงจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund)
สมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมานตรีกัมพูชา ประกาศเพิ่มงบประมาณป้องกันประเทศ หลังจากเกิดการปะทะระหว่างทหารไทย กับ ทหารกัมพูชา ที่ชายแดนด้านปราสาทพระวิหารในวันที่ 15 ต.ค.หลังจากกองกำลังสองฝ่ายเผชิญหน้ากันมานานหลายเดือน
รัฐบาลกัมพูชาได้ลดงบด้านการทหารลง และเสนอขออนุมัติจากรัฐสภาใหม่ หลังจาก IMF ตั้งข้อกังขาถึงความจำเป็นในในเรื่องดังกล่าว
“เราเคยตั้งใจจะผันงบไปยังด้านกลาโหมและความมั่นคง แต่ทันทีที่เราประกาศแผนการนั้นไปก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากบรรดาประเทศผู้บริจาค” นายเจียมเยียบ (Cheam Yeap) ประธานคณะกรรมาธิการการคลัง สภาผู้แทนราษฎรกัมพูชา กล่าวเมื่อวันจันทร์ (8 ธ.ค.)
“เราไม่อยากจะให้ประเทศผู้บริจาคไม่สบายใจเกี่ยวกับการใช้จ่ายด้านกลาโหม จึงตัดสินใจลด (งบประมาณ) ลง” สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างคำกล่าวของนายเยียบ
ขณะเดียวกัน IMF ก็ได้แสดงความห่วงใยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ระหว่างหารือร่วมกับประเทศผู้บริจาค (Donors) ที่ประชุมหารือร่วมกับรัฐบาลกัมพูชาในกรุงพนมเปญสัปดาห์ที่แล้ว
พรรคการเมืองฝ่ายค้าน ได้คัดค้านแผนการเพิ่มงบกลาโหมของรัฐบาลมาตั้งแต่ต้น โดยกล่าวว่า ที่ผ่านมา มีการทุจริตอย่างมากมายในการใช้จ่ายงบประมาณด้านนี้ การเผชิญหน้ากับฝ่ายไทยช่วงที่ผ่านมา ทุกฝ่ายได้เห็นว่าทหารจำนวนมากที่ชายแดนไม่มีรองเท้า และไม่มีเครื่องแบบใหม่สวมใส่
ในช่วงวิกฤตนั้นทั่วโลกได้เห็นทหารกัมพูชาเดินทางไปยังแนวหน้าอย่างรีบเร่ง ในรถลำเลียงพลคันเก่าๆ ทหารเกือบทั้งหมดยังใช้ปืนประจำกายแบบ AK47 หรือ “อาก้า” ที่ใช้มาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น หลายคนหิ้วหรือแบกกระเป๋าเดินเท้า
ทหารจำนวนหนึ่งแยกชิ้นส่วนปืนกลยิงเร็วออกชโลมน้ำมัน หรือขัดสนิมที่ขึ้นเกรอะกรัง แสดงให้เห็นความไม่พร้อมรบของกำลังพล
สมเด็จฯ ฮุนเซน ประกาศเพิ่มงบประมาณด้านการทหาร ก่อนจะเดินทางไปร่วมประชุมเอเชียยุโรปในกรุงปักกิ่งเพียงไม่นาน ซึ่งผู้นำกัมพูชาได้ถือโอกาสนี้เยือนจีนอย่างเป็นทางการ โดยหลายฝ่ายคาดว่าอาจจะมีการขอความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทธปัจจัยต่างๆ จากรัฐบาลจีนด้วย
ไม่มีการเปิดเผยใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีเพียงการเจรจาเงินกู้จากจีนอีกก้อนหนึ่งกว่า 200 ล้านดอลลาร์
การขอเพิ่มงบประมาณกลาโหม ยังมีขึ้นในขณะที่บรรดาประเทศผู้บริจาค รวมทั้งธนาคารโลกกำลังช่วยกัมพูชาลดพลประจำการ เพื่อลดขนาดกองทัพที่ใหญ่โตลงและนำงบประมาณไปเพื่อการพัฒนาประเทศ แก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน 14 ล้านคน ที่เกือบครึ่งหนึ่งยังมีชีวิตอยู่ในความยากจนที่ต่ำกว่ามาตรฐานของสหประชาชาติ
ตามรายงานของรัฐสภา ปี 2551 รัฐบาลสมเด็จฯ ฮุนเซน ตั้งงบประมาณกลาโหมเอาไว้เพียง 108 ล้านดอลลาร์ ส่วนค่าจ่ายด้านความมั่นคงซึ่งรวมทั้งกำลังตำรวจแห่งชาติประมาณ 250 ล้านดอลลาร์
ทางการกล่าวว่า การเพิ่มงบประมาณกลาโหมสำหรับปี 2552 นี้ จะทำให้กำลังพลได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่และได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้น ไม่ได้ใช้ไปเพื่อซื้ออาวุธแต่อย่างใด
เงินงบประมาณรายจ่ายปี 2552 ของกัมพูชาเป็นจำนวนประมาณ 1,400 ล้านดอลลาร์ แทนที่จะเป็น 1,800 ล้านดอลลาร์ที่เสนอก่อนหน้านั้น
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ ระหว่างการประชุมหารือสัปดาห์ที่แล้ว กลุ่มประเทศผู้บริจาคได้ให้คำมั่นช่วยเหลือกัมพูชาเป็นเงินเกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมากอย่างเป็นประวัติการณ์
จีนเป็นผู้นำหน้าโดยให้คำมั่นเป็นเงิน 257 ล้านดอลลาร์ ตามด้วยกลุ่มสหภาพยุโรป 214 ล้านดอลลาร์ และญี่ปุ่นอีก 113 ล้านดอลลาร์ ทางการกัมพูชายังไม่เปิดเผยเงินจำนวนที่เหลือ
ปีที่แล้วประเทศผู้บริจาคต่างๆ ได้ให้ความช่วยเหลือแก่กัมพูชารวม 689 ล้านดอลลาร์ในนั้นเป็นความช่วยเหลือจากจีนหลายสิบล้านดอลลาร์ โดยยังไม่รวมเงินช่วยเหลืออื่นๆที่จีนให้กัมพูชานับร้อยๆ ล้านดอลลาร์ทุกปี
สัปดาห์ต้นเดือน ธ.ค.นี้ รัฐบาลจีนได้มอบเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่กัมพูชา 7.26 ล้านดอลลาร์กับจำนวนอีกเท่าๆ กันเป็นเงินกู้ไม่มีดอกเบี้ยและยังให้อีก 200 ล้านดอลลาร์เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำระยะยาวเพื่อช่วยประเทศนี้ก่อสร้างและฟื้นฟูถนนหลายสาย
พิธีมอบจัดขึ้นในกรุงพนมเปญระหว่างการเยือนของนายเจียชิงหลิน (Jia Qinglin) ที่ปรึกษาทางการเมืองระดับสูงแห่งรัฐของจีน
สิ่งนี้เกิดขึ้นในท่ามกลางความเป็นห่วงของโลกตะวันตกที่ไม่ต้องการจะเห็นคอมมิวนิสต์จีนเข้าไปมีอิทธิพลอย่างมากมายในกัมพูชา ซึ่งจะเป็นบันไดกระโจนต่อไปยังทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บางกระแสได้แสดงความห่วงใยต่อการหลั่งไหลเข้าสู่กัมพูชาของเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ ในขณะที่คอร์รัปชั่นยังลุกลามอย่างกว้างขวางในประเทศนี้ โดยกัมพูชายังไม่มีกฎหมายต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวง
แต่ นายเกียตชน (Keat Chon) รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีการคลัง ให้สัมภาษณ์สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่า กัมพูชากำลังเดินไปในทางที่ถูกต้อง หากไม่เช่นนั้นผู้บริจาคก็อาจจะยกเลิกความช่วยเหลือแต่นายชนก็ไม่ได้กล่าวอย่างเจาะจงว่าเป็นเรื่องใด
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านกัมพูชาได้ออกวิจารณ์ความช่วยเหลือจากต่างชาติ โดยระบุว่าแท้จริงแล้วเกือบทั้งหมดก็คือเงินกู้ ที่ทำให้ประชาชนเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวไปจนถึงชั่วลูกหลาน
นอกจากนั้น เงินช่วยเหลือจากบางประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ จีนล้วนผูกติดเงื่อนไขต่างๆ เอาไว้แน่นหนาอันเป็นผลประโยชน์ของเจ้าของเงินกู้ทั้งสิ้น เช่น กัมพูชาต้องใช้บริษัทรับเหมาก่อสร้างจากจีน เป็นต้น