xs
xsm
sm
md
lg

ผู้สังเกตการณ์ EU-NGOs ตอกเลือกตั้งเขมรตุกติก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#3366FF> นายมาร์ติน คัลลาแนน (Martin Culallnan) ผู้อำนวยการคณะกรรมการสังเกตการณ์การเลือกตั้งสหภาพยุโรป แถลงผลการปฏิบัติงานเมื่อวันอังคาร (29 ก.ค.) พร้อมกับหน่วยพิทักษ์สิทธิมนยุษยชนแห่งเอเชีย ชี้ว่ามีหลายอย่างที่การเลือกตั้งวันอาทิตย์ยังไม่ได้มาตรฐานประชาธิปไตยและสื่อมีการทุจริต ส่วนจะยอมรับหรือไม่รับผลที่ออกมานั้นเป็นสิทธิ์ของชาวกัมพูชา (ภาพ: AFP) </FONT></CENTER>

ผู้จัดการออนไลน์-- แม้ว่าการเลือกตั้งกัมพูชาวันที่ 27 ก.ค. จะสงบเรียบร้อยดีกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ก็ยังขาดมาตรฐานประชาธิปไตยระดับโลกและขาดความน่าเชื่อถือโดยพื้นฐานอันเนื่องมาจากการทุจริต เจ้าหน้าที่ผู้สงเกตุการณ์ระหว่างประเทศรวมทั้งคณะผู้แทนจากสหภาพยุโรป เปิดแถลงในกรุงพนมเปญเมื่อวันอังคาร (29 ก.ค.)

ผลการนับคะแนนที่ชัดเจนยิ่งขึ้นชี้ว่าพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People's Party) อาจจะได้คะแนนมากถึง 60% แต่ปมด่างก็มีมากมาย รวมทั้งการที่รัฐบาลผูกขาดสื่อ ไว้ในมือโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสื่อโทรทัศน์ รวมทั้งมีการลบรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งออกจากบัญชีรายชื่ออย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถลงคะแนนได้

"การรณรงค์หาเสียงโดยทั่วไปดำเนินไปอย่างสงบและสันติ และสภาพแวดล้อมทั่วไปเปิดกว้างยิ่งกว่าทุกครั้งก่อนหน้านี้" นายมาร์ติน คัลลานัน (Martin Callanan) หัวหน้าคณะกรรมการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ที่มีเจ้าหน้าที่จำนวน 130 คน ที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในกัมพูชากล่าว

แต่หัวหน้าคณะสังเกตการณ์จากยุโรปก็กล่าวว่า เป็นสิทธิ์อย่างเต็มที่ของชาวกัมพูชาที่จะยอมรับหรือไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งนี้ คณะสังเกตการณ์จะจัดทำรายงานรายละเอียดในเดือน ตค.นี้ พร้อมข้อเสนอแนะ

อย่างไรก็ตามกลุ่มเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งที่เสรี (Asian Network For Free Elections) หรือ ANFREL ได้เรียกร้องให้มีการสอบสวนและมีการลงโทษอย่างรุนแรงต่อการทุจริตเลือกตั้ง

"การเลือกตั้งอาจจะเป็นไปอย่างเสรีแต่ไม่ยุติธรรมเลย" สมศรี หาญอนันตสุข หัวหน้าหน่วยสังเกตการณ์การเลือกของ ANFREL ที่เข้าปฏิบัติงานในกัมพูชากล่าว

"ปัญหาใหญ่คือ การลบรายชื่อผู้มีสิทธิ์ออกจากบัญชีผู้ใช้สิทธิ์ และควรจะมีการจำกัดการใช้เงินในการหาเสียง และการที่พรรครัฐบาลควบคุมสื่อเอาไว้ในมือ" เจ้าหน้าที่ ANFREL กล่าว


นายเขียว กัญฤทธิ์ (Khieu Khanarith) โฆษก CPP กล่าวว่า พรรคน่าจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึง 90 คน ในสภา 123 ที่นั่งซึ่งมากเกินไปสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลเพียงพรรคเดียวที่มีเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด

นักวิเคราะห์เป็นห่วงว่าการมีเสียงข้างมากเด็ดขาดของพรรครัฐบาล จะส่งผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยที่ง่อนแง่มาโดยตลอด ทำให้สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถตรวจสอบได้

พรรคการเมืองเสียงข้างน้อยจำนวน 4 พรรคได้ประกาศผนึกกำลังกันไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งนี้ และเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ (National Election Commission) ชะลอการประกาศรับรองผลออกไป และจัดการเลือกตั้งใหม่ในกรุงพนมเปญ
<CENTER><FONT color=#3366FF> นายสมรังสีผู้นำฝ่ายค้านประกาศผนึกกำลังกับพรรคเล็ก ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งและเรียกร้องให้มีการจัดเลือกตั้งขึ้นใหม่ (ภาพ: AFP) </FONT></CENTER>
นายสมรังสี หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดกล่าวหาว่า มีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงถูกลบชื่อออกจากบัญชีไปราว 200,000 คน โดย CPP กระทำการดังกล่าวให้มีหลักประกันว่าจะได้รับชัยชนะที่เด็ดขาดเพื่อจัดตั้งรัฐบาลเพียงพรรคเดียว

นายกรัฐมนตรีกัมพูชาคือ สมเด็จฯ ฮุนเซน ซึ่งปัจจุบันอายุ 55 ปี ประกาศเมื่อปีที่แล้วจะอยู่ในอำนาจจนถึง 90 ปีหรือจนกว่าประชาชนจะไม่เลือกให้ทำหน้าที่อีกต่อไป

องค์กรสิทธิมนุษยชนที่เฝ้าจับตาบทบาทของ CPP มาเป็นเวลานานหลายปีกล่าวว่า รัฐบาลชุดใหม่อาจจะใช้เสียงข้างมากเด็ดขาดแก้กฎหมาย ยกเลิกการให้เอกสิทธิ์คุ้มครองแก่สมาชิกสภาผู้แทน ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้

การมีอำนาจสิทธิขาดจะทำให้รัฐบาลสมเด็จฯ ฮุนเซน แทรกแซงอำนาจตุลาการและไม่เอาใจใส่ต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งในปัจจุบันผู้นำรัฐบาลมีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายหรือถอดถอนผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการทั้งมวลได้ทันที

"เราวิตกว่าประชาธิปไตยในประเทศจะหดลงเรื่อยๆ" นางเก๊ก กาลาบรู (Kek Galabru) ผู้อำนวยการกลุ่ม Licadho องค์กรเอกชนพิทักษ์สิทธิมนุษยชนในกัมพูชากล่าว

สมเด็จฯ ฮุนเซน มีประวัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจบาตรใหญ่ในการบริหารจัดการ แทนการใช้อำนาจตามกฎหมาย มาตลอด และพรรค CPP ต้องสงสัยว่าจะอยู่เบื้องหลังการสังหารโหดคู่แข่งทางการเมืองในข่วงกว่า 10 ปีมานี้

เจ้าหน้าที่พรรคถูกกล่าวว่าใช้กำลังในการขับไล่ราษฎรออกจากที่ดินทำกิน เพื่อยึดเอาไปให้นักลงทุนต่างชาติเช่า

พรรคประชาชนกัมพูชาที่กลายสภาพจาก "พรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา" อันเป็นพรรคคอมมิวนิสต์สายโซเวียต พ่ายแพ้การเลือกตั้งที่องค์การสหประชาชาติจัดขึ้นในปี 2536

แต่นายฮุนซนได้ใช้การข่มขู่ใช้กำลังทหารและตำรวจในมือในการต่อรอง จนกระทั่งได้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคฟุนซินเปค ของกรมพระนโรดมรณฤทธิ์ ทำให้กัมพูชามีนายกรัฐมนตรีถึง 2 คนพร้อมกัน

อีกเพียง 4 ปีต่อมาก่อนครบวาระ นายฮุนเซนได้ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากก่อนจะมีการเลือกตั้งปี 2541 ส่วนใหญ่เป็นผู้สนับสนุนพรรคฟุนซินเปก

พรรค CPP ชนะการเลือกตั้งท่วมท้วนท่ามกลางการกล่าวหาว่ามีการทุจริตอย่างกว้างขวาง นำไปสู่การประท้วงใหญ่ในกรุงพนมเปญและในอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ รัฐบาลได้ปราบปรามการประท้วงอย่างรุนแรงจนสงบลงราบคาบ

การเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านี้จัดขึ้นตามวาระในปี 2546 แต่มีการใช้ความรุนแรงต่างๆ น้อยลง หากเทียบกับ 5-6 ปีก่อนหน้านั้น

แต่ CPP ไม่ได้เสียงข้างมากเด็ดขาดได้ จึงต้องเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคฟุนซินเปกอีกครั้งหนึ่ง ทำให้กัมพูชาตกอยู่ในสภาพไร้รัฐบาลบริหารประเทศนานข้ามปีระหว่างการเจรจาอันยืดเยื้อ

การเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์นี้แทบจะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงอะไร ซึ่งกลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชนอธิบายว่า เนื่องจาก CPP แก่กล้าพอและปราบปรามฝ่ายตรงข้ามจนราบคาบแล้ว
<CENTER><FONT color=#3366FF> ผูกขาดอีก 5 ปี-- ภาพขนาดใหญ่ของสมเด็จฯ ฮุนเซน ตั้งอยู่ใกล้กับอาคารหลังหนึ่งที่กำลังก่อสร้าง สะท้อนให้เห็นความฟู่ฟ่าของเศรษฐกิจ แต่นักวิเครทะห์ถามว่ามีสักกี่คนที่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตในช่วงหลายปีมานี้ ขณะที่ 30% ของประชากร 14 ล้านคนยังคงยากจนติดดิน (ภาพ: AFP) </FONT></CENTER>
ในการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์นี้ พรรคฟุนซินเปกไม่ใช่คู่แข่งของ CPP อีกต่อไป จากความผิดพลาด ทำให้กรมพระรณฤทธิ์ต้องลี้ภัยไปพำนักอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ภายในพรรคเกิดความแตกแยก ผู้นำพรรคอีกกลุ่มหนึ่งทำการยึดอำนาจเงียบ และนำฟุนซินเปกเข้าเป็นพันธมิตรทางการเมืองกับ CPP ต่อไป

นักวิเคราะห์กล่าวว่าการที่รัฐบาลควบคุมและผูกขาดการใช้สื่อวิทยุโทรทัศน์นั้น ได้ทำให้การเปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นไปได้ยาก ซึ่งจะทำให้การฉ้อราษฎร์บังหลวงแผ่ลามออกไปอีก

ปัจจุบันกัมพูชาอยู่ในอันดับต้นๆ ประเทศที่คอร์รัปชันมากที่สุดในโลกอยู่แล้ว

นายเล่ามงเฮย (Lao Mong Hey) นักวิจัยอาวุโสแห่งสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเอเชีย (Asian Human Rights Commission) กล่าวว่าผู้สงเกตการณ์ระหว่างประเทศโดยทั่วไปพากันหลงใหลได้ปลื้มกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในกัมพูชาไม่กี่ปีมานี้ แต่ไม่รู้ว่ามีใครบ้างสักกี่คนที่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตดังกล่าว

งานวิจัยของคณะกรรมการฯ ได้ระบุว่า มีเพียงชาวกัมพูชาหยิบมือเดียวกับนักลงทุนต่างชาติเพียงน้อยนิดที่กอบโกยความร่ำรวยในเศรษฐกิจกัมพูชา ขณะที่ 30% ของประชาชากร 14 ล้านคน ยังมีชีวิตที่ยากลำบาก มีฐานะยากจนต่ำกว่ามาตรฐานของสหประชาชาติ อาศัยอยู่กับรายได้เพียงไม่พึง 50 เซ็นต์ต่อวัน

แต่นางเจีย วันนาถ (Chea Vannath) นักวิเคราะห์การเมืองกัมพูชากล่าวว่า เธอกลับมองด้วยความรู้สึกในแง่ดี

"เมื่อผู้นำมีประสบการการณ์และความเชื่อมั่นใจมากขึ้น พวกเขาอาจจะอยากเป็นรัฐบุรุษและเปิดประเทศไปสู่ประชาธิปไตยก็ได้--ใครจะไปรู้" นักวิเคราะห์คนเดียวกันกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น