ผู้จัดการออนไลน์-- เจ้าหน้าที่กัมพูชาได้ชักธงมรดกโลกคู่กับธงชาติรูปปราสาทนครวัดขึ้นสู่ยอดเสาที่ปราสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นการแสดงความเป็นเจ้าของอย่างสมบูรณ์เหนือปราสาทอายุ 900 ปี แม้ว่าที่ตั้งจะอยู่ในเขตสันปันน้ำของไทย อันควรจะเป็นเส้นแบ่งเขตแดนธรรมชาติตามกฎหมายระหว่างประเทศก็ตาม
พิธีชักธงจัดขึ้นในขณะที่กรณีพิพาทเหนือดินแดนโดยรอบปราสาทกับประเทศไทยยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยฝ่ายไทยกล่าวว่าตลอดเวลาเกือบ 50 ปีที่ผ่านมาไม่เคยยอมรับในแผนที่เอกสารต่างๆ ที่อดีตเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสจัดทำขึ้นเมื่อกว่า 10 ปีก่อน
ในปี 2505 ศาลระหว่างประเทศที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ได้ตัดสินยกปราสาทเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ในเขตสันปันน้ำของไทยในยุคใหม่ให้ตกเป็นของกัมพูชา แต่ประเทศไทยได้โต้แย้งเรื่องเอกสารและแผนที่ต่างๆ ของฝรั่งเศสต่อศาลโลก
ทั้งสองฝ่ายมิได้ดำเนินการอะไรเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารอีก นับตั้งแต่นั้นในขณะที่ภายในกัมพูชาเองเริ่มเข้าสู่ยุคสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อมาจนถึงช่วงปี 2532 และมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2536
สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปเมื่อรัฐบาลไทย สมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ออกมติคณะรัฐมนตรีรับรองแถลงการณ์ร่วมฉบับหนึ่งซึ่งสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว
ศาลรัฐธรรมนูญของไทยได้ชี้ขาดในเวลาต่อมาว่า มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นการกระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ ขณะที่ศาลปกครองของไทยได้มีคำสั่งคุ้มครองมิให้มติ ครม.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้โดยทันที
พิธีชักธงและติดตั้งป้ายประกาศต่างๆ จัดขึ้นในวันศุกร์ (7 พ.ย.) หรือเป็นเวลา 4 เดือนพอดี นับตั้งแต่คณะกรรมการมรดกได้ประกาศขึ้นทะเบียนในประเทศแคนาดา
ศาสตราจารย์ฮั่งสด (Hang Sod) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การแห่งชาติพระวิหาร ซึ่งมีหน้าที่ดูแลมรดกโลกแห่งที่สองของประเทศกล่าวว่า มีการติดแผ่นป้ายขนาดใหญ่ความกว้างเกือบ 2 เมตร จำนวนสองแผ่นที่ชั้นบนของปราสาทหลังหนึ่งโดยแหงนขึ้นฟ้าเพื่อ "ป้องกันการโจมตีทางอากาศ"
ธงมรดกโลกกับแผ่นป้ายข้อความต่างๆ ได้บอกให้ผู้พบเห็นทราบว่า ปราสาทพระวิหารได้กลายเป็นสมบัติของวัฒนธรรมของระหว่างประเทศ และอยู่ภายใต้การปกป้องเป็นพิเศษ
"เราติดป้ายเพื่อป้องกันมิให้ทหารไทยยิงเข้าใส่ปราสาท" นายสดกล่าวระหว่างทำพิธีที่มีเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติจำนวนหนึ่งเข้าร่วมด้วย
ฝ่ายทหารกัมพูชากล่าวว่า ปราสาทพระวิหารได้รับผลกระทบจากระเบิดและกระสุนปืนที่ยิงขึ้นไประหว่างการปะทะของทหารสองฝ่ายในวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา
ในอีกเหตุการณ์หนึ่งฝ่ายกัมพูชากล่าวหาว่า ทหารไทยได้จงใจยิงระเบิดแบบ เอ็ม-79 เข้าใส่บันไดนาคจนได้รับความเสียหาย แต่ฝ่ายไทยได้ปฏิเสธการกล่าวหานี้
ถึงแม้ว่าศาลโลกจะตัดสินให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชาไปตั่งแต่ 46 ปีก่อน แต่ทางขึ้นที่สะดวกที่สุดก็ยังอยู่ในดินแดนของไทย ทางด้าน อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ
นายกรัฐมนตรีกัมพูชา สมเด็จฯ ฮุนเซน ได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ เร่งพัฒนาเส้นทางไปยังปราสาทพระวิหาร รวมทั้งเร่งราดยางถนนระยะทาง 80 กม.จากเมืองอันลองแวง (Anlong Veng) จ.อุดรมีชัย (Oddar Meanchey) ไปยังเมืองจอมกสาน (Chom Kasan) ที่อยู่ใกล้ปราสาทพระวิหารมากที่สุด
ระหว่างสมเด็จฯ ฮุนเซนเยือนจีนอย่างเป็นทางการเดือนที่แล้ว รัฐบาลจีนได้ตกลงให้ความช่วยเหลือกัมพูชาสร้างถนนอีกสายหนึ่งจาก จ.กัมปงธม ไปยัง อ.จอมกสาน จ.พระวิหาร ซึ่งจะเป็นทางใกล้อีกเส้นทางหนึ่งไปยังชายแดนด้านนั่น.