xs
xsm
sm
md
lg

“ฮุนเซน” จุดชนวนดึงฝรั่งเศสฮุบขุมทรัพย์ 5 ล้านล้าน แหล่งก๊าซ-น้ำมันเขตทับซ้อนทะเล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฮุนเซน กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย
ASTVผู้จัดการออนไลน์ – การอนุญาตให้กลุ่มบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส “โตตาล ออยล์” ได้รับสิทธิสัมปทานสำรวจและขุดเจาะน้ำมันและก๊าซฯ ในทะเลอ่าวไทยบริเวณเขตทับซ้อนไทย-กัมพูชา ซึ่งธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟประเมินว่า มีน้ำมันสำรอง 2,000 ล้านบาร์เรล และก๊าซฯ สำรองอีกมากกว่า 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต มูลค่าถึง 5 ล้านล้านบาท ของฮุนเซน เป็นที่น่าจับตาว่าจะทำให้การเจรจาตกลงปักปันเขตทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ท่ามกลางผลประโยชน์มหาศาลเพิ่มความยุ่งยากซับซ้อนขึ้นอีกหลายเท่า



ผู้นำกัมพูชาฉวยโอกาสดึงฝรั่งเศสเข้ามาเกี่ยวข้องความขัดแย้งในอ่าวไทย ให้สัมปทาน Block3 (Area3) ที่อยู่ริมนอกสุดแก่โตตาลออยล์ ขณะที่ยังเป็นน่านน้ำพิพาทกับประเทศไทย พรมแดนทางน้ำกับพรมแดนทางบกระหว่างไทย-กัมพูชาเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก แม้กระทั่ง BlockA ที่กลุ่มเชฟรอน-มิตซุย ประกาศพบน้ำมันแล้วก็ยังสามารถเป็นเขตแดนพิพาทได้เช่นกัน



แผนที่โดยสังเขปแสดงเขตน่านน้ำพิพาท น่านน้ำของไทยและกัมพูชา เชื่อว่า Block3 ที่อยู่ริมนอกสุด (บริเวณปลายลูกศรที่ 3 จากล่าง) จะเป็นแปลงสำรวจแรกในเขตทับซ้อนที่กัมพูชาให้สัมปทานแก่บริษัทต่างชาติ และผู้นำของประเทศนี้เลือกเป็นบริษัทนน้ำมันฝรั่งเศส

สมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีประเทศกัมพูชา ได้ออกใบอนุญาตให้กลุ่มบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส โตตาล เข้าสำรวจก๊าซและน้ำมันในแหล่งอ่าวไทย ในโอกาสเยือนประเทศฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว

ความตกลงระหว่างรัฐบาลกัมพูชากับยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของฝรั่งเศสครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่กัมพูชาได้แรงสนับสนุนอย่างสำคัญจากประเทศมหาอำนาจโดยเฉพาะฝรั่งเศส อดีตเจ้าอาณานิคม ช่วยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารของฝ่ายกัมพูชาจนสำเร็จ ทั้งยังวางหมากเพื่อให้มีสิทธิ์เข้าร่วมบริหารจัดการเขตพื้นที่เขตทับซ้อนโดยรอบอีกด้วย แม้ว่าเรื่องดังกล่าวอาจจะไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรง แต่ในทางการเมืองทั้งภายในและระหว่างประเทศแล้ว ก็ยากที่แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง

การตัดสินใจของ สมเด็จฯ ฮุนเซน ในการให้สิทธิสัมปทานสำรวจขุดค้นน้ำมันและแก๊สธรรมชาติแก่กลุ่มบริษัทน้ำมันฝรั่งเศส ในบริเวณพื้นที่ซึ่งยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับเขตทับซ้อนทางทะเลกับไทยอยู่ในทุกวันนี้ อาจทำให้ปัญหาข้อพิพาทเรื่องเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ทั้งบนบนและในทะเลมีความยุ่งยาก ซับซ้อนขึ้นไปอีกหลายเท่า ไม่เพียงแค่ประเด็นเรื่องอธิปไตยเหนือเส้นเขตแดนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผลประโยชน์มหาศาลที่ต่างฝ่ายต่างช่วงชิงอีกด้วย

ผู้นำของกัมพูชา ได้รับรายงานตั้งแต่ปี 2548 จากกลุ่มบริษัท เชฟรอน (Chevron Corp) หนึ่งในยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานจากสหรัฐฯ ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าสำรวจแหล่งปิโตรเลียมจากรัฐบาลกัมพูชาว่า มีการสำรวจพบน้ำมันและก๊าซฯ ใน 4 แหล่ง จากทั้งหมด 8 แหล่งที่ได้ขุดเจาะในอ่าวไทย และนับแต่นั้นประเด็นปัญหาเขตทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ได้ทวีความสำคัญและร้อนแรงขึ้นเป็นลำดับ

จากรายงานการสำรวจของกลุ่มเชฟรอน ทำให้หลายฝ่ายประเมินกันว่า เขตน่านน้ำทางทะเลระหว่างไทย – กัมพูชาในบริเวณอ่าวไทย อาจมีปริมาณน้ำมันสำรองมากถึง 2,000 ล้านบาร์เรล และมีปริมาณก๊าซฯ สำรองอีกมากกว่า 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต

การประเมินข้างต้นของเชฟรอน สอดคล้องกับธนาคารโลก และ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งแสดงความเชื่อมั่นต่อที่ประชุมสมัชชาว่าด้วยการลงทุนขุดเจาะน้ำมันและก๊าซฯ ในเอเชีย ที่สิงคโปร์ เมื่อไม่นานมานี้ ว่า น้ำมันและแก๊สฯในกัมพูชา และเขตทับซ้อนทางทะเลกับไทย มีปริมาณน้ำมันสำรองมากถึง 2,000 ล้านบาร์เรล และมีปริมาณก๊าซฯ สำรองอีกมากกว่า 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 5 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานด้านพลังงานของไทย ไม่เคยยืนยันตัวเลขผลประโยชน์มหาศาลในแหล่งน้ำมันและก๊าซฯ ว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด แม้ว่าจะมีบริษัทเอกชนในเครือรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของชาติ เข้าไปร่วมสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่อ่าวไทยบริเวณดังกล่าวอยู่ด้วย

ที่ผ่านมา ไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะรองประธาน คณะอนุกรรมการด้านเทคนิค คณะกรรมการและคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เคยให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชนว่า ตัวเลขที่พูดกันว่าพื้นที่เขตทับซ้อนประมาณ 25,000 ตร.กม. น่าจะมีปริมาณก๊าซฯ 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต เป็นแค่การคาดเดา เพราะยังไม่มีเอกชนรายใดเข้าไปสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา อย่างเป็นทางการ เนื่องจากยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องการแบ่งเขตพื้นที่ของสองประเทศอย่างชัดเจน (โพสต์ทูเดย์ /14 พ.ค. 2551)

ถึงแม้ข้อพิพาทเรื่องเขตแดนในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล และการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์จากแหล่งปิโตรเลียมระหว่างไทย – กัมพูชา จะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่สมเด็จฯ ฮุนเซน ซึ่งมีความถนัดในการเดินเกมเชิงรุกในทุกเรื่องโดยเฉพาะกับไทย ก็ได้ดึงเอาบริษัทพลังงานข้ามชาติเข้ามาสำรวจขุดเจาะน้ำมันและก๊าซฯ มากถึง 75 บริษัท โดยกลุ่มใหญ่ๆ เช่น เชฟรอน จากสหรัฐฯ และ BHP Billiton จากออสเตรเลีย และ China National Offshore Oil Corp (CNOOC) ซึ่งเป็นคู่แข่งที่น่าเกรงขามของเชฟรอน เพราะสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับรัฐบาลกัมพูชามีมากกว่า

ทรงฤทธิ์ โพนเงิน นักสังเกตการณ์และผู้สื่อข่าวอิสระประจำสถานีวิทยุเสียงอเมริกา (Voice of America) , วิทยุฝรั่งเศสสากล, อ.ส.ม.ท. นักเขียนประจำเนชั่นสุดสัปดาห์และ www.indochinapublishing.com ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวในกิจการเกี่ยวกับประเทศอินโดจีน ตั้งข้อสังเกตว่า ระหว่างที่การเจรจาเรื่องเขตทับซ้อนทางทะเลกับไทยยังไม่มีอะไรคืบหน้า การไปตกลงกับฝรั่งเศสของสมเด็จฯ ฮุนเซน จะทำให้ปัญหาการเจรจาเรื่องเขตทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย – กัมพูชา ยุ่งเหยิงมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้า ฮุนเซน ก็ดึงเอาบริษัทยักษ์พลังงานเข้าไปลงทุนแล้วหลายราย

เริ่มจากเชฟรอน ซึ่งฮุนเซน เร่งให้สรุปผลการสำรวจน้ำมันและก๊าซฯ ในเขตพื้นที่ที่ต่อเนื่องกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับไทย โดยผู้นำกัมพูชา วางเป้าหมายขุดค้นน้ำมันและก๊าซฯ ขึ้นมาใช้ประโยชน์ให้ได้ภายในปี 2554

อีกทั้งยังสั่งการให้รัฐวิสาหกิจปิโตรเลียมแห่งชาติ เร่งจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเพื่อร่วมทุนกับเชฟรอนเพื่อสำรวจขุดเจาะ และยังเร่งให้เซ็นสัญญากับกลุ่ม TOYO Engineering จากญี่ปุ่นเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกในกัมพูชาอีกด้วย

ทางกลุ่มเชฟรอน ได้ร่วมทุนกับกลุ่ม Mitsui จากญี่ปุ่นและกลุ่ม GS Caltex จากเกาหลีใต้ เพื่อสำรวจหาแหล่งน้ำมัน และก๊าซฯ ในเขตน่านน้ำของกัมพูชานับตั้งแต่ปี 2545 ให้คำมั่นต่อฮุนเซนว่า รายงานสรุปผลการสำรวจทั้งหมดจะนำเสนอต่อรัฐบาลกัมพูชาในปลายปีนี้

กลุ่มเชฟรอนและพันธมิตรข้างต้น ร่วมทุนกันในสัดส่วน 55% ต่อ 30% และ 15% ตามลำดับทำการขุดเจาะสำรวจหาน้ำมันในเขตสัมปทาน A ซึ่งอยู่ห่างจากฝั่งทะเล เขตจังหวัดสีหนุวิลล์ในภาคใต้ของกัมพูชาประมาณ 150 กิโลเมตร พบว่า 4 ใน 15 หลุมที่ดำเนิน การสำรวจนั้นเป็นแหล่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติที่คุ้มค่าที่จะลงทุนอย่างยิ่ง

ผลจากการสำรวจฯดังกล่าว ปรากฏว่ามีบริษัทต่างชาติอีกกว่า 10 ราย หลั่งไหลเข้าไปขออนุญาตสัมปทานเพื่อสำรวจหาน้ำมันและก๊าซฯในเขตอ่าวไทยในส่วนที่รัฐบาลกัมพูชาถือว่าเป็นเขตน่านน้ำของฝ่ายตน โดยในที่นี้รวมถึงบริษัทในเครือ ปตท. และยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานจากจีนด้วย

****เจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ กัมพูชาเขี้ยวลากยากจบ

สำหรับการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ทางทะเล ทางการไทยกับกัมพูชาก็เคยตกลงในหลักการร่วมกันมา แล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2549 โดยได้ตกลงแบ่งเขตทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทยออกเป็น 3 ส่วนเท่าๆ กัน โดยส่วนที่อยู่ตรงกึ่งกลางนั้นก็ให้แบ่งผลประโยชน์กันในสัดส่วน 50 ต่อ 50

ส่วนเขตทับซ้อนที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลของไทยนั้นก็ได้ตกลงให้แบ่งผลประโยชน์ให้กับฝ่ายไทยมากกว่าฝ่ายกัมพูชา ซึ่งก็เช่นเดียวกันกับเขตทับซ้อนฯ ที่อยู่ใกล้ฝั่งทะเลของกัมพูชา ก็ให้แบ่งผลประโยชน์ให้กับฝ่ายกัมพูชามากกว่าฝ่ายไทย

แต่ถึงกระนั้น ทั้งสองฝ่ายก็ยังคงตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับสัดส่วนของการแบ่งผล ประโยชน์ กล่าวก็คือฝ่ายไทยเสนอให้แบ่งผลประโยชน์เป็น 60 ต่อ 40 แต่ฝ่ายกัมพูชานั้นกลับต้องการให้แบ่งผลประโยชน์เป็น 90 ต่อ 10 เพราะฝ่ายกัมพูชาเชื่อว่าเขตทับซ้อนฯที่อยู่ใกล้ฝั่งกัมพูชานั้นมีปริมาณน้ำมันและแก๊สฯ มากกว่าในเขตทับซ้อนที่อยู่ใกล้ฝั่งไทยนั่นเอง

ยิ่งไปกว่านั้น นับจากที่ไทยกับกัมพูชาขัดแย้งกันในพื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกิโล เมตรในเขตปราสาทพระวิหาร ตั้งแต่กลางปี 2551 เป็นต้นมาจนถึงขั้นที่ต้องยิงปะทะกันด้วยอาวุธมาแล้ว 2 ครั้ง คือเมื่อปลายปีที่แล้วและในต้นปีนี้ด้วยแล้วก็ยังทำให้ไม่มีการเจรจาเกี่ยวกับน้ำมันและแก๊สฯในเขตทับซ้อนทางทะเลเกิดขึ้นเลย เพราะถูกปัญหาในเขตปราสาทพระวิหารบดบังไปอย่างสิ้นเชิง

/////////////////////////////////
กำลังโหลดความคิดเห็น