xs
xsm
sm
md
lg

ไทยช่วยพม่าพัฒนาท่าเรือทะวาย 5 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#660099>ท่าเรือทะวายเป็นปลายทางยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาค </FONT></CENTER>

ผู้จัดการรายวัน --- รัฐบาลไทยได้อนุมัติหลักการให้มีการทำบันทึกช่วยความจำเพื่อความเข้าใจกับรัฐบาลพม่า ในโครงการร่วมมือช่วยเหลือประเทศนี้พัฒนาท่าเรือน้ำลึกเมืองทะวาย (Dawei) พร้อมโครงการพัฒนาอาณาบริเวณโดยรอบ มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งจะเปิดให้ภาคเอกชนเข้าลงทุน

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยเรื่องนี้หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคาร (6 พ.ค.) ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ครม.ได้เห็นชอบกรอบความร่วมมือในโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกดังกล่าวซึ่งจะใช้เงินลงทุนประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท

ขั้นตอนจากนี้จะมีการลงนามในบันทึกความร่วมมือ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เอกชนไทยที่สนใจเข้าไปลงทุนได้ด้วย นายสันติ กล่าว

รมว.คมนาคมของไทย เคยกล่าวว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) แสดงความสนใจที่จะไปลงทุนตั้งโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากพม่าเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ ส่วนอินเดียสนใจลงทุนโรงถลุงเหล็ก เมื่อการก่อสร้างและพัฒนาท่าเรือแล้วเสร็จ ที่นั่นยจะกลายเป็นแหล่งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

ไทยจะได้รับประโยชน์จากโครงการความร่วมมือดังกล่าว ในเบื้องต้นในด้านการขนส่งโดยรัฐบาลมีโครงการก่อสร้างโครงข่ายรถไฟทางคู่ไปเชื่อมโยงกับท่าเรือทะวาย ทั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ทั่วประเทศระยะทาง 2,644 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 367,312 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะนำเข้าพิจารณาในสัปดาห์หน้า

“การขนส่งเพื่อไปยังท่าเรือทะวาย และแหล่งอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในพม่า จะต้องผ่านโครงข่ายระบบขนส่งของไทย ดังนั้น ไทยจะต้องพยายามดึงนักลงทุนต่างประเทศบางส่วนมาลงทุนตามแนวชายแดนของไทยด้วย แต่จะต้องเลือกเฉพาะอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม..” นายสันติ กล่าว

เมืองท่าทะวายถูกกำหนดให้เป็นท่าเรือปลายทางด้านมหาสมุทรอินเดีย สำหรับโครงการก่อสร้างถนนสายเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกสาย 2 ที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย โดยมีต้นทางที่ท่าเรือเมืองกวีเญิน (Quy Nhon) ใน จ.บิ่งดิง (Binh Dinh) ชายฝั่งทะเลจีนใต้ในภาคกลางเวียดนาม

ถนน EWEC 2 ถูกกำหนดให้ตัดผ่านที่ราบสูงภาคกลางเวียดนามเข้าสู่เมืองสตึงแตร็ง (Stung Treng) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกัมพูชา เข้าสู่เมืองเสียมราฐ ศรีโสภณ ปอยเปต เข้าสู่กรุงเทพฯ และกาญจนบุรี ก่อนจะทะลุออกไปยังเมืองท่าทะวาย

ถนนสายยุทธศาสตร์สำคัญนี้จะช่วยร่นระยะเวลา และประหยัดค่าขนส่ง เมื่อเทียบกับการขนส่งทางเรือไปอ้อมช่องแคบมะละกา เพื่อต่อไปยังมหาสมุทรอินเดีย

ตามรายงานของสื่อทางการพม่า ท่าเรือทะวายถูกกำหนดให้เป็นท่าเรือน้ำลึกแห่งที่ 2 ของประเทศ ถัดจากเมืองท่าสิตต่วย (Sittwe) ในรัฐยะไข่ (Rakhine) ทางภาคเหนือซึ่งรัฐบาลจีนรับปากจะให้ความช่วยเหลือก่อสร้าง

ในเดือน ธ.ค.2549 ไทยและลาวได้ร่วมกันเปิดใช้สะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำโขง มุกดาหาร-สะหวันนะเขต เป็นการเปิดประตูให้แก่ถนนเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกสายที่ 1 ซึ่งมีต้นทางที่เมืองท่าด่าหนัง (Danang) ในเวียดนาม

ปลายทางอีกด้านหนึ่งของถนน EWEC 1 อยู่ที่เมืองมะละแหม่ง (Mawlamyine) ในรัฐมอญ ปากทางสู่มหาสมุทรอินเดีย ปัจจุบันกำลังรอเปิดใช้การถนนเชื่อมต่อส่วนที่อยู่ในพม่าความยาว 100 กิโลเมตรเศษ ซึ่งเริ่มจากเมืองเมียววดีติดกับชายแดนไทย ด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก
กำลังโหลดความคิดเห็น