ผู้จัดการรายวัน-- นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์กล่าวว่าปัญหาค่าแรงต่ำและสวัสดิการที่ค่อนข้างจะย่ำแย่ทำให้เวียดนามเข้าสู่วิกฤติการแรงงาน อย่างน้อยที่สุดปัญหานี้เริ่มปรากฏชัดในนครโฮจิมินห์
สวนอุตสาหกรรมทั่วไปรวมทั้งเขตอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อส่งออกหลายแห่งเริ่มขาดแคลนแรงงาน ทำให้นายจ้างซึ่งส่วนใหญ่เป็น นักลงทุนต่างประเทศต้องยอมลดคุณสมบัติของผู้สมัครงานลงแต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีผู้ไปสมัครครบตามจำนวนที่ต้องการ
สวนอุตสาหกรรมบางแห่งไม่มีคนสนใจอ่านประกาศรับสมัครงานเสียด้วยซ้ำ สื่อของทางการเวียดนามรายงานเรื่องนี้ในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ปัญหาเงินเฟ้อซึ่งเกิดจากข้าวของราคาแพงทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานนับล้านๆ ย่ำแย่ลงเป็นลำดับ เวียดนามเผชิญกับปัญหานัดหยุดงานถี่ๆ มาตั้งแต่ต้นปี คนงานรองงานผลิตรองเท้าส่งออกราว 14,000 คน นัดหยุดงานปลายเดือนที่แล้วขอขึ้นค่าแรงและขอให้ปรับปรุงคุณภาพอาหารกลางวัน
การนัดหยุดงานส่วนใหญ่เกิดขึ้นในนครโฮจิมินห์ จ.บิ่งซเวือง (Binh Duong) และ จ.ด่งนาย (Dong Nai) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมในภาคใต้ของประเทศ การนัดหยุดงานในช่วงต้นปีเกิดขึ้นถี่ยิบไม่เว้นกระทั่งในกรุงฮานอย และ นครหายฟ่อง (Hai Phong) ที่อยู่ไกลออกไป
"ตอนนี้หาคนยากมาก" ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกแห่งหนึ่งในสวนอุตสาหกรรมเติ่นตาว (Tan Tao) นครโฮจิมินห์กล่าวกับหนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋ (Tuoi Tre)
ในสวนอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็มีสภาพไม่ต่างกัน ในปัจจุบันต้องไปติดประกาศรับสมัครงานถึง จ.ฝูเอียน (Phu Yen) และ จ.กวางหงาย (Quang Nghai) ในภาคกลาง และ ใต้ลงไปถึง จ.เบ๊นแจ (Ben Tre) ในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขง
"ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป เมื่อก่อนพวกเราเคยนั่งรอให้คนมาสมัครงาน ตอนนี้ต้องออกต่างจังหวัดหาผู้สมัครงาน" ผู้จัดการรายเดียวกันกล่าว
ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการ ปัจจุบันศูนย์แรงงานขององค์การนิคมอุตสาหกรรม (Industrial Park) และเขตอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อส่งออก (Export Processing Zone) สามารถจัดหาคนงานให้กับบรรดานักลงทุนใน EPZ ได้เพียง 30-40% ของจำนวนที่ต้องการเท่านั้น
ในปี 2553 ใน IP ต่างๆ และใน EPZ จะต้องจ้างแรงงานถึง 180,000 คน เตื่อยแจ๋กล่าว
นายเหวียนแท็งตุ่ง (Nguyen Thanh Tung) ผู้อำนวยการศูนย์แรงงานฯ กล่าวว่า คนงานไม่สนใจค่าจ้างในอัตราปัจจุบันอีกต่อไป
นอกจากนั้นเรื่องที่พักก็เป็นปัญหาสำคัญเนื่องจากราว 70% ของคนงานที่ทำงานตามโรงงานในโฮจิมินห์ไปจากต่างจังหวัด โรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้จัดสวัสดิการที่พักสำหรับลูกจ้าง และค่าเช่าบ้านข้างนอกก็แพงมาก
นอกจากนั้นนายจ้างซึ่งเป็นนักลงทุนต่างชาติที่เข้าไปแสวงหาแรงงานราคาถูกในเวียดนามก็ไม่ได้สนใจที่จะปรับปรุงสวัสดิการต่างๆ รวมทั้งสภาพของโรงงาน ขาดความสนใจที่จะปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนงานให้ดีขึ้น ทำให้มีคนงานหายไปจากระบบปีละประมาณ 4% ของจำนวนทั้งหมดราว 250,000 ใน EPZ กับ IP ในเขตโฮจิมินห์ทุกวันนี้
เป็นที่ทราบกันดีว่าค่าจ้างแรงงานเดือนละประมาณ 60 ดอลลาร์ ทำให้คนงานไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในเมืองและนครใหญ่ได้ หากปราศจากสวัสดิการ รวมทั้งที่พักอาศัยด้วย
ปัญหานี้ได้ทำให้คนงานจำนวนมากเริ่มไปแสวงหาการจ้างงานในภูมิลำเนาหรือจังหวัดที่ห่างไกลออกไปซึ่งค่าครองชีพต่ำกว่าในเมืองใหญ่
วิธีแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในปัจจุบันนายจ้างในนครโฮจิมินห์ทำได้เพียงแค่ยอมลดคุณสมบัติที่ต้องการลง แต่ก็ช่วยได้ไม่มากนัก
เจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ของบริษัทหนึ่งในเขตอุตสาหรรมแปรรูปส่งออกเติ่นทวน (Tan Thuan Export Processing Zone) กล่าวว่า หลายบริษัทได้ยอมขยายอายุผู้สมัครงานจากเดิม 18-25 ปี ขณะนี้อายุมากกว่า 30 ปีก็ไปสมัครงานได้
คุณสมบัติด้านการศึกษาปัจจุบันก็ไม่จำเป็นต้องเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายอีกแล้ว แรงงานจำนวนมากในปัจจุบันเรียนไม่จบชั้นประถมปีที่ 6 ด้วยซ้ำ
นายตุ่งผู้อำนวยการศูนย์แรงงานกล่าวว่า คุณสมบัติต่างๆ เหล่านั้นน่าจะยอมรับได้ เนื่องจากใน EPZ ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตรองเท้า ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะมากมาย
เรื่องนี้สอดคล้องกับรายงานการสำรวจชิ้นหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ของแผนกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนครโฮจิมินห์ที่พบว่าปัจจุบันมีโรงงานเพียงประมาณ 10% เท่านั้นที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยเข้าในการผลิต จึงไม่ได้ต้องการแรงงานที่มีทักษะหรือมีความรู้สูงนัก
นายหวูวันฮวา (Vu Van Hoa) ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมและเขตอุตสาหกรรมแปรรูปส่งออกกล่าวว่า ธุรกิจส่วนใหญ่ใน IP และ EPZ โฮจิมินห์เป็นกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งต้องใช้แรงงานจำนวนมากในการแปรรูป
ในแต่ละปีจะมีนักเรียนจบจากสถาบันอาชีวะศึกษาในโฮจิมินห์ราว 20,000 คน แต่ผู้สำเร็จการศึกษาไม่มากที่สนใจจะทำงานตามโรงงานต่างๆ นอกจากนั้นก็ยังขาดการประสานความร่วมมืออย่างเพียงพอ เพื่อให้สถานศึกษาต่างๆ ผลิตแรงงานรองรับเขตอุตสาหกรรมต่างๆ
วันที่ 26 ก.ค.คนงานโรงงานผลิตรองเท้ากีฬาราว 13,800 คน ในเขตอุตสาหกรรมเญินแจ็ก (Nhon Trach) จ.ด่งนาย ได้ผละงานเรียกร้องให้นายจ้างชาวเกาหลีขึ้นเงินเดือนให้เดือนละ 300,000 ด่ง (อัตราแลกเปลี่ยน 26,400 ด่ง= 1 ดอลลาร์) โดยอ้างค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อที่ทะยานขึ้นไปถึง 27%
อย่างไรก็ตามนายจ้างตกลงขึ้นให้ได้เพียง 200,000 ด่งต่อเดือนเท่านั้น ทำให้คนงานนัดหยุดงานต่อรอง
ในเดือน ม.ค.เพียงเดือนเดียวคนงานหลายพันคนได้ทยอยกันนัดหยุดงานกว่า 30 ครั้งใน จ.ด่งนาย (Dong Nai) และนครโฮจิมินห์ ซึ่งทำให้เขตอุตสาหกรรมในภาคใต้เวียดนามเป็นอัมพาต
กรณีพิพาทแรงงานในเวียดนามมีถี่ขึ้นทุกปีในช่วงปีใกล้ๆ นี้ ขณะที่ทุนต่างชาติไหลเข้าประเทศนี้ไม่หยุดยั้ง เพื่อใช้แรงงานราคาถูกในการผลิตสินค้าส่งออก.