เบ๊าะกะเลย์-- รัฐบาลทหารพม่ากำลังให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่ราษฎรในเขตประสบภัยไซโคลนนาร์กิสที่พัดถล่มต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา แต่มีเงื่อนไขว่าเหยื่อพายุเหล่านั้นจะต้องใช้คืนทุกสิ่งทุกอย่างที่ให้ไปแบบเดียวกับการใช้หนี้
สัปดาห์ที่แล้วรัฐบาลทหารอนุญาตให้สื่อในประเทศเดินทางเข้าสูพื้นที่ประสบภัยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ไซโคลนพัดถล่มเขตที่ราบปากแม่น้ำอิรวดีเมื่อวันที่ 2 พ.ค.เป็นต้นไปมา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 138,000 คน และบาดเจ็บอีกหลายหมื่นคน
หมู่ล้านหลายแห่งในเขตเมืองเบ๊าะกะเลย์ (Bogalay) ตรงปากแม่น้ำอิรวดีได้ถูกพายุโหมกระหน่ำนำคลื่นจากทะเลเบงกอลเข้ากวาดผู้คนหายไปทั้งหมู่บ้าน
เจ้าหน้าที่ทางการบอกกับตัวแทนสื่อต่างๆ ระหว่างการเดินทางครั้งนี้เกี่ยวกับแผนการให้การช่วยเหลือแก่ชาวนาในเขตภัยพิบัติ โดยยืนยันว่ารัฐบาลได้ช่วยให้ชาวนากลับไปทำนาได้แล้ว และช่วยชาวประมงกลับไปยังเรือหาปลา แต่ก็ย้ำว่าคนเหล่านั้นจะต้องชดใช้ความช่วยเหลือดังกล่าวคืนให้แก่ทางราชการ
"ถ้าหากทุกอย่างได้ไปเปล่าๆ ค่าของมันก็จะต่ำมาก แต่ถ้าหากสิ่งไหนจะต้องจ่ายคืน ก็จะทำให้พวกเขาทำอย่างดีที่สุด นี่คือระบบ" สำนักข่าวเอเอฟพีอ้างคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลที่ไม่ประสงค์ให้ระบุชื่อ
"รัฐบาลจะแจกจ่ายทุกอย่างไปภายใต้ระบบใช้คืน ไม่เช่นนั้นการควบคุมการให้ความช่วยเหลือก็จะเป็นไปอย่างยากลำบากยิ่ง" เจ้าหน้าที่คนเดียวกันกล่าว
ชาวพม่าที่ปะสบภัยราว 2.4 ล้านคนกำลังพยายามรวบรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ เพื่อให้ดำเนินชีวิตได้ต่อไปตามปกติหลังจากเวลาผ่านไป 3 เดือนนับตั้งแต่พายุนาร์กิสพัดถล่ม
ชาวนาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องรับสินเชื่อ แต่ก็ไม่ทราบว่าจะใช้คืนอย่างไร
"เราได้รับเครื่องปั่นไปกับน้ำมันดีเซลเป็นสินเชื่อจากรัฐบาล ถึงกระนั้นเราก็ยังต้องการความช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับสินเชื่อจากธนาคาร ซึ่งจะทำให้เรามีเงินเป็นค้าจ้างลูกจ้างช่วยทำนาได้" นายจีวิน (Kyi Win) ชาวนาวัย 57 ปี ที่หมู่บ้านนอกเมืองเบ๊าะกะเลย์กล่าวกับเอเอฟพี
แต่เจ้าหน้าที่ทางการกล่าวว่าบัดนี้ชาวนาพร้อมแล้วที่จะเริ่มดำเนินชีวิตต่อไปด้วยตัวเอง
"หน่วยโครงการอาหารโลกได้แจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวให้แก่หมู่บ้านต่างๆ ถึงแม้พวกเขาจะหยุดแจกข้าว ชาวบ้านก็จะสามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยรายได้ของตัวเอง" นายซอเมียวยู้นต์ (Saw Myo Nyunt) เจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นประจำหมู่บ้านแห่งนั้นกล่าว
ความเห็นของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ขัดแย้งอย่างมากกับคำแถงของรัฐบาล รวมทั้งเจ้าหน้าที่สหประชาชาติที่เตือนว่าชาวนาจำนวนมากยังไม่สามารถทำนาได้ในปีนี้
ชาวนาในเขตที่ราบปากแม่น้ำอิรวดีบอกกับสำนักข่าวเอเอฟพีเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนนี้ว่า ผืนนาราว 1 ใน 3 ของทั้งหมดกำลังจะถูกปล่อยให้ว่าง เหตุผลที่ง่ายที่สุดก็คือเนื่องจากชาวนาที่เคยทำนาได้เสียชีวิตไปในวาตภัยและไม่มีผู้ใดทำต่อ
แต่อีกหลายคนที่ได้รับการช่วยเหลือ รวมทั้งเมล็ดพันธุ์ข้าวกล่าวว่า ราวครึ่งต่อครึ่งของเมล็ดข้าวที่ได้รับบริจาคไปไม่ยอมงอกเป็นต้นกล้า และวัวควายสำหรับไถนาที่นำไปจากเขตภูเขาก็ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ในเขตทุ่งนาปากแม่น้ำได้
"ถ้าหากสหประชาชาติหยุดแจกจ่ายข้าวและยุติการช่วยเหลือต่างๆ พวกเราจะตกอยู่ในความยุ่งยากอย่างแน่นอน" นางโมว้า (Moe Wah) ชาวนาวัย 24 ปีกล่าว
"ตอนนี้ฉันไม่มีงานทำและต้องพึ่งพาข้าวช่วยเหลือจากโครงการอาหารโลก พวกเราทุกคนต้องการมีงานทำอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ชีวิตได้คืนสู่ปกติ เราสูญไปทุกอย่างในพายุ" นางว้ากล่าว
ไม่ใช่แต่ชาวนานเท่านั้นที่กำลังสงสัยต่อระบบการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาล
บริษัทก่อสร้างหลายต่อหลายแห่งได้บริจาคบ้านไม้หลังใหม่จำนวน 100 หลัง แก่ผู้ประสบภัยในหมู่บ้านแถบนั้น แต่ผู้รับไม่เคยได้รับเอกสารอะไรที่บ่งบอกว่าเป็นเจ้าของบ้าน และไม่ทราบว่าจะได้รับอนุญาตให้ใช้ทำบ้านต่อไปได้อีกนานเท่าไร
ส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับบริจาคบ้านจะเป็นหญิงหม้ายที่อยู่กับลูกๆ หลังจากสูญเสียสามีไปในวาตภัย ขณะที่บ้านหลังอื่นๆ ที่สร้างขึ้นอย่างฉุกละหุกในอาณาบริเวณตั้งหลักแหล่งนั้น สร้างด้วยโครงไม้ไผ่ ใช้ผ้ายางมุงหลังคาและทำฝา
"ฉันมีลูกหกคนแต่เสียไปห้าคนในพายุ ตอนนี้ฉันอยู่กับหลานในบ้านหลังใหม่นี้ ฉันหมดทุกสิ่งทุกอย่างไปกับพายุ" นางเอเต็ง (Aye Thein) วัย 63 ปีกล่าวกับเอเอฟพีทั้งน้ำตา ขณะที่เพื่อนบ้านใกล้เคียงกันไม่มีใครทราบว่าจะได้อยู่บ้านหลังใหม่ไปอีกนานเท่าไร
"ฉันไม่แน่ใจว่าจะได้เป็นเจ้าของบ้านหลังนี้หรือไม่.. ก่อนนี้เราเคยอาศัยในเต็นท์มาก่อน สามีฉันจับสลากได้บ้านหลังนี้" คุณแม่วัย 25 ปีคนหนึ่งกล่าว
ในขณะที่ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตกำลังทำให้ราษฎรที่อาศัยในบ้านหลังใหม่เอี่ยมพากันเป็นทุกข์ คนอื่นๆ ที่ยังอาศัยอยู่ตามเต็นท์ที่ทำขึ้นเองก็กล่าวว่า พวกตนคงได้แต่ฝันเท่านั้นที่จะได้อยู่บ้าน
นางวินเต็ง (Win Thein) คุณแม้วัย 38 ปีที่เพิ่งจะให้กำเนิดลูกคนที่ 5 ตอนไซโคลนนาร์กิสพัดถล่มบอกว่า เธอกับเด็กๆ ยังคงต้องอาศัยในเต็นท์ที่รั่วแล้วรั่วอีกต่อไป
"เราไม่มีอะไรเหลือ เราได้กินเมื่อมีคนเอาอาหารไปแจกจ่าย เราจะได้กินเมื่อไปได้ไปทำงานที่แหล่งก่อสร้างสักแห่งหนึ่ง" นางเต็งกล่าวขณะหอบลูกสาววัย 3 เดือนเอาไว้ในอ้อมอก
"แน่นอน เราอยากมีบ้านใหม่ เราไม่มีที่จะอยู่ได้ในยามฝนตก" ชาวบ้านรายเดียวกันกล่าว.