xs
xsm
sm
md
lg

แนวโน้มตลาดตราสารหนี้-ทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดตราสารหนี้

สถานการณ์ในเดือนพฤษภาคม

มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยแบบ Outright ต่อวันในเดือนพฤษภาคม 2551 ของตลาดตราสารหนี้ลดลงเป็น 78.65 พันล้านบาทจาก 84.209 พันล้านบาทในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีพันธบัตรรัฐบาลมีอัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงคิดเป็นร้อยละ -1.85 และดัชนีหุ้นกู้ภาคเอกชนมีอัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงเช่นกันโดยคิดเป็นอัตราผลตอบแทนร้อยละ -0.65 ณ สิ้นเดือนเมษายน ดัชนีพันธบัตรรัฐบาลมีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 5.12 และมีอายุเฉลี่ยเท่ากับ 5.25 ปี ในขณะที่ดัชนีหุ้นกู้ภาคเอกชนมีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 5.24 และอายุเฉลี่ยเท่ากับ 2.84 ปี อัตราผลตอบแทนมีความผันผวน โดยอัตราผลตอบแทนระยะสั้นตั้งแต่ อายุ 1-6 เดือนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.14 ถึง 0.19 พันธบัตรระยะสั้นอายุ 1-5 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.30 ถึง 0.43 พันธบัตรระยะกลางอายุ 6-10 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงร้อยละ 0.48 ถึง 0.52 และพันธบัตรระยะยาวปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.28 ถึง 0.46

แนวโน้ม
สภาวะตลาดในเดือนมิถุนายน ยังคงได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่ามีโอกาสที่จะปรับขึ้นในอนาคต อัตราผลตอบแทนน่าจะมีโอกาสที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในเดือนมิถุนายน ดังนั้นในช่วงนี้นักลงทุนเน้นการลงทุนในตราสารระยะสั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความผันผวนของราคา

กลยุทธ์ประจำเดือน

กลยุทธ์การลงทุนคือ เน้นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น

 ตลาดตราสารทุน

ตัวเลขเศรษฐกิจ

- ตัวเลขทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในเดือนเมษายน ได้แก่ 1) การเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปโดยปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2) ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3) ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 4) การขาดดุลการค้า 1.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นผลจากการนำเข้าที่ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 41.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

- กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศยังเป็นเชิงบวกแต่เริ่มมีสัญญาณชะลอตัว ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (Private Consumption Index: PCI) เร่งตัวสูงขึ้นร้อยละ 7.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยแรงหนุนส่วนหนึ่งจากการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.1 อย่างไรก็ดี ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (Private Investment Index: PII) ขยายตัวในระดับที่ลดลงคือขยายตัวร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากยอดจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ที่ชะลอตัวลง ทั้งนี้ การปรับตัวลดลงของ PII สอดคล้องกับการลดต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดของดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Business Sentiment Index: BSI) จากระดับ 47.3 จุด ในเดือนมีนาคม มาอยู่ที่ระดับ 43 จุด เพราะการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตตามการปรับตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป สำหรับดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index: MPI) ยังคงเติบโตดีที่ระดับร้อยละ 10.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (Capital Utilization: CU) ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนมาที่ร้อยละ 69.1 เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาวในเดือนเมษายนในขณะที่มีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

ดุลการค้าขาดดุล เนื่องจากการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 41.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าภาคการส่งออกยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ระดับร้อยละ 27.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ทว่ามูลค่าการนำเข้าที่เร่งตัวสูงขึ้นมากถึงร้อยละ 41.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุลจำนวน 1.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ การนำเข้าสินค้าปรับตัวสูงขึ้นในทุกรายการสินค้า (ส่วนใหญ่เป็นสินค้าวัตถุดิบและน้ำมัน) โดยการเพิ่มขึ้นนี้เป็นเพราะปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเป็นเพราะการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้า โดยที่ปริมาณนำเข้าได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 ในขณะที่ราคาสินค้าที่นำเข้าซึ่งเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 16.3

- ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.6% และดัชนีราคาผู้ผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น 15.6%ในเดือนพฤษภาคม แนวโน้มเงินเฟ้อมีโอกาสปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้ในอีกช่วงหลายเดือนข้างหน้า เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (เชื้อเพลิง,สินแร่, สินค้าเกษตร) ยังคงอยู่ในระดับสูง ในขณะที่เงินบาทเริ่มกลับมาอ่อนค่าลง หลังจากดุลการค้าเริ่มมีการขาดดุลเกิดขึ้น

สรุปภาวะตลาด

ความกังวลเกี่ยวกับตลาดหุ้นสหรัฐและปัญหาสินเชื่อทำให้ SET ยืนอยู่ในระดับทรงตัวจนกระทั่งการประกาศผลประกอบการไตรมาส 1 ปี2551 ออกมาดีกว่าที่คาดกอปรกับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องช่วยผลักดันให้ SET ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 884.19 จุด ในวันที่ 21 พฤษภาคม คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.25% ในวันที่ 21 พฤษภาคม ต่อมาในช่วงครึ่งหลังของเดือน SET ปรับตัวลดลงกลับไปที่ 830.61 จุด ทั้งๆที่ GDP ไตรมาส 1 ปี 2551 ประกาศออกมาเติบโตร้อยละถึง 6 ซึ่งสูงกว่าคาด โดยมีสาเหตุมาจากความกังวลทางการเมืองที่มีการชุมนุมประท้วงคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญและความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้แล้วตลาดปรับตัวลงอีกเมื่อรัฐบาลกดดันให้โรงกลั่นในเครือ PTT ช่วยชดเชยราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งลดความเชื่อมั่นในการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ



แนวโน้มตลาดเดือนมิถุนายน


สถานการณ์ทางการเมืองที่น่าจะคลี่คลายขึ้นเนื่องจากกลุ่มพันธมิตรฯไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนและฝ่ายต่างๆ มากนัก เชื่อว่ามีโอกาสที่ตลาดหุ้นไทยจะฟื้นตัวขึ้นได้ แต่เราไม่ได้คาดหวังว่าดัชนีจะปรับขึ้นไปได้มาก เนื่องจากปัญหาสำคัญอย่างเรื่องเงินเฟ้อยังคงอยู่อีกอย่างน้อย 3-4 เดือน และจะทวีความรุนแรงขึ้นถ้าราคาน้ำมันยังขึ้นไม่หยุด นอกจากนี้การลดพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นในภูมิภาคยังคงกดดันตลาดหุ้น รวมถึงแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาทอาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้นักลงทุนนำเงินออกจากตลาดหุ้นไทย และช่วยทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศย่ำแย่ลง

กลยุทธ์ประจำเดือนมิถุนายน

ให้น้ำหนักการลงทุนมากกว่าตลาดในหมวดพลังงาน ธนาคารขนาดใหญ่ สื่อสาร ให้น้ำหนักการลงทุนน้อยกว่าตลาดในหมวดปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้าง และปรับน้ำหนักกลุ่มอสังหริมทรัพย์ลดลงเป็นการลงทุนที่น้อยกว่าตลาด

กำลังโหลดความคิดเห็น