ผู้จัดการรายวัน-- รัฐบาลเวียดนามได้อนุมัติงบประมาณผูกพันรวม 18,700 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 617,100 ล้านบาทเพื่อพัฒนาการคมนาคมขนส่งในกรุงฮานอยทั้งระบบ เกือบครึ่งหนึ่งในนั้นทุ่มลงไปเพื่อก่อสร้างการขนส่งระบบรางจำนวน 6 สาย ขณะที่ตัวเมืองหลวงกำลังจะมีขนาดใหญ่โตขึ้นอีกเท่าตัว
นายกรัฐมนตรีเวียดนามนายเหวียนเติ๋นยวุ๋ง (Nguyen Tan Dung) ได้เซ็นอนุมัติงบประมาณดังกล่าวในวันพุธ (9 ก.ค.) โดยมีผลผูกพันตั้งแต่นี้ไปจนถึงปี 2563 ทางการแจ้งเรื่องนี้บนเว็บไซต์ของรัฐบาลในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
งบประมาณมหาศาลนี้จะใช้ในการก่อสร้างและพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งครบวงจรทั้งภายในกรุงฮานอยและเชื่อมกับเมืองและจังหวัดปริมณฑลซึ่งได้แก่ จ.ห่าไต (Ha Tay) บั๊กนิง (Bac Ninh) หวิงฟุก (Vinh Phuc) ฮุงเอียน (Hung Yen) บั๊กซยาง (Bac Giang) กับ จ.ถาย-เงวียน (Thai Nguyen)
รัฐบาลเวียดนามได้อนุมัติเงินงบประมาณผูกพัน 8,600 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาการขนส่งระบบรางในเมือง ซึ่งรวมทั้งระบบรถไฟฟ้าทั้งหมด 6 สาย อีก 6,880 ล้านดอลลาร์สำหรับพัฒนาระบบถนน รวมทั้งไฮเวย์ในเขตเมืองหลวง อีก 856.2 ล้านดอลลาร์สำหรับพัฒนาการขนส่งทางน้ำ กับ 862 ล้านดอลลาร์ สำหรับพัฒนาท่าอากาศยาน
ฮานอยจะจัดสรรที่ดินรวม 13,800 เฮกตาร์ (กว่า 86,000 ไร่) หรือ 15% ของพื้นที่เมืองหลวงทั้งหมด ในการก่อสร้างสำนักงาน ที่ตั้งแหล่งอำนวยความสะดวกให้แก่การจราจรในนั้น 1,100 เฮกตาร์ (กว่า 6,800 ไร่) เป็นพื้นที่สถานีรถไฟ
ด้วยแผนพัฒนาดังกล่าว ภายในปี 2563 ระบบขนส่งมวลชนกรุงฮานอย จะสามารถสนองความต้องการได้ราว 35-45% ของทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ประมาณรถจักรยานยนต์ที่ใช้เป็นพาหนะหลักในการคมนาคมในปัจจุบันลดลงเหลือประมาณ 30% รัฐบาลกล่าวผ่านทางเว็บไซต์รัฐบาลกล่าว
แผนพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งยังรวมถึงการปรับปรุงวงเวียนและสี่แยกทั่วเมืองหลวง ตลอดจนจะมีการก่อสร้างวสะพานข้ามแม่น้ำแดงอีก 4 แห่ง และ ขยายถนนสายหลักหลายสายในเขตเมือง ให้เป็นขนาด 4-6 ช่องจราจร
กรุงฮานอยกำลังอยู่ระหว่างการขยายตัวเมืองโดยรวมเอาพื้นที่หลายอำเภอของจังหวัดปริมณฑลเข้าในเขตบริหารปกครอง โครงการนี้ได้รับความเห็นชอบจากในหลักการจากรัฐสภาในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา
นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้สั่งการปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แผนการรวมอาณาเขตเมืองหลวงใหม่นี้จะต้องแล้วเสร็จภายใน 2 ปี เพื่อนำกลับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะปีฉลองครบรอบปีที่ 1,000 การก่อตั้งนครทางลอง (Thang Long) ซึ่งก็คือที่ตั้งกรุงฮานอยในปัจจุบัน
เดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว บริษัทที่ปรึกษาจากฝรั่งเศสแห่งหนึ่ง ได้เซ็นสัญญากับทางการกรุงฮานอยอย่างเป็นทางการ เพื่อสำรวจศึกษาและออกแบบระบบรถไฟฟ้าชุมชนสายแรกของเมืองหลวง โดยความช่วยเหลือของรัฐบาลฝรั่งเศส สำหรับก่อสร้างโครงการที่เริ่มเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่ปีที่แล้ว
นับเป็นโครงการที่ 2 สำหรับรถไฟฟ้าในเวียดนามที่กำลังคืบหน้าไปอย่างเป็นรูปธรรม ถัดจากรถไฟฟ้าสายแรกของนครโฮจิมินห์ที่เริ่มการก่อสร้างแล้ว
เวียดนามซึ่งมีประชากร 85 ล้านคน ต้องการระบบขนส่งมวลชนที่ทันสมัยอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตเมือง และ นครใหญ่ที่ติดขัดอย่างหนัก เพื่อลดการสูญเสีย ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วมาก
ตามรายงานของสำนักข่าววีเอ็นเอ (Vietnam News Agency) ซึ่งเป็นสำนักของทางการเวียดนาม บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล คอนซัลติง เอ็นยิเนียริ่ง (International Consulting Engineering) จะเป็นผู้ศึกษาและออกแบบก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ากรุงฮานอย โดยได้รับมอบหมายจากองค์การขนส่งเขตเมืองและระบบรางจากฝรั่งเศส Systra ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาล
ระบบรถไฟฟ้าชุมชนสายนี้มีความยาวเพียง 12.5 กม.มีทั้งส่วนที่มุดใต้ดินกับส่วนที่โผล่ขึ้นบนพื้นดิน โดยเริ่มจากสถานีรถไฟกลางกรุงฮานอย มุ่งออกสู่เขต อ.เญิน (Nhon) ในย่านชานเมือง ประกอบด้วย 15 สถานี จะใช้เงินทุนทั้งสิ้น 511.2 ล้านยูโร
งบประมาณ 280 ล้านยูโร หรือประมาณ 54% จะเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากรัฐบาลฝรั่งเศส
รถไฟฟ้าสายแรกนี้แบ่งเป็นเส้นทางบนพื้นดิน 9.6 กม.และอีก 2.9 กม.เป็นช่วงใต้ดิน ประกอบด้วยสถานีบนพื้นดิน 11 แห่ง ใต้ดิน 4 แห่ง หน่วยงานที่รับผิดชอบได้เลือกตู้โดยสารขนาดความยาว 19-20 ม.สามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 80 กม/ชม.
เข้าใจกันว่า รถไฟฟ้าสายแรกของกรุงฮานอยนี้ จะใช้รถไฟฟ้าและระบบรถไฟฟ้าของ Systra ซึ่งเป็นผู้นำระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนขนาดเล็กอีกรายหนึ่งของโลก
ตามแผนการเดิม รถไฟฟ้าสายนี้จะใช้งบประมาณก่อสร้างเพียง 504.22 ล้านยูโร (633.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยเป็นเงินกู้จากรัฐบาลฝรั่งเศส 200 ล้านยูโร จากองค์การเพื่อการพัฒนาฝรั่งเศส (French Development Agency) 80 ล้านยูโร เงินงบประมาณของรัฐอีก 225 ล้านยูโร.