ผู้จัดการออนไลน์-- น่านน้ำอ่าวเบงกอลระหว่างพม่ากับบังกลาเทศได้เกิดความตึงเครียดขึ้นมาในช่วงสุดสัปดาห์ โดยบังกลาเทศกล่าวหาว่า เรือรบของรัฐบาลทหารพม่าจำนวน 3 ลำ ได้ล้ำน่านน้ำเข้าไปสำรวจก๊าซและน้ำมันดิบ
รัฐบาลบังกลาเทศได้เรียกนักการทูตพม่าในกรุงทาก้าเข้าพบและยื่นประท้วงอย่างแข็งกร้าว
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพียงสองสัปดาห์หลังจาก รอง พล.อ.อาวุโสหม่องเอ (Maung Aye) ผู้นำหมายเลขสองของรัฐบาลทหารพม่าไปเยือนบังกลาเทศอย่างเป็นทางการ และสองฝ่ายได้ตกลงจะก่อสร้างถนนเพื่อเชื่อมพรมแดนระหว่างกัน เปิดเส้นทางการค้าและการท่องเที่ยวใหม่ในอนุภูมิภาค
บังกลาเทศกล่าวหาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ฝ่ายพม่าได้จงใจใช้เรือรบจำนวน 2 ลำ นำเรือสำรวจก๊าซและน้ำมันจำนวน 4 ลำล้ำน่านน้ำของตนอย่างจงใจ และไม่เอาใจใส่ต่อการส่งสัญญาณเตือนจากเรือรบบังกลาเทศซึ่งขณะนั้นมีจำนวน 3 ลำอยู่ในอาณาบริเวณที่เกิดเหตุ
บังกลาเทศได้ประท้วงทางการทูตเรียกร้องให้พม่าถอนเรือรบออกจากเขตน่านน้ำพิพาทในอ่าวเบงกอลทันที จนกว่าการปักปันเขตน่านน้ำของสองฝ่ายภายใต้การชี้แนะขององค์การสหประชาชาติจะแล้วเสร็จ
แหล่งข่าวฝ่ายบังกลาเทศกล่าวหาว่า เรือรบพม่าได้ล่วงล้ำเขตน่านน้ำ 50 ไมล์ทะเลทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเซ็นต์มาร์ติน บริษัทจากเกาหลีกำลังสำรวจขุดเจาะในอาณาบริเวณใกล้เคียง
เรือรบบังกลาเทศทั้งสามลำได้แจ้งให้ทราบว่าเรือพม่ากำลังล่วงล้ำน่านน้ำ แต่ฝ่ายนั้นแจ้งตอบกลับไปว่าเรือรบบังกลาเทศต่างหากที่กำลังรุกล้ำ
มีคนงานอย่างน้อย 50 คนปฏิบัติงานอยู่บนเรือสำรวจน้ำมันทั้งสี่ลำ ซึ่งสองลำจดทะเบียนมาบาฮามา อีกสองลำจดทะเบียนในเบลีซและอินเดีย
อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีต่างประเทศบังกลาเทศ ตูฮิด ฮอสเซน (Touhid Hossein) กล่าวว่า ความขัดแย้งดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ด้วยการเจรจา เนื่องจากสองฝ่ายมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ซึ่งคณะกรรมการแบ่งปันเขตน่านน้ำสองฝ่ายจะเปิดประชุมระหว่างวันที่ 16-17 พ.ย.นี้
บังกลาเทศจะแจ้งไปยังบริษัทจากเกาหลีใต้ที่ได้รับสัมปทานสำรวจน้ำมันและก๊าซในเขตดังกล่าว ให้ถอนออกไปจากเขตน่านน้ำบังกลาเทศ
ทะเลเบงกอลได้กลายเป็นจุดสำคัญในช่วงปีใกล้ๆ นี้ หลังจากกลุ่มบริษัทร่วมทุนแดวูอินเตอร์เนชั่นแนลกับบริษัทน้ำมันของอินเดียประกาศการค้นพบก๊าซปริมาณ 7 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตในแหล่งใกล้ชายฝั่งของพม่า ทำให้มีการขยายการสำรวจเข้าไปในเขตน้ำลึก
บริษัทน้ำมันอินเดียก็ได้ค้นพบก๊าซที่คาดว่าจะมีปริมาณ 100 ล้านล้านในทะเลเบงกอล ในเขตน่านน้ำของตน และในปี 2549 สื่อในบังกลาเทศได้รายงานการค้นพบชั้นหินใต้ทะเลที่คาดว่าจะเก็บกักน้ำมัน ดิบและก๊าซปริมาณมหาศาลเช่นเดียวกัน
ตามตัวเลขอย่างเป็นทางการของกระทรวงวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจ นับตั้งแต่เปิดประตูรับการลงทุนในปี 2531 จนถึงสิ้นปี 2550 มีนักลงทุนต่างชาติเข้าลงทุนสำรวจขุดเจาะพลังงานใน 85 โครงการรวมมูลค่า 3,243 ล้านดอลลาร์ เป็นแขนงลงทุนใหญ่อันดับสองรองจากแขนงผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังน้ำ
ในปี 2550 การลงทุนในแขนงสำรวจปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากปี 2549 เป็น 474.3 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 90% ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่ารวม 504.8 ล้านดอลลาร์.