ผู้จัดการรายวัน -- สถานการณ์เศรษฐกิจในเวียดนามดูย่ำแย่ลงไปอีก ตัวเลขของทางการ ระบุว่า เงินเฟ้อในเดือน มิ.ย.สูงถึง 26.8% แม้ว่าหลายฝ่าย รวมทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ จะมองว่าสถานการณ์ในเวียดนามไม่ร้ายแรงเท่ากับวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อกว่า 10 ปีก่อนก็ตาม
ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือ CPI (Consumer Price Index) ซึ่งใช้บ่งชี้อัตราเฟ้อของเงิน เพิ่มขึ้น 2.1% จากเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา แม้ว่าอัตราเพิ่มจะลดลง 3.9% จากเดือนก่อน ราคาสินค้าประเภทอาหารยังคงเป็นแรงสำคัญหนุน ทั้งนี้เป็นตัวเลขของสำนักงานใหญ่สถิติ (General Statistics Office)
เวียดนามซึ่งเศรษฐกิจขยายตัวถึง 8.5% เมื่อปีที่แล้วกำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง อัตราเฟ้อปีต่อปีในเดือน พ.ค.พุ่งขึ้น 25.3% ตัวเลข GSO ระบุว่า อัตราเฟ้อในรอบ 6 เดือนของปีนี้เพิ่มขึ้นถึง 18.4% เทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว
ตามตัวเลขที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มขยายตัว 45.6% ปีต่อปี อาหารรายการสำคัญรวมทั้งข้าวและธัญพืชสูงขึ้น 74.3%
ราคาบ้านและหมวดวัสดุก่อสร้างพุ่งขึ้น 23.7% เสื้อผ้ากับรองเท้าก็ยังเพิ่มขึ้น 9.9% หมวดยาและเวชภัณฑ์เพื่อสุขภาพสูงขึ้น 8.1% เครื่องไฟฟ้าและเครื่องใช้ในบ้านสูงขึ้น 8.4%
อย่างไรก็ตาม นางซเวืองทูเฮื่อง (Duong Thu Huong) เลขาธิการสมาคมธนาคารเวียดนามกล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคอื่นๆ กำลังส่อแววไปในทางที่ดีขึ้น หลังจากเศรษฐกิจได้หยุดชะงักไปพักหนึ่ง
นักการธนาคารผู้นี้ กล่าวกับนิตยสารข่าวเศรษฐกิจเทยบ๋าวกิงเตเหวียดนาม (Thoi Bao Kinh Te Vietnam) หรือ “เวียดนามอีโคโนมิคไทมส์” ชี้ ให้เห็นปัจจัย 3 ประการอันเป็นข้อบ่งชี้สำคัญในขณะนี้
ตัวเลขขาดดุลการค้าของเวียดนามได้พุ่งขึ้นสูงถึง 3 เท่าตัวใน 6 เดือนแรกของปีนี้เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และมากกว่าตัวเลขขาดดุลทั้งปี 12,000 ล้านดอลลาร์
ตามตัวเลขของ GSO ที่เผยแพร่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว ตัวเลขขาดดุลระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย.จะเพิ่มขึ้นเป็น 14,800 ล้านดอลลาร์ แต่ตัวเลขคาดการของกระทรวงวางแผนและการลงทุนสูงถึง 16,900 ล้านดอลลาร์
ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้เวียดนามนำเข้าสินค้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 44,500 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 60.3% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว ส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้น 31.8% เป็น 29,700 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้เป็นตัวเลขของ GSO
เดือนนี้ทางการเวียดนามได้ห้ามนำเข้าทองคำทุกชนิด เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนปั่นป่วนในช่วง 2-3 เดือนมานี้ เนื่องจากผู้คนหันไปลงทุนซื้อทองเข้าเก็บ เป็นปัจจัยผลักดันอัตราเงินเฟ้อ
เวียดนามได้ปรับตัวเลขเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจลงเหลือ 7% ในปีนี้ อันเป็นมาตรการหนึ่งในการรับมือกับเงินเฟ้อ
แม้ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะชะลอตัวลง แต่เจ้าหน้าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันพฤหัสบดี (26 มิ.ย.) ระบุว่า โอกาสที่จะส่งผลกระทบลุกลามใหญ่โตสู่ภายนอกมีน้อยมาก
นายเจอรัลด์ ชิฟ (Jerald Schiff) ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียแปซิฟิกของไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่เริ่มจะ “โอเวอร์ฮีต” หรือ “ร้อนจัด” เมื่อปีที่แล้ว หลังจากมีการปล่อยกู้มากเกินไป
“กรณีของเวียดนามเป็นตัวอย่างอันดีที่แสดงให้เห็นอันตรายจากการก้าวล้ำเส้นในนโยบาย..” นายชิฟ กล่าวหลังจากเสร็จการแถลงข่าวในวันเดียวกัน
ด้วยฐานะทางการเงินที่ต่ำ ปริมาณเงินตราต่างประเทศสำรองมีน้อย ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นห่วงว่าปัญหาในเวียดนามจะลุกลามเป็นวิกฤติทางการเงิน แต่เจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟกล่าวว่า โอกาสที่จะเป็นเช่นนั้นมีน้อย ซึ่งต่างไปจากกรณีที่เกิดในประเทศไทยเมื่อกว่า 10 ปีก่อน