ผู้จัดการออนไลน์ -- สมเด็จนโรดมสีหนุ อดีตกษัตริย์กัมพูชา ทรงมีบันทึกว่า ดินแดนทางขึ้นสู่ปราสาทพระวิหารนั้นไม่ได้เป็นของไทย หากแต่เป็นของกัมพูชาตามสนธิสัญญากับแผนที่ ฝรั่งเศส-สยาม ปี 1904 และ 1907 และทางขึ้นก็ยังหันเข้าสู่ประเทศกัมพูชาอีกด้วย ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องไม่สับสน
สมเด็จนโรมดมสีหนุ ซึ่งเมื่อกว่า 50 ปีก่อน ได้นำเอากรณีพิพาทเข้าพระวิหารขึ้นสู่การพิจารณาของศาลระหว่างประเทศในกรุงเฮก ได้ทรงระบุดังกล่าวในพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งซึ่งบันทึกด้วยด้วยลายพระหัตถ์เป็นภาษาฝรั่งเศส เผยแพร่ในนิตยสารข่าวรายปักษ์ “พนมเปญโพสต์” ฉบับวันที่ 8 ก.ค.นี้
นับเป็นครั้งแรกที่อดีตกษัตริย์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง ทรงออกแสดงความคิดเห็น หลังจากปราสาทพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา
“คนไทยเคยกล่าว ยังกล่าวและเขียนว่า ข้อพิสูจน์อันหนึ่งว่าปราสาทพระวิหารเป็นของไทยนั้นยืนอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่าทางขึ้นไปยังปราสาทที่ง่ายและสะดวกที่สุดนั้นอยู่ทางฝั่งไทย มิใช่ทางฝั่งกัมพูชา..”
“ดูเหมือนนักหนังสือพิมพ์เหล่านี้ ชาวไทยเหล่านี้จะมองข้ามความจริงทางประวัติศาสตร์อันเป็นข้อพิสูจน์ที่ว่า ทั้งภูเขาและปราสาทพระวิหารนั้นเป็นกัมพูชา 100% และเป็นของชาวกัมพูชา 100%” อดีตกษัตริย์แห่งกัมพูชากล่าว
นอกจากนั้น การก่อสร้างปราสาทพระวิหาร (คริสต์ศตวรรษที่ 10 และ 11) ก็สร้างโดยกษัตริย์เขมร 2 พระองค์ แต่เป็นผลงานของเขมรอย่างแท้จริง
สมเด็จสีหนุที่ชาวเขมรผู้จงรักภักดีขนานพระนามเป็น “พระมหาวีรกษัตริยาพระวรราชบดีฉัตรา” (Preak Moha Vireakksatr Preak Voreajbeida Cheatr) ทรงบันทึกว่าในคริสต์ศตวรรษดังกล่าวนั้น เขาพระวิหารตั้งอยู่ลึกเข้ามาในกัมพูชามากกว่านี้ ตั้งอยู่ในอาณาจักรเขมร ซึ่งมีเขตแดนไกลออกไปหลายร้อยกิโลเมตร ทางเหนือ ตะวันออก และตะวันตก ไกลออกไปกว่าที่เป็นเขตแดนระหว่าง กัมพูชา กับ ไทย และ ลาว ในปัจจุบัน
ดังนั้น ภูเขากับปราสาทพระวิหาร จึงไม่ได้ตั้งอยู่ตรงชายแดนไทย-กัมพูชา หากตั้งอยู่ลึกเข้ามาในดินแดนแห่งอาณาจักร (เขมร) และทางเข้าหลักของประสาทพระวิหารก็ไม่ได้หันเข้าไปยังสยาม (ประเทศไทย) หากแต่หันเข้าสู่กัมพูชา
นอกจากนั้น จะต้องไม่ลืมว่า เมื่อปี 2505 ศาลระหว่างประเทศที่กรุงเฮก ก็ได้ให้ความยุติธรรมแก่กัมพูชา (ตัดสินยกปราสาทพระวิหารให้) ซึ่งจะต้องไม่ละเลยต่อความจริงอันนี้ สมเด็จฯ สีหนุ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในพระราชหัตถเลขาสั้นๆ นี้ อดีตกษัตริย์กัมพูชา ทรงมิได้กล่าวถึงเรื่องอื่น รวมทั้งความจริงที่ว่าในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ อาณาจักรสยาม (กรุงศรีอยุธยา-รัตนโกสินทร์) เคยครอบครองดินแดน “อาณาจักรเขมร” เกือบทั้งหมด รวมทั้งดินแดนที่เป็น จ.เสียมราฐ ที่ตั้งปราสาทนครวัด กับ จ.พระวิหาร อันเป็นที่ตั้งปราสาทพระวิหารในปัจจุบันด้วย
นอกจากนั้น บันทึกก็ยังไม่ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริง ปราสาทพระวิหารและดินแดนอาณาบริเวณโดยรอบนั้นตั้งอยู่ในเขตสันปันน้ำของไทย ซึ่งเป็นดินแดนของไทยโดยกฎหมายระหว่างประเทศ อันเป็นแนวเขตแดนยุคใหม่ระหว่างสองประเทศ
บันทึกของอดีตกษัตริย์กัมพูชา ยังไม่ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในยุคใหม่ที่ว่า รัฐบาลไทยได้ทำบันทึกคัดค้านคำตัดสินของศาลโลก และสงวนสิทธิ์ในการอ้างอธิปไตยเหนือดินแดนในเขตสันปันน้ำดังกล่าวมาตั้งแต่เดือน ก.ค.2505 หรือ 46 ปีมาแล้ว หลังเสียปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา
รวมทั้งยังไม่ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐบาลของสองฝ่ายในยุคใหม่ กำลังดำเนินการเจรจาปักปันเขตแดนเสียใหม่ กับความจริงที่รัฐบาลกัมพูชาปัจจุบันได้ยอมรับว่าที่ชายแดนบริเวณปราสาทพระวิหาร มี “เขตแดนทับซ้อน”
ในบันทึกชิ้นหนึ่งโดยลายพระหัตถ์ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ส่วนพระองค์เมื่อต้นปีนี้ สมเด็จนโรดมสีหนุ ทรงเปิดเผยว่า พระเจ้าศรีสวัสดิ์มุนีวงศ์ อดีตกษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ระหว่างปี 2470-2483 ผู้ทรงเป็น “คุณตา” ของพระองค์ ทรงตรอมพระราชหฤทัยจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา อันเนื่องจากกัมพูชาเสียปราสาทพระวิหารให้แก่ไทย