ผู้จัดการรายวัน-- บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ที่สุดของโลกคือ แอร์บัสอินดัสตรี (Airbus Industrie) ส่งเจ้าหน้าที่เดินทางเข้าเวียดนามสัปดาห์ที่แล้ว หาลู่ทางจำหน่ายเครื่องบินโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ A380 ให้แก่สายการบินเวียดนาม โดยชี้ให้เห็นความจำเป็นในช่วงปีที่จะถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปิดบินเชื่อมสหรัฐฯ และขยายเส้นทางในยุโรป
ตามรายงานของสื่อทางการ นักวิเคราะห์อาวุโสของแอร์บัส ซูซานา มาร์ติน-โรโม โปโซ (Susana Martin-Romo Pozo) กล่าวว่าสายการบินเวียดนามกำลังมีศักยภาพสูงยิ่งสำหรับการบินระยะไกล โดยยกข้อมูลเส้นทางเวียดนาม-แฟร็งค์เฟิร์ต ในเยอรมนี ซึ่งอาจจะขยายตัวได้ถึง 10.2% ในขณะที่อัตราผู้โดยสารเส้นทางอื่นๆ ทั่วโลกคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 4.9%
สื่อของทางการไม่ได้ให้รายละเอียดว่าเพราะเหตุใดเส้นทางบินเวียดนาม-เยอรมนี จึงมีแนวโน้มจะขยายตัวในระดับสูงมากเช่นนั้น
แอร์บัสซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบินในยุโรป “ได้เล็งเห็นความจำเป็นที่เวียดนามต้องมีเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ A380 ในทศวรรษข้างหน้านี้ อันเนื่องมาจากการสัญจรทางอากาศที่ขยายตัวรวดเร็วมาก" หนังสือพิมพ์เวียดนามนิวส์อ้างคำกล่าวของนักวิเคราะห์จากแอร์บัสระหว่างแถงข่าวในกรุงฮานอยสัปดาห์ที่แล้ว
ปัจจุบัน A380 เป็นเครื่องบินโดยสารที่มีขนาดใหญ่โตที่สุดในโลกสามารถบินระยะไกลได้รอบโลก บรรทุกผู้โดยสารได้ถึง 525 คนต่อเที่ยว ประหยัดน้ำมันมากขึ้น ปล่อยไอเสียน้อยลงด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมมากขึ้น บริษัทแอร์บัสฯ กล่าว
เดือน ก.ย.ปีที่แล้ว A380 ได้แวะลงจอดในกรุงฮานอย ระหว่างการบินตระเวนโชว์ตัวในภูมิภาคนี้ ซึ่งนางมาร์ติน-โรโม กล่าวว่าเครื่องบินรุ่นนี้จะช่วยเวียดนามแก้ปัญหาต่างๆ ได้
ส่วนนายฌอน ลี (Sean Lee) หัวหน้าฝ่ายสื่อสารของแอร์บัสฯ ในเวียดนามกล่าวในงานเดียวกันว่า ยอดขายเครื่องบินของแอร์บัส จนถึงสิ้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเป็น 754 ลำ ซึ่งรวมทั้ง รุ่น A350XWB (Extra-Wide Body) จำนวน 10 ลำ กับ A321 อีก 10 ลำที่เวียดนามแอร์ไลน์สั่งซื้อ และรุ่นเดียวกันอีก 10 ลำที่ บริษัทลูกเวียดนามแอร์ไลน์คือ Vietnam Aircraft Leasing Co ที่จัดตั้งขึ้นใหม่สั่งจองพร้อมๆ กันในเดือน ธ.ค.2550
แอร์บัสมีกำหนดส่งมอบเครื่องบินทั้ง 3 รุ่นนี้แก่เวียดนามลอตแรกในเดือน ก.ค.2555
ที่ผ่านมาสายการบินเวียดนามกับ VALC ได้สั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัสรุ่นต่างๆ รวม 45 ลำ ในนั้นได้ส่งมอบแล้ว 13 ลำ ซึ่งทำให้ผู้ผลิตเครื่องบินค่ายยุโรปเป็นผู้สนับสนุนเครื่องบินรายใหญ่ที่สุดของสายกาบินเวียดนาม นายลีกล่าว
เวียดนามกำลังอยู่ระหว่างพัฒนายกระดับสายการบินแห่งชาติ ให้ติดอันดับ 1 ใน 3 สายการบินชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตั้งเป้าจะมีเครื่องบินรวม 80 ลำภายในปี 2563 และ 110 ลำหลังจากนั้น
แอร์บัสอินดัสตรีที่ตั้งอยู่ในฝรั่งเศส ได้พยายามชี้ให้เห็นว่า A380 จะสร้างผลกำไรมหาศาลให้แก่สายการบินแห่งชาติเวียดนามในการเปิดบินระหว่างทวีปในอนาคต ซึ่งเชื่อว่าอุตสาหกรรมการบินในประเทศนี้มีสูงมาก และเชื่อว่าเวียดนามจะฝ่าความยุ่งยากทางเศรษฐกิจไปได้ในเร็วๆ นี้
"เรามองว่าเวียดนามเป็นตลาดสำคัญแห่งหนึ่งของเราในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในทศวรรษข้างหน้า" นายลีกล่าว
เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวว่าการที่ผู้โดยสารเส้นทางต่างๆ ของการบินเวียดนามขยายตัวอัตราเฉลี่ย 4.9% นั้นนับเป็นอัตราเฉลี่ยสูงมากเทียบกับทั่วโลก
ตามตัวเลขอย่างเป็นทางการปัจจุบันเวียดนามแอร์ไลน์มีแอร์บัสรุ่นต่างๆ เก่าและใหม่ใช้การอยู่ทั้งหมด 27 ลำ เป็น A320 จำนวน 10 ลำ กับ A321 รวม 13 ลำและ A330 อีก 4 ลำ
นอกจากนั้นเครื่องแอร์บัสยังคิดเป็น 63% ของเครื่องบินที่สายการบินเวียดนามสั่งซื้อใหม่ และรอการส่งมอบ และคาดว่าอัตราส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็น 71% ในเร็วๆ นี้
นายลีกล่าวว่าสายการบินต้นทุนต่ำของเวียดนามคือ เจ็ทสตาร์แปซิฟิก (JetStar Pacific) มีแผนที่จะใช้เครื่องบินของแอร์บัสให้บริการบินในประเทศและบินเชื่อมปลายทางในภูมิภาคในระยะ 6 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตามในช่วงปีใกล้ๆ นี้เวียดนามได้พยายามรักษาสมดุลในการใช้ซื้อเครื่องบินจากทั้งสองค่ายคือ แอร์บัสฯ กับบริษัทโบอิ้ง (Boeing Co) แห่งสหรัฐฯ
เดือน พ.ย.ปีที่แล้วก่อนที่จะเซ็นสัญญาซื้อเครื่องบินแอร์บัสลอตล่าสุด ทางการเวียดนามกับบริษัท ผู้ผลิตเครื่องบินค่ายสหรัฐฯ ได้เซ็นสัญญาซื้อขายเครื่องบินโดยสารรุ่นใหม่ล่าสุดคือ โบอิ้ง 7E7-8 "ดรีมลายเนอร์" (Dreamliner) จำนวน 12 ลำ โดยแบ่งออกเป็น 2 ลอต
ในนั้นสายการบินเวียดนามซื้อเองจำนวน 4 ลำ VALC ซื้ออีก 8 ลำ
นอกจากเวียดนามแอร์ไลน์ ผู้ถือหุ้นใน VALC ยังประกอบไปด้วยวินาชินธุรกิจ (Vinashin Business Group) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจต่อเรือใหญ่ที่สุด กลุ่มปิโตรเวียดนาม (PetroVietnam) ธนาคารเพื่อการพัฒนาและการลงทุนแห่งเวียดนาม (Bank of Investment and Development of Vietnam) กับ บริษัทฟงฝู (Phong Phu Corp) ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติเวียดนามล้วนๆ
บริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่นี้กล่าวว่า โบอิ้ง 787 ทั้ง 8 ลำที่เซ็นสัญญาซื้อในเดือน พ.ย.จะส่งมอบได้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 เป็นต้นไป ทั้งหมดรวมเป็นมูลค่าประมาณ 1,450 ล้านดอลลาร์ และ เป็นประมาณ 2,100 ล้านดอลลาร์เมื่อรวมทั้ง 12 ลำที่สั่งซื้อในคราวเดียวกัน
ก่อนหน้านั้นเวียดนามแอร์ไลน์ได้สั่งซื้อโบอิ้ง 7E7 หรือ "787" จำนวน 4 ลำ มีกำหนดส่งมอบใน
ปลายปี 2552 สายการบินแห่งนี้กล่าวว่ามีแผนจะสั่งซื้อรวมทั้งสิ้น 20 ลำในปี 2558 และเพิ่มเป็น 28 ลำในปี 2563 ซึ่งจะเป็นปีสุดท้ายในแผนพัฒนายกระดับสายการบินแห่งชาติ.