ผู้จัดการรายวัน-- หลังจากรอดูมานานหลายเดือนเวียดนามก็ได้ตัวเลขผลผลิตข้าวปีนี้ออกมา กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทกล่าวว่า ปีนี้เขตที่ราบปากแม่น้ำโขงอู่ข้าวใหญ่ที่สุดของประเทศจะผลิตข้าวเปลือกได้ทั้งสิ้น 20.28 ล้านตัน จาก 18.68 ล้านตันเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งทำให้สามารถส่งออกได้มากกว่าเป้าเดิมที่ตั้งเอาไว้ตอนต้นปี
ตัวเลขจากที่ราบปากแม่น้ำโขงจะทำให้ผลผลิตข้าวทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็น 37.6 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้สามารถส่งออกได้ถึง 4.6 ล้านตัน มากกว่าเป้าหมายเดิม 100,000 ตัน กระทรวงฯ ดังกล่าวประกาศระหว่างการแถลงผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล
อย่างไรก็ตามจะผลิตข้าวได้ครบปริมาณตัวเลขคาดการดังกล่าว เกษตรกรชาวนานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการอีกหลายอย่างเช่น การกำจัดแมลงศัตรูข้าว โรคข้าว และต้องเตรียมงบประมาณในการจัดซื้อข้าวเพื่อส่งออก
ในการผลิตฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาสามารถผลิตข้าวเปลือกได้ถึง 18 ล้านตัน ในนั้นเขตที่ราบแม่น้ำโขงแห่งเดียวผลิตได้กว่าครึ่งหนึ่ง
ปัจจุบันในเวียดนามกำลังเก็บเกี่ยวข้าวฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วงซึ่งคาดว่าจะได้ผลผลิต 10.8 ล้านตัน ส่วนใหญ่จะผลิตได้ในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงเช่นเดียวกัน
ในเขตอู่ข้าวแห่งนี้จะต้องสต๊อคข้าวเอาไว้ราว 4 ล้านตันข้าวสาร เพราะฉะนั้นจะสามารถส่งออกได้ 3.5 ล้านตัน หนังสือพิมพ์แทงเนียนกล่าว
รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ เวียดนาม นายกาวดึกฟ๊าต (Cao Duc Phat) ได้เร่งเร้าให้บรรดาผู้ส่งออกรีบเซ็นสัญญาขายข้าวกับตลาดต่างประเทศเพื่อให้สามารถระบายข้าวได้ทัน ก่อนที่จะเกิดสต๊อคค้างปริมาณมหาศาลซึ่งจะทำให้ข้าวราคาตก
ในการประชุมทางไกลผ่านวิดีทัศน์ในวันพฤหัสบดีก่อน (7 ส.ค.) นายกรัฐมนตรีเวียดนามเหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyen Tan Dung) ได้สั่งการให้สมาคมอาหารเวียดนามภาคเหนือและภาคใต้ ซื้อข้าวให้ได้ 500,000 ตันในเดือน ส.ค.นี้เพื่อเตรียมส่งออก
นายเหวียนวันโหย่ว (Nguyen Van Giau) ผู้ว่าการธนาคารแห่งรัฐเวียดนาม (State Bank of Vietnam) กล่าวว่า พร้อมที่จะปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ส่งออกทุกรายที่พร้อมจะเซ็นสัญญาซื้อขายกับลูกค้าในต่างแดน ซึ่งเป็นเงื่อนไขพิเศษจากปกติที่ SBV ปล่อยกู้ให้เฉพาะธุรกิจนำเข้าหรือส่งออกที่เซ็นสัญญาซื้อขายแล้วเท่านั้น
ธนาคารแห่งรัฐฯ กำลังอยู่ระหว่างปฏิบัติมาตรการการเงินที่เคร่งครัดซึ่งรวมทั้งการควบคุมสินเชื่อ ขณะที่กำลังพยายามหาทางควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ที่สร้างผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในปีนี้
เวียดนามได้กลับมาส่งออกข้าวเป็นครั้งแรกในเดือนนี้ นับตั้งแต่หยุดลงในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา หลังจากราคาในประเทศพุ่งขึ้นสูง เนื่องจากข้าวของแพงทำให้ประชาชนทั่วไปพากันแตกตื่นเกรงว่าข้าวจะขาดแคลนและกว้านซื้อไปกักตุน
รัฐบาลเวียดนามสั่งให้ VietFood หยุดการส่งออกจนถึงเดือน มิ.ย. เพื่อรอดูตัวเลขผลผลิตข้าวทั้งหมดให้แน่นอน เนื่องจากเกรงว่าจะมีไม่พอสำหรับการบริโภคของประชากร 85 ล้านคน
อย่างไรก็ตามเวียดนามกลับมาส่งออกอีกครั้งหนึ่งในขณะที่ราคาในลาดโลกเริ่มลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก ประกาศขยายยอดส่งออกเป็น 10 ล้านตันในปีนี้ จากเดิมเพียง 9.5 ล้านตัน นสพ.แทงเนียนกล่าว
หลายประเทศได้เพิ่มการส่งออกข้าว รวมทั้งข้าวจากกัมพูชาและเวียดนาม ยิ่งจะทำให้ราคาในตลาดโลกตกต่ำลงไปอีก
ในเดือน ส.ค.นี้ข้าวผสมข้าวหัก 5% ซึ่งเป็นข้าวเกรดดีจากเวียดนามจำหน่ายได้ราคา 550-600 ดอลลาร์ต่อตันเท่านั้น ลดลงจาก 650-670 ดอลลาร์ในเดือน ก.ค. และ 840-850 ดอลลาร์ต่อตันในเดือน มิ.ย. ขณะที่เวียดนามห้ามการส่งออก เทียบกับราคาข้าวไทยที่จำหน่ายได้ 1,100-1,200 ดอลลาร์ต่อตันในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ที่ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งขึ้นสูงสุด
แต่วันนี้ข้าวไทยก็ไม่ได้รับการยกเว้นโดยราคาจำหน่ายในขณะ ก.ค.ลดลงเหลือ 710 ดอลลาร์ต่อตัน จาก 800-870 ดอลลาร์ในเดือน มิ.ย. สื่อของทางการกล่าว
จนถึงวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวแล้วรวม 2.65 ล้านตัน แทงเนียนกล่าว
สถานีวิทยุกระจายเสียงเวียดนามรายงานสัปดาห์ที่แล้ว อ้างตัวเลข VietFood โดยระบุว่า เวียดนามกำลังจะส่งออกข้าว 400,000 ตัน ในเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งจะทำให้ยอดจำหน่ายข้าวทั้งหมดตั้งแต่ต้นปี เพิ่มขึ้นเป็น 3.5 ล้านตัน
นายเจิ่นบาฮวาน (Tran Ba Hoan) รองประธาน VietFood กล่าวว่า ปัจจุบันทางการยังไม่ได้ลดเพดานค่าธรรมเนียมส่งออกที่ตั้งเอาไว้ เมื่อครั้งห้ามส่งออกข้าว
นอกจากนั้นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเงินด่งที่สูงลิ่วในปัจจุบันจะทำให้ผู้ส่งออกขาดทุนอย่างยับเยิน นายฮวานกล่าวซึ่งแตกต่างไปจากสิ่งที่ผู้ว่าธนาคารแห่งรัฐให้สัมภาษณ์
สมาคมยังแนะนำให้ผู้ส่งออกหาสินเชื่อเป็นเงินสกุลต่างประเทศ ในการนำไปซื้อข้าวจากชาวนา ทั้งนี้ เนื่องจากมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้ยืมเป็นเงินด่งสกุลท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น 12-15 ดอลลาร์ต่อตัน
ส่วนศาสตราจารย์หวอต่งซวน (Vo Tong Xuan) นักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง กล่าวว่า การส่งออกข้าวในช่วงนี้ จะทำให้ขาดรายได้ที่ควรจะได้ไปอย่างมหาศาล และทำให้ทั้งผู้ส่งออกและชาวนาขาดทุนเนื่องจากต้นทุนที่พุ่งขึ้นสูงจากอัตราเฟ้อของเงิน
นักวิชาการผู้นี้ยังกล่าวอีกว่า การที่ผู้ส่งออกเวียดนามหยุดเซ็นสัญญาซื้อขายในช่วงหลายเดือนมานี้ และปล่อยให้ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวเพียงผู้เดียว จนกระทั่งสามารถจำหน่ายได้ในราคาสูงกว่า 1,000 ดอลลาร์ต่อตัน นับเป็นความผิดพลาด
ศ.ฮวาน กล่าวว่า ทางการเวียดนามประกาศอนุญาตให้ส่งออกข้าวได้อีกครั้งหนึ่งในเดือน ก.ค. ขณะที่ราคาในตลาดเริ่มดิ่งหัวลง เกิดจากการคิดคำนวณสถานการณ์ราคาในตลาดผิดพลาด.