xs
xsm
sm
md
lg

“ฮุนเซน” งามหน้าให้สัมปทานน้ำมันเขตทับซ้อนอ่าวไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#cc00cc>ผู้นำกัมพูชาฉวยโอกาสดึงฝรั่งเศสเข้ามาเกี่ยวข้องความขัดแย้งในอ่าวไทย ให้สัมปทาน Block3 (Area3) ที่อยู่ริมนอกสุดแก่โตตาลออยล์ ขณะที่ยังเป็นน่านน้ำพิพาทกับประเทศไทย พรมแดนทางน้ำกับพรมแดนทางบกระหว่างไทย-กัมพูชาเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก แม้กระทั่ง BlockA ที่กลุ่มเชฟรอน-มิตซุย ประกาศพบน้ำมันแล้วก็ยังสามารถเป็นเขตแดนพิพาทได้เช่นกัน </FONT></bR>

ASTVผู้จัดการรายวัน - ผู้บริหารบริษัทน้ำมันฝรั่งเศสยอมรับเอง แปลงสำรวจ Bloc 3 ที่สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโชฮุนเซนให้สัมปทานสำรวจและผลิตในสัปดาห์กลางเดือนที่ผ่านมานั้น อยู่ในเขตทับซ้อนทางทะเลที่รัฐบาลไทยได้กล่าวอ้างสิทธิเป็นเขตน่านน้ำของตนเองเช่นเดียวกันซึ่งทำให้ยากที่จะเข้าดำเนินการได้ในเร็ววัน

นายฌองปิแอร์ ลาบเบ (Jean-Piere Labbe) ผู้อำนวยการใหญ่บริษัทโตตาลสำรวจและผลิต (Total EP) ประจำกัมพูชาเปิดเผยเรื่องราวดังกล่าว ในการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์รายวันภาษาฝรั่งเศส “กัมโบดจ์ซวาร์” (Cambodge Soir Hebdo) ในกรุงพนมเปญ เรื่องนี้ปรากฏบนเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ดังกล่าวในวันอังคาร

สมเด็จฯ ฮุนเซนได้บอกกล่าวเรื่องเกี่ยวกับการอนุมัติให้สัมปทานแก่โตตาลออยล์ ในวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา ระหว่างการเยือนฝรั่งเศส ซึ่งผู้นำกัมพูชาได้พบหารือข้อราชการกับบรรดาผู้นำ กัมโบดจ์ซวาร์รายก่อนหน้านี้ว่าฝ่ายเจ้าภาพล้วนแสดงความพึงพอใจในความร่วมมือและขอบคุณรัฐบาลกัมพูชาต่อเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ทุกฝ่ายกำลังให้ความสนใจต่อ Block 3 ที่รัฐบาลสมเด็จฯ ฮุนเซนอนุมัติให้สัมปทานการสำรวจขุดเจาะแก่บริษัทน้ำมันฝรั่งเศสไปเงียบๆ ผู้บริหารของโตตาลออยล์ได้เปิดเผยเกี่ยวกับแปลงสัมปทานใหม่ Block 26 อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งการสำรวจสามารถดำเนินการได้เร็วกว่า เนื่องจากไม่ได้มีกรณีพิพาทใดๆ

ต่างจากแปลงสำรวจ Block 3 ก็คือ Block 26 เป็นแปลงบนบกในลุ่มแม่น้ำโขง ติดกับชายแดนเวียดนาม เป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับแปลงสำรวจในอีกฟากหนึ่งของชายแดน ที่โตตาลได้รับสัมปทานจากรัฐบาลเวียดนาม
<br><FONT color=#cc00cc>ภาพเอเอฟพีวันที่ 14 ก.ค.2552 สมเด็จฯ ฮุนเซนพบหารือข้อราชการกับ รมว.ต่างประเทศฝรั่งเศส ในโอกาสไปเยือนประเทศนี้อย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี ผู้นำกัมพูชาประกาศในวันเดียวกันว่ารัฐบาลได้ให้สัมปทานแปลงสำรวจ Block3 ในอ่าวไทยให้โตตาลออยล์ กลายเป็นว่าเป็นแปลงในน่านน้ำพิพาท.  </FONT></bR>
นายลาบเบ้กล่าวว่า Block 26 มีศักยภาพไม่สูงเท่า Block 3 ในอ่าวไทย รวมทั้งโอกาสที่จะนำก๊าซและน้ำมันดิบขึ้นมาใช้ก็มีน้อยกว่า Block 3 แต่ข้อดีก็คือ สามารถเข้าดำเนินการได้ในทันทีไม่มีกรณีพิพาทเช่น Block 3

ยังไม่มีฝ่ายใดเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานสำรวจและผลิต Block 3 ในเขตอ่าวไทย เชื่อกันว่าเป็นอาณาบริเวณที่มีก๊าซและน้ำมันดิบอุดมที่สุด

แต่ผู้บริหารของโตตาลกล่าวว่า จะยังไม่มีการเข้าดำเนินการใดใน Block 3 จนกว่าไทยและกัมพูชาจะสามารถหาข้อตกลงกันได้ และปัญหานี้ควรจะได้รับการแก้ไขภายใน 10 ปีข้างหน้า ไม่เช่นนั้นสัญญาสัมปทานก็จะต่ออายุโดยอัตโนมัติ

ในขณะที่กำลังมีแรงกดดันเกี่ยวกับราคาน้ำมันในตลาดโลก ทั้งไทยและกัมพูชาต่างก็ต้องการน้ำมัน เพราะฉะนั้นฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (กับเขตน่านน้ำพิพาท) ควรจะเร่งดำเนินการ และจะต้องหาทางออกอย่างรวดเร็วในการแก้ไขความขัดแย้ง

เป็นไปได้อย่างมากที่ไทยและกัมพูชาจะแบ่งปันทรัพยากร (ในน่านน้ำ) ขณะที่สองฝ่ายมีความขัดแย้งดันเกี่ยวกับเขตแดนบนบก นายลาบเบ้กล่าว
<br><FONT color=#cc00cc>ภาพแฟ้มเดือน ธ.ค.2550 สถานีบริการน้ำมันโตตาลริมถนนสายหลักไปยังท่าอากาศยานกรุงพนมเปญ ผู้บริหารของ Total EP ประจำกัมพูชายอมรับว่าแปลงสำรวจ Block3 ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชาในเดือนนี้ อยู่ในเขตพิพาทน่านน้ำกับไทย และ จะไม่มีการดำเนินการอะไรจนกว่าสองฝ่ายจะหาทางตกลงกันได้. </FONT></bR>
โตตาลเป็นรายล่าสุดที่เข้าไปแสวงหาโอกาสในอุตสาหกรรมผลิตพลังงานที่เกิดใหม่ในกัมพูชา ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัทต่างชาติกว่า 75 แห่งทำธุรกิจสำรวจและขุดเจาะอยู่ที่นั่น รวมทั้งบริษัทขนาดใหญ่ที่รู้จักกันดีทั่วโลกเช่น เชฟรอน (Chevron Corp) จากสหรัฐฯ และ BHP Billiton จากออสเตรเลียด้วย

กลุ่มเชฟรอนได้ประกาศพบน้ำมันดิบในต้นปี 2548 ในแปลงสำรวจทางตอนใต้นอกชายฝั่งเมืองสีหนุวิลล์ แต่ยังไม่เคยมีการเปิดเผยรายละเอียดต่างๆ มีเพียงองค์การระหว่างประเทศคาดว่า แหล่งดังกล่าวจะมีน้ำดิบหลายร้อยล้านบาร์เรล กับก๊าซธรรมชาติอีกปริมาณมหาศาล

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐบาลกัมพูชา กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า จะยังไม่มีการผลิตน้ำมันดิบในแหล่งอ่าวไทยขึ้นมาใช้ประโยชน์ จนกว่าจะถึงช่วงปี 2556-2558 และยังไม่มีฝ่ายใดให้ข้อมูลได้ว่า กัมพูชาจะสามารถนำน้ำมันดิบที่พบขึ้นมาใช้ได้จริงเท่าไร

สมเด็จฯ ฮุนเซน เยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 5 วัน ได้พบหารือข้อราชการกับ นายแบร์นาร์ด กูชเนอร์ (Bernard Kouchner) รัฐมนตรีต่างประเทศ นายฟรังซัว ฟิญยง (Francois Fillon) กับประธานาธิบดี นิโกลาส์ ซาร์โกซี (Nicolas Sarkozy) วันที่ 14 ก.ค.
<br><FONT color=#cc00cc>แผนที่โดยสังเขปแสดงเขตน่านน้ำพิพาท น่านน้ำของไทยและกัมพูชา เชื่อว่า Block3 ที่อยู่ริมนอกสุด (บริเวณปลายลูกศรที่ 3 จากล่าง) จะเป็นแปลงสำรวจแรกในเขตทับซ้อนที่กัมพูชาให้สัมปทานแก่บริษัทต่างชาติ และผู้นำของประเทศนี้เลือกเป็นบริษัทนน้ำมันฝรั่งเศส </FONT></bR>
ผู้นำกัมพูชากับผู้นำฝรั่งเศสต่างให้คำมั่นจะกระชับความสัมพันธ์ทางการทูต และความร่วมมือด้านการค้าต่อกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยจะมีการก่อตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสองประเทศโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์กับความร่วมมือด้านต่างๆ เรื่องนี้ระบุในคำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศที่ออกในกรุงปารีส

ฝรั่งเศสยังให้สัญญาจะเพิ่มทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษากัมพูชาไปศึกษาต่อในระดับปริญญามหาบัณฑิตในประเทศฝรั่งเศสมากขึ้น และจะจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมทางเศรษฐกิจขึ้นมาอย่างเร็วที่สุด คำแถลงระบุ

ตามรายงานของกัมโบดจ์ซวาร์ สมเด็จฯ ฮุนเซน เดินทางออกจากประเทศตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. เพื่อเยือนฝรั่งเศสและอังกฤษอย่างเป็นทางการ และในโอกาสนี้ได้เข้าร่วมพิธีสวนสนามครบรอบ 220 ปี “การปฏิวัติฝรั่งเศส” ที่จัดขึ้นในวันที่ 14 ก.ค.ด้วย

รายงานของสมาคมชาวเขมรในกรุงปารีส กล่าวว่า สมเด็จฯ ฮุนเซน พยายามอย่างยิ่งที่จะไปเยือนฝรั่งเศสให้ได้ในช่วงนี้ นัยว่าเพื่อสร้างภาพพจน์ของ “ผู้ยิ่งใหญ่” แห่งกัมพูชาที่หลายปีมานี้แปดเปื้อนด้วยการกล่าวหาคอร์รัปชันและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างสูง
<br><FONT color=#cc00cc>แผนที่แสดงที่ตั้งแปลงสำรวจในทะเลกับแปลงสำรวจบนบก ที่กัมพูชาขีดเส้นเอง หลายอาณาบริเวณกลายเป็นเขตพิพาทกับไทย ปัจจุบันเรือสำรวจน้ำมันของบริษัทต่างชาตินับสิบๆ แห่งกำลังปฏิบัติงานในเขตเอ่าวไทย </FONT></bR>
ระหว่างการเยือนกรุงลอนดอนสมเด็จฯ ฮุนเซนกับท่านผู้หญิงจะได้ไปร่วมพิธีสำเร็จการศึกษาโรงเรียนนายร้อยของบุตรชายคนหนึ่งอีกด้วย

นับเป็นการเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการครั้งแรกของสมเด็จฯ ฮุนเซน ในฐานะผู้นำรัฐบาล นับตั้งแต่ขึ้นสู่อำนาจเมือ 23 ปีก่อน

“นายฮุนเซน” เคยเดินทางไปฝรั่งเศสหลายครั้งในช่วงทศวรรษที่ 1980-1990 ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศรัฐบาลที่เวียดนามจัดตั้งขึ้นในกรุงพนมเปญ เพื่อเจรจาสันติภาพกับสมเด็จฯ พระนโรดมสีหนุ อดีตพระประมุขรัฐบาลเขมรสามฝ่ายกัมพูชาประชาธิปไตย ที่สหประชาชาติให้การรับรอง
กำลังโหลดความคิดเห็น