“อภิรักษ์” โชว์ 5 ยุทธศาสตร์พัฒนา กทม.มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค เผย ทำแผนไม่ได้หวังผลทางการเมืองแต่เป็นสิทธิอันชอบธรรมของผู้ว่าฯกทม.
เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 28 พ.ค.ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ถ.วิภาวดีรังสิต นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวแสดงวิสัยทัศน์การพัฒนากรุงเทพมหานคร ให้เป็นมหานครที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน 12 ปี และแผนบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2552-2555 โดย นายอภิรักษ์ ได้เสนอยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเมือง 5 ด้าน ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานแบบบูรณาการเพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางภูมิภาค โดยมีการเชื่อมโยงกับจังหวัดปริมณฑล เพื่อวางแผนทางเศรษฐกิจ การใช้ประโยชน์ที่ดิน การคมนาคมขนส่ง และสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการ โดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการภูมิภาค คณะกรรมการพัฒนาภาคมหานครแบบบูรณาการ ซึ่งจัดทำนโยบายในภาพรวม มีคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ เพื่อประสานงานการพัฒนา รวมทั้งให้มีการก่อตั้งโครงการพื้นฐานสาธารณะภูมิภาค ตลอดจนการก่อตั้งองค์การขนส่งนครหลวง เช่นเดียวกับกรุงลอนดอน โดยจะเป็นการบริหารร่วมกันระหว่างกทม.และปริมณฑล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการกระจายสินค้าและความเชื่อมโยงในห่วงโซ่มูลค่า
นายอภิรักษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงระดับต่างๆ เช่น การวางผังเมืองเฉพาะพื้นที่หัวตะเข้ และลาดกระบัง รองรับการขยายตัวของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ย่านมักกะสันรองรับแอร์พอร์ตลิงก์ และผังเมืองหมอชิต ท่าพระ รองรับด้านการขนส่ง 2.ยุทธศาสตร์เสริมสร้างบรรยากาศและพัฒนาศักยภาพเมือง โดยจัดตั้งหน่วยงานพัฒนาเศรษฐกิจ กทม. เพื่อจัดสัมมนาและประชุมทางการค้า ให้เงินอุดหนุนการเข้าร่วมแสดงสินค้าที่จัดขึ้นในต่างประเทศและเป็นที่ปรึกษาแก่ SMEs ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่ง กทม.เพื่อเพิ่มจำนวนแรงงานที่มีทักษะ 3.ยุทธศาสตร์เสริมสร้างเสน่ห์กรุงเทพฯ ให้สวยงามร่มรื่นน่าอยู่ 4.ยุทธศาสตร์ประชาชนอยู่ดีมีสุข มีวิถีชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดทำวาระกรุงเทพฯ สีเขียว (Bangkok Green) และ 5.ยุทธศาสตร์พัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อเป็นองค์กรต้นแบบด้านการบริหารมหานคร โดยจะมีการก่อตั้ง Think Tank หรือสถาบันวิจัยนโยบาย กทม. ที่มีลักษณะเป็นคลังสมองในการพัฒนา กทม.และการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเมืองที่จะเปิดในวันที่ 4 มิ.ย.นี้
ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวด้วยว่า แผนดังกล่าวจะมีลักษณะคล้ายกับแผนระดับประเทศที่มีการศึกษาในระยะยาว ซึ่งในส่วนของกทม.สามารถทำได้ ตนในฐานะผู้ว่าฯ กทม.มีความชอบธรรมที่จะวางนโยบายได้ เนื่องจากเป็นรายละเอียดในเชิงวิชาการ ก็จะทำให้ผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นใครก็สามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ ยืนยันว่า ไม่ได้ผลักดันนโยบายเพื่อหวังผลทางการเมือง แต่ กทม.ได้เชิญนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ศึกษา จึงเป็นการศึกษาจากผู้ที่มีองค์ความรู้ที่มีความเป็นกลางไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการเมือง ขณะเดียวกัน กทม.ได้เสนอให้สถาบันพระปกเกล้ามาร่วมด้วย โดยจะคัดเลือกตัวแทนในระดับท้องถิ่นจาก อบต. อบต.ปริมณฑลมาร่วมด้วย จากนั้นจะเสนอแนวทางให้รัฐบาลพิจารณาด้วย