xs
xsm
sm
md
lg

เสื้อผ้าส่งออกเขมรดาวดับ-เวียดนามดาวรุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#660099> ภาพถ่ายวันที่ 5 ก.ค.2551 คนงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าชานกรุงพนมเปญเดินทางกลับบ้านหลังเลิกกะทำงาน คนงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นหญิงจากต่างจังหวัด กำลังวิตกเกี่ยวกับอนาคต คนงานเหล่านี้ส่วนใหญ่ต้องรับผิดชอบสมาชิกครอบครัวที่อยู่ข้างหลัง (ภาพ: AFP) </FONT></CENTER>

ผู้จัดการรายวัน -- ไม่ใช่เพียงค่าแรงอย่างเดียวเท่านั้นที่ชี้ขาดอนาคตอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อส่งออกการบริหารจัดการที่ดีระบบสาธารณูปโภคที่มีความพร้อมมากกว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการเพิ่มทางเลือกให้แก่นักลงทุน กรณีระหว่างกัมพูชากับเวียดนาม ซึ่งเป็นสองตลาดแรงงานที่มีพรมแดนติดกันอาจจะเป็นอีกตัวอย่าง

คนงานนับหมื่นในกัมพูชา กำลังปริวิตกเกี่ยวกับอนาคตหลังจากยอดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2550 โรงงานทยอยปิดกิจการลง เพื่อย้ายไปยังแหล่งใหม่ที่มีปัญหาเรื่องแรงงานกับต้นทุนต่างๆ น้อยกว่า อีกหลายแห่งกำลังจะย้ายไปยังประเทศอื่น

คนงานตัดเย็บเสื้อผ้าตามโรงงานในและรอบๆ กรุงพนมเปญ ส่วนใหญ่เป็นหญิง ซึ่งต้องรับผิดชอบอีกหลายชีวิตที่อยู่เบื้องหลัง พวกเธอฝากเงินรายได้เกือบทั้งหมดราว 60 ดอลลาร์ กลับไปยังครอบครัวที่อยู่ต่างจังหวัดห่างไกล การว่างงานกำลังจะสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมติดตามมามากมาย

ส่วนในเวียดนามสถานการณ์แตกต่างกันเป็นคนละเรื่อง เดือนนี้บริษัทตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออก กำลังเร่งเซ็นสัญญาจ้าง

สำหรับการส่งออกตลอดไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ หลังจากอุตสาหกรรมนี้นำรายได้เข้าประเทศกว่า 4,000 บ้านดอลลาร์ในครึ่งปีแรก

ตามตัวเลขของกลุ่มเวียดนามการ์เมนต์ และเท็กซ์ไทล์ (Vietnam Garment and Textile Group) หรือ Vinatex ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ยอดส่งออกของอุตสาหกรรมแขนงนี้เพิ่มขึ้น 20% เป็น 4,190 ล้านดอลลาร์ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีกลาย

ตัวเลขนี้ไม่ได้มาอย่างง่ายดาย แต่หากมีการบริหารจัดการและการเจรจาต่อรอง การสร้างความเชื่อมมั่นให้กับลูกค้าในการขยายตลาดและสร้างตลาดใหม่ๆ กับอีกหลายขบวนการส่งเสริมการขายอยู่ข้างหลัง อันเป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมเดียวกันในกัมพูชายังต้องพัฒนาอีกมาก

ตามรายงานของสำนักข่าววีเอ็นเอ (VNA) ของทางการเวียดนาม กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า คาดว่า ครึ่งหลังของปี 2551 นี้การส่งออกเสื้อผ้าจะขยายตัวอีกมาก และ จะสามารถทำยอดเป้าหมาย 9,000 ล้านดอลลาร์ได้

ปีนี้เวียดนามขยายตลาดเข้าสู่แอฟริกาและตะวันออกกลางอย่างกว้างขวาง แทนการพึ่งพาตลาดหลัก คือ สหรัฐฯ สำหรับกัมพูชาการตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดและจ้างงานมากที่สุดในประเทศ จนถึงปลายปี 2550 มีการจ้างแรงงาน 300,000-350,000 คน แต่ปีนี้ตัวเลขลดลงเรื่อยๆ
<CENTER><FONT color=#660099> วันนี้ยังยิ้มได้ แต่อนาคตของอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าแขวนอยู่บนเส้นด้าย (ภาพ: AFP) </FONT></CENTER>
เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลกัมพูชาได้ออกกฎกระทรวงยกเลิกการจ่ายเงินพิเศษจ้างแรงงานนอกเวลาปกติ และให้เหมาจ่ายเป็นเงินเดือนแทน ไม่มีคำว่า “ค่าทำงานล่วงเวลา” อีก ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดต้นทุนของนายจ้าง โดยหวังว่าจะมีการจ้างงานอย่างยั่งยืนเกิดขึ้น

แต่อุตสาหกรรมนี้กำลังแข่งขันอย่างรุนแรงในตลาดโลก และปัญหามีความสลับซับซ้อนยิ่งกว่านั้น

โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าของนักลงทุนจากจีนกว่า 10 แห่งได้ปิดกิจการในกัมพูชาและย้ายโรงงานไปยังประเทศที่ค่าแรงต่ำกว่าหรือต้นทุนอื่นๆ ต่ำกว่า สถานการณ์เช่นนี้กำลังทำลายขวัญกำลังใจของแรงงานนับแสนๆ

“มีคนบอกว่า ตอนนี้พวกเรามีออร์เดอร์ไม่มากเท่ากับเมื่อก่อน แต่เฉพาะเงินเดือนแล้วหนูมีไม่พอส่งกลับไปให้ทางบ้านแน่” วรรณี (Vanny) แรงงานสาวจากต่างจังหวัด กล่าวกับสำนักข่าวเอฟเอฟพี ปัจจุบันเธอได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือน 60 ดอลลาร์

“หนูกังวลมากไม่มีงานทำที่โรงงานไม่รู้จะอยู่อย่างไร หนูเป็นห่วงครอบครัวด้วย” วรรณี กล่าวพร้อมปาดน้ำตา

ตามตัวเลขเมื่อสิ้นปี 2550 ในกัมพูชามีโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้ากว่า 300 แห่ง จ้างแรงงานราว 350,000 คน เป็นแหล่งที่มาของเงินตราต่างประเทศราว 80% ของประเทศ มากกว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกว่าเท่าตัว

สถานการณ์เปลี่ยนไป

อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าถูกจุดพลุขึ้นโดยสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษที่ 1990 หลังจากสามารถเจรจาทำสัญญากับกัมพูชาให้ประเทศนี้ผ่านกฎหมายแรงงานออกมาใช้ รวมทั้งอนุญาตให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน อนุญาตให้องค์การแรงงานสากล (International Labour Organization) เข้าตรวจสอบสภาพโรงงานและการจ้างงาน ตลอดจนจัดพิมพ์รายงานได้

เพื่อเป็นการตอบแทน สหรัฐฯ ได้ลดภาษีศุลกากรสำหรับนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากกัมพูชา และรับซื้อเสื้อผ้าจากประเทศนี้ราว 70% ของทั้งหมด แต่หลังจากสัญญากับสหรัฐฯ สิ้นสุดลงในปี 2548 อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าในประเทศนี้ก็ยังคงเงื่อนไขการจ้างงานไว้ในระดับสูง

ปีก่อนโน้นอุตสาหกรรมเสื้อผ้าส่งออกของกัมพูชามีการขยายตัวถึง 20% แต่เมื่อปีที่แล้วยอดส่งออกเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 8% เท่านั้น ยอดลดลงฮวบในไตรมาสสุดท้าย อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจที่เกิดจากปัญหาหนี้สูญในสหรัฐฯ

ตามรายงานของธนาคารโลกยอดส่งออกเสื้อผ้าของกัมพูชาเริ่มลดลงอย่างรุนแรงตั้งแต่เดือน ต.ค.อันเป็นผลโดยตรงอย่างชัดเจนจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

ยอดส่งออกลดลงต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปีนี้ ทำให้มูลค่าเหลือเพียง 500 ล้านดอลลาร์ ลดลง 1.44% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ขณะเดียวกัน เจ้าของกิจการกำลังค้นหาแหล่งการผลิตแห่งใหม่ที่มีผลิตภาพดีกว่าและต้นทุนต่างๆ ต่ำกว่าในกัมพูชา ทั้งนี้เป็นรายงานของสหภาพแรงงานกัมพูชา (Cambodia's Free Trade Union) หรือ CFTU

โสก วรรณนาค (Sok Vannak) วัย 27 ปี ซึ่งทำงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าตลอดเวลาเกือบ 10 ปีมานี้ กล่าวกับเอเอฟพี ว่า นายจ้างซึ่งเป็นชาวจีนชอบขู่อยู่ตลอดเวลาว่าจะย้ายโรงงานไปเวียดนาม ซึ่งค่าแรงถูกกว่า

“พวกเขาเตือนเราตลอดเวลาฉันกลัวว่ามันจะเป็นความจริง” นางวรรณนาค กล่าว

เธอกล่าวอีกว่า ที่บ้านไม่มีนา ไม่ที่ดินสำหรับเพาะปลูก ถ้าหากไม่ได้ทำงานที่โรงงานทุกคนทางบ้านก็จะลำบากมากในการเอาชีวิตรอด
<CENTER><FONT color=#660099>คนงานหญิงที่เข้าไปทำงานในเมืองหลวง มีรายได้เป็นเงินเดือนๆ ละ 65 ดอลลาร์ขาดตัว พวกเธอรวมกันเฉลี่ยค่าเช่าห้อง กินอยู่อย่างมัธยัส เพื่อจะมีเงินเหลือส่งกลับบ้าน หากปิดโรงงานก็ไม่รู้จะอยู่อย่างไร (ภาพ: AFP) </FONT></CENTER>
นายกาง มุนิกา (Laing Monika) ผู้จัดการที่สมาคมผู้ประกอบการตัดเย็บเสื้อผ้าแห่งกัมพูชา กล่าวว่า อุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมที่เคลื่อนย้ายอยู่บ่อยๆ หลายบริษัทอาจจะย้ายโรงงานไปเวียดนาม บังกลาเทศ หรืออินเดีย

“ต้นทุนการผลิต-- น้ำมันกับไฟฟ้าในกัมพูชามีราคาสูง การเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกของประเทศตกอยู่ในอันตราย” นายมุนิกา กล่าว

เจ้าของโรงงานได้ร้องทุกข์ต่อทางการมาตลอดเกี่ยวกับการนัดหยุดงานที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นบ่อย รวมทั้งการจัดตั้งสหภาพแรงงานที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดเพื่อต่อรองกับนายจ้าง แต่คนงานกล่าวว่าทุกอย่างที่ทำทำเพื่อให้ได้ค่าจ้างที่ยุติธรรมเท่านั้น

ปัญหาไม่ได้มีแค่นั้น ปีที่แล้วคนงานตามโรงงานหลายแห่งลาออกจากงานราว 27,000 คน ในนั้นจำนวนมากเลือกที่จะไปหางานใหม่ในเขตชนบท ซึ่งแม้ว่าจะได้ค่าจ้างน้อยกว่า แต่ค่าครองชีพก็ต่ำกว่าในกรุงพนมเปญ นายเจีย มุนี (Chea Mony) ประธานสภาพแรงงานกัมพูชากล่าว

เมื่อเดือนที่แล้วสื่อในกัมพูชา รายงานว่า คนงานจำนวนมากทยอยลาออก เพื่อลงสู่ท้องไร่ท้องนาในปีที่ข้าวขายได้ราคาดีและเจ้าของโรงงานหลายแห่งไม่สามารถหาแรงงานทดแทนได้

ไกลออกไปจากประเทศนี้ ปีหน้าการแข่งขันในตาดโลกยิ่งจะสูงขึ้นไปอีก เมื่อมาตรการสกัดกั้นการนำเข้าเสื้อผ้าที่ผลิตจากจีนของสหรัฐฯ หมดอายุลง

“จีนกับเวียดนามยังคงเป็นคู่แข่งของพวกเรา และเราก็ยังไม่มีอะไรที่เป็นพิเศษเสนอให้แก่ผู้ซื้อ ซึ่งทำให้เราเป็นห่วงอย่างยิ่ง” นายอูม เมียน (Oum Mean) แห่งกระทรวงแรงงานกัมพูชากล่าว

สูตรสำหรับแก้ปัญหานี้ก็ยังเป็นสูตรเดิมที่ปฏิบัติได้ยาก คือ จะต้องแข่งขันให้ได้ ต้องเพิ่มผลิตภาพ กับคุณภาพ และเผยแพร่ชื่อเสียงของกัมพูชาออกไป ในฐานะเป็นประเทศที่มาตรฐานแรงงานสูงกว่า เจ้าหน้าที่คนเดียวกันกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น