ผู้จัดการ360องศารายสัปดาห์—เศรษฐกิจถดถอยกำลังกัดกร่อนการเติบโตของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค แต่นักลงทุนจำนวนไม่น้อยกำลังมองหาโอกาสดีๆ ในท่ามกลางวิฤต กลุ่มทุนขนาดใหญ่จากญี่ปุ่นที่ยังคงเดินหน้าอย่างเงียบๆ โครงการลงทุนที่ถือเป็น Flagship ในเวียดนาม รวมทั้งแผนการผลิตชิ้นส่วนปีกสำหรับเครื่องบินโบอิ้ง 737 ของกลุ่มมิตซูบิชิ
ข่าวคราวเกี่ยวกับเรื่องนี้เงียบหายไปตั้งแต่เดือน พ.ย.2550 หรือกว่าหนึ่งปีก่อนหน้านี้ จนกระทั่งสัปดาห์ต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา วงการต่างๆ จึงได้รับรู้ว่าทุนจากญี่ปุ่นกับสายการบินเวียดนามและธนาคารอีกแห่งหนึ่งในประเทศนี้ กำลังเดินหน้าแผนการใหญ่อย่างเงียบๆ
ท่ามกลางข่าวลือในอุตสาหกรรมที่ว่า ทุนญี่ปุ่น ทุนอเมริกันกับตะวันตกอีกหลายชาติ กำลังจะถอนออกไปจากภูมิภาคนี้ทั้งหมด หลังจากสถาบันการเงินใหญ่ในวอลสตรีท พังครืนลงหลายแห่งเมื่อปีที่แล้ว
ตรงข้ามนักลงทุนไม่น้อยถือเอาโอกาสนี้กระชับการลงทุน หลายแห่งซึ่งรวมทั้งอินเทลคอร์ป (Intel Corp) ได้ย้ายฐานการผลิตในภูมิภาคนี้เวียดนามอย่างเบ็ดเสร็จ และ กลุ่มทุนญี่ปุ่นรวมทั้งมิตซูบิชิอินดัสตรี กำลังดำเนินรอยตาม
เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา อินเทลได้ประกาศปิดโรงงานในนครเซี่ยงไฮ้ ในฟิลิปปินส์กับมาเลเซีย สังเวยพิษเศรษฐกิจโลก และ ย้ายฐานการผลิตชิปในเอเชียเข้าสู่เวียดนาม ไม่ต่างไปจากความคิดของกลุ่มทุนญี่ปุ่นที่กำลังจะเปิดโรงงายผลิจชิ้นส่วนอากาศยานในมาเลเซีย และจีน
การก่อสร้างโรงงานในสวนอุตสาหกรรมไฮเทคนครโฮจิมินห์จะแล้วเสร็จตามกำหนดในสิ้นปี 2552 และเริ่มการผลิตต้นปี 2553
๘ระเดียวกัน ต้นเดือน มี.ค.นี้ ธนาคารเพื่อการลงทุนและการพัฒนาแห่งเวียดนามหรือ BIDV (Bank for Investment and Development of Vietnam) เซ็นความตกลงความร่วมมือกับสายการบินเวียดนามแอร์ไลน์สในช่วงปี 2552-2554 ซึ่งในนั้นเกี่ยวกับการเข้าถือหุ้นในบริษัทผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินโบอิ้ง กับแอร์บัสรวมอยู่ด้วย
ความเคลื่อนไหวนี้ได้ยืนยันว่า โครงการใหญ่ของมิตซูบิชิยังคงอยู่ และ ได้ขยับขยายออกไปอีกครอบคลุมถึงชิ้นส่วนของค่ายแอร์บัส
ตามรายงานของสื่อทางการเวียดนาม BIDV ได้ตกลงให้เงินกู้แก่สายการบินแห่งชาติรวม 7 ล้านล้านด่ง (412 ล้านดอลลาร์) เพื่อเข้าร่วมจัดตั้งบริษัทร่วมทุนประกอบเฮลิคอปเตอร์ บริษัทผลิตชิ้นส่วน กับโรงซ่อมบำรุงรักษาอากาศยาน และศูนย์การฝึกนักบินและลูกเรือ
สายการบินเวียดนามยังจะใช้เงินกูจำนวนหนึ่งจัดสร้างโรงซ่อมเครื่องบิน กับคลังสินค้าที่ท่าอากาศยานเติ่นเซินเญิต (Tan Son Nhat) นครโฮจิมินห์ ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์เตี่ยนฟง (Tien Phong) หรือ "ผู้บุกเบิก"
โครงการผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์โบอิ้งอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นโครงการที่ได้ยินข้ามปีมาแล้ว
แต่การประกอบเฮลิคอปเตอร์ในเวียดนามยังไม่เคยมีการเปิดเผยมาก่อน เช่นเดียวกันกับการผลิตชิ้นส่วนเครื่องแอร์บัส แม้จะเคยมีข่าวระแคะระคายก่อนหน้านี้ว่า การซื้อเครื่องบินจากผู้ผลิตทั้งค่ายสหรัฐฯ และยุโรป เวียดนามได้ผูกติดเงื่อนไขการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน และโรงซ่อมบำรุงขนาดใหญ่พ่วงเข้าไปด้วย
**แผนค้างปีของมิตซูบิชิฯ**
ทางการเวียดนามได้ประกาศข่าวใหญ่ในเดือน พ.ย.2550 ระหว่างประธานาธิบดีเหวียนมิงเจี๊ยต (Nguyen Minh Triet) เดินทางเยือนญี่ป่นอย่างเป็นทางการ โดยแผนการผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินโบอิ้ง จะเป็นส่วนหนึ่งในแผนการลงทุนมูลค่าประมาณ 4,500 ล้านสามบริษัทญี่ปุ่น
มารุเบนี มีความสนใจพิเศษในโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนกับโรงกลั่นน้ำมัน และ อิโตชูมองไปยังโครงการรถไฟหัวจรวด เชื่อมภาคเหนือกับภาคใต้
ทุกอย่างเป็นไปตามแผนในปีถัดมา โรงไฟฟ้าของมารุเบนีก็ลงเสาเข็มไปเรียบร้อย เช่นเดียวกันกับโรงกลั่นน้ำมันที่หงิเซิน (Nghi Son) ใน จ.แท็งฮว๊า (Thanh Hoa) ซึ่งร่วมทุนกับกลุ่มคูเวตปิโตรเลียมจากตะวันออกกลาง พิธีวางศิลาฤกษ์จัดขึ้นในเดือน ก.ค.2551
ที่นั่นเป็นโรงกลั่นแห่งที่สองมูลค่าเต็มโครงการราว 6,000 ล้านดอลลาร์ มีความใหญ่โตเป็นเกือบ 2 เท่าของโรงกลั่นแรกที่ยวุ๋งกว๊าต (Dung Quat) ใต้ลงไป ใน จ.กว๋างหงาย (Quang Nghai)
ในขณะนี้มิตซูบิชิกำลังเตรียมการสำหรับโรงงานผลิตชิ้นส่วนอากาศยานแห่งแรก ตามที่ได้แจ้งความประสงค์ต่อ ปธน.เวียดนาม เมื่อ 15 เดือนก่อน
ในเดือน พ.ย.2551 มิตซูบิชิแถลงในญี่ปุ่นเกี่ยวกับแผนการจัดตั้งบริษัท MHI Aerospace Vietnam Co (MHIVA) เพื่อผลิตชิ้นส่วนสำหรับเครื่องบินพาณิชย์ โดยมีกำหนดเริ่มการผลิตในต้นปี 2552 เริ่มจากชิ้นส่วนที่เป็นอุปกรณ์บังคับการขึ้นลง (Flap) บนส่วนปีกของเครื่องบินโบอิ้ง 737
โรงงานเฟสแรกของ MHIVA ใช้เงินลงทุนเพียงประมาณ 7 ล้านดอลลาร์ กับ พนักงานเพียง 50 คน มีกำหนดเปิดดำเนินการในเดือน ม.ค.2552 จากนั้นจะเพิ่มการจ้างงานขึ้นเป็นประมาณ 200 คน
มิตซูบิชิได้เลือกทำเลสวนอุตสาหกรรมทางลมง์ หรือ "ทางลอง" (Thang Long) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือกรุงฮานอยเป็นที่ตั้งโรงงาน และในชั้นแรกจะผลิตชิ้นส่วนดังกล่าวให้บริษัทโบอิ้งสหรัฐฯ เดือนละ 2 ลำ จะเพิ่มเป็นเดือนละ 10 ลำ ในปี 2554
อย่างไรก็ตามโรงงานในเวียดนามยังไม่เกิดขึ้นและไม่มีการแถลงความคืบหน้าใดๆ อีก จนกระทั่ง มีการเซ็นสัญญาระหว่างสายการบินแห่งชาติ กับ BIDV ต้นเดือน มี.ค.นี้
ปัจจุบันมิตซูบิชิมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในญี่ปุ่นเอง ในมาเลเซียและในจีน
กลุ่มทุนใหญ่นี้กล่าวว่า ได้ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตชิ้นส่วนไปที่เวียดนาม โดยเห็นว่าที่นั่นมีแรงงานที่ขยันขันแข็ง มีที่ตั้งอันเหมาะสมและทันสมัยในเขตสวนอุตสาหกรรมที่บริษัทญี่ปุ่นก่อสร้างขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศนี้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว มีความมั่นคงปลอดภัยทางสังคมสูง และ อยู่บนเส้นทางการคมนาคมขนส่งที่สะดวก
นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมการบินกล่าวว่า แผนการของเวียดนามและญี่ปุ่นจะช่วยทำให้ต้นทุนการบินในเวียดนามถูกลง จากในปัจจุบันต้องส่งอากาศยานทุกชนิดไปซ่อมบำรุงในสิงคโปร์หรือในประเทศไทย
แผนการนี้ยังสอดคล้องกับโครงการพัฒนาของสายการบินเวียดนามที่จะขยับฝูงบินให้มีใช้งาน 110-130 ลำในระยะ 10-15 ปี ข้างหน้า
จนถึงสิ้นปี 2551 มีการสั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 787-8 และ 787-9 ไปแล้วรวม 18 ลำ และ เคยมีการเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่าอาจจะซื้อเข้าฝูง 25-30 ลำ ในช่วงเดียวกัน
ปลายปีที่แล้วเวียดนามแอร์ไลนส์ได้เซ็นสัญญาซื้อเครื่องแอร์บัส A350XWB-900 จำนวน 10 ลำ A320 อีก 10 ลำ ขณะที่บริษัทลูกซื้อรุ่นเดียวกันอีก 10 ลำ เพื่อให้เช่า
ทั้งหมดนี้อยู่ในแผนอันทะเยอะทะยานที่จะพัฒนาให้สายการบินแห่งชาติขึ้นเป็นหนึ่งในสามสายการบินใหญ่ที่สุดในเอเชีย และ นักวิเคราะห์กล่าวว่า เวียดนามกำลังพิจารณาอย่างจริงจัง เพื่อสั่งซื้อเครื่องแอร์บัส A380 เข้าประจำการในฝูง
แผนการสร้างโรงซ่อมบำรุงอากาศยานขนาดใหญ่ ยังสอดรับอย่างเหมาะเจาะกับโครงการสร้างท่าอากาศยานขนาดใหญ่ที่ อ.ลองแถ่ง (Long Thanh) จ.ด่งนาย (Dong Nai) เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการบินในภาคใต้แทนสนามบินโฮจิมินห์ที่แออัด
โครงการนี้ผ่านการสำรวจเบื้องต้น (Pre-feasibility study) และ ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลตั้งแต่ปี 2550 และ กำลังอยู่ในขั้นตอนการสำรวจศึกษารายละเอียด
เจ้าหน้าที่เวียดนามเคยประกาศว่า สนามบินลองแถ่งซึ่งอาจจะต้องใช้เงินลงทุนกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์ จะมีขนาดใหญ่โตกว่าสนามบินสุวรรณภูมิของไทยและใหญ่โตกว่าสนามบินชางงีของสิงคโปร์
เพราะฉะนั้นโครงการสร้างสนามบินยักษ์ การผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ทั้งของค่ายยุโรปและค่ายสหรัฐฯ ตลอดจนการสร้างโรงซ่อมบำรุงขนาดใหญ่ของทั้งสองค่าย จึงเป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ออก
สื่อของทางการหลายสำนักรายงานว่า สายการบินแห่งชาติกับธนาคารที่รัฐบาลต่างถือหุ้นใหญ่ ได้ตกลงจะ "สว้อป" หุ้น หรือ แลกเปลี่ยนการถือหุ้นระหว่างกันในอนาคต สิ่งนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเวียดนามแอร์ไลนส์กับ BIDV แปรรูปเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์
ยังไม่ทราบว่าการแปรรูปจะเกิดขึ้นได้เมื่อไร แต่ BIDV ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่อันดับสองของประเทศในแง่ทรัพย์สิน ประกาศในเดือน ม.ค.ปีนี้ว่า แผนการกระจายหุ้นหรือไอพีโอได้รับอนุมติจากรัฐบาลแล้ว และ เชื่อว่าจะดำเนินการได้ในปีนี้
แต่นักวิเคราะห์มองว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ อาจจะยังไม่เกิดขึ้นในช่วงปีที่เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกกำลังคายพิษเข้าสู่เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในย่านนี้
ถึงสิ้นปี 2551 ธนาคารเพื่อการลงทุนและการพัฒนามีสินทรัพย์รวม 246.33 ล้านล้านด่ง (16,973 ด่ง/ดอลลาร์) โดยรัฐวิสาหกิจเพื่อการร่วมทุนของรัฐบาลถือหุ้นใหญ่ 100% จึงเป็นฐานเงินทุนสำคัญสำหรับสายการบินแห่งชาติ
การจัดซื้อเครื่องบินของการบินเวียดนามในช่วงปีใกล้ๆ นี้ ไม่มีครั้งใดที่จะไม่มีชื่อ BIDV เข้าร่วมด้วย
ในเดือน ก.ย.2550 BIDV กับเวียดนามแอร์ไลนส์ บริษัทประกันภัยบ๋าวเหวียด (Bao Viet Insurance) กับผู้ลงทุนรายเล็กอีกรายหนึ่งได้ร่วมทุนก่อตั้ง บริษัท Vietnam Aircraft Leasing Co) ขึ้นมาจัดซื้อเครื่องบินสำหรับให้สายการบินแห่งชาติ กับสายการบินอื่นๆ อีก 2 แห่ง คือ VASCO Air กับเจ็ทสตาร์แปซิฟิก (JetStar Pacific) ซึ่งก็คือ Pacific Airlines ในอดีต
ในปัจจุบันรัฐบาลยังคงถือหุ้นใหญ่ 80% ในเจ็ทสตาร์แปซิฟิก ซึ่งได้กลายเป็นสายการบินโลว์คอสท์แห่งแรกของประเทศ
แม้ว่าจะยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดใดๆ ก็ตาม นักวิเคราะห์กล่าวว่า VALC กับเวียดนามแอร์ไลนส์ กำลังจะร่วมกันเข้าลงทุนในโครงการประกอบเฮลิคอปเตอร์ที่จะมีขึ้นด้วย.