xs
xsm
sm
md
lg

ผุดถนนอีก 3 สายเชื่อมเวียดนาม-ไทย-พม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ผู้จัดการรายวัน—ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี ได้กำหนดแนวถนนสายเศรษฐกิจสำคัญอีก 3 สาย เพื่อเชื่อมต่อเวียดนาม-กัมพูชา-ไทย ทะลุไปออกทะเลตะวันตกในพม่าที่เมืองทะวาย (Dawei) ซึ่งจะกลายเป็นถนนสายหลักในการคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศกลุ่มความร่วมมืออนุภูมิภาคแม่น้ำโขงหรือ GMS (Greater Mekong Sub-Region)

ถนนที่พาดผ่านอนุภูมิภาคทั้ง 3 สายได้ถูกบรรจุเข้าในแผนความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่งกลุ่มความร่วมมืออนุภูมิภาคแม่น้ำโขงหรือ GMS ที่จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีนี้ไปตลอด 6-7 ปีข้างหน้าซึ่งเมื่อแล้วเสร็จก็จะกลายเป็นเส้นทางคมนาคมสายการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวที่สำคัญ ระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านด้วย

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) ได้บรรจุแนวถนนสายเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกสายที่ 2 (East-West Economic Corridor II) เข้าในแผนพัฒนาเส้นทางคมนาคมใน GMS อย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก และ บรรจุเข้าในร่างแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ 2551-2555 (Vientiane Plan of Action 2008-2012) ของกลุ่มด้วย

คาดว่าผู้นำกลุ่ม 6 ประเทศอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง คือ กัมพูชา จีน ลาว พม่า ไทยกับเวียดนาม จะรับรองเอาแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ 2551-2555 อย่างเป็นทางการ ในการประชุมระหว่างวันที่ 30-31 มี.ค.นี้ ในเมืองหลวงของลาว

ตามแผนการของ ADB ถนน EWEC II มีจุดเริ่มต้นที่เมืองกวีเญิน (Quy Nhon) เมืองท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลจีนใต้ใน จ.บิ่งดิง (Binh Dinh) ตัดผ่านเขตที่ราบสูงภาคกลางทะลุพรมแดนไปเชื่อมกับเมืองสะตึงแตร็ง (Stung Treng) ในกัมพูชา ต่อไปยังเมืองเสียมราฐ และพุ่งตรงเข้าสู่ไทยที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ตัดเข้ากรุงเทพฯ-กาญจนบุรี ไปยังเมืองทะวายชายฝั่งทะเลอันดามันในพม่า

ตามร่างแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ 2551-2555 ถนน EWEC II จะเป็นเส้นทางท่องเที่ยวสายสำคัญ พอๆ กับการเป็นถนนเพื่อขนส่งสินค้าเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

ถนน EWEC II เป็นสายคู่ขนานกับ EWEC I (ด่าหนัง-สะหวันนะเขต-มุกดาหาร-มะละแหม่ง) ซึ่งเปิดใช้อย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2547 และ เปิดสะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมต่อเข้ากับระบบทางหลวงของไทยในเดือน ธ.ค.2549 ปัจจุบันรอการเปิดใช้ส่วนสุดท้ายความยาวประมาณ 150 กิโลเมตรในพม่า

ใต้ลงไปยังมีถนนอีกสายหนึ่งที่มีจุดเริ่มจากเมืองท่าหวุงเต่า (Vung Tao) จ.บ่าเหรียะ-หวุงเต่า (Ba Ria-Vung Tao) ผ่านนครโฮจิมินห์ เข้าสู่กัมพูชาที่ จ.สวายเรียง (Svay Rieng) ไปยังกรุงพนมเปญ และไปบรรจบกับถนน EWEC II ที่เมืองศรีโสภณ จ.บ้านใต้มีชัย (Banteay Meanchey) มุ่งสู่ชายแดนไทย

ทั้งหมดนี้มีกำหนดดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 นี้เป็นต้นไปจนถึงปี 2557-2559 โดยมีแหล่งสนับสนุนการเงินหลักคือ เอดีบี

แผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ ยังกำหนดเส้นทาง GMS Southern Coastal Corridor ซึ่งเป็นถนนเลียบชายฝั่งทะเลอ่าวไทยจากเมืองก่าเมา (Ca Mao) ทางตอนใต้สุดของเวียดนาม ผ่านจังหวัดในที่ราบปากแม่น้ำโขง เข้าสู่กัมพูชา ที่ จ.กัมโป้ท (Kampot) ไปยังเมืองท่องเที่ยวชายทะเลสีหนุวิลล์ (Sihanoukville) สู่ จ.เกาะกง (Koh Kong) เข้าสู่ประเทศไทยที่ จ.ตราด ผ่านเมืองพัทยา ท่าเรือแหลมฉบัง เข้ากรุงเทพฯ

ถนน GMS Southern Coastal Corridor นับเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยวสายยาวอีกสายหนึ่งที่เริ่มจากภาคใต้เวียดนามมายังกรุงเทพฯ ไปยัง จ.กาญจนบุรี และไปยังเมืองทะวายในพม่าเช่นเดียวกัน

ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในแผนการก่อสร้างหรือพัฒนายกระดับเส้นทางคมนาคมแนวตะวันออก-ตะวันตก เหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) ถนนเศรษฐกิจสายกลางกลาง (Central Corridor) และ ถนนเศรษฐกิจสายตะวันออก (Eastern Corridor) จำนวนหลายสิบสายในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง และปรากฏอยู่ในแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์

ยังมีถนนสายสำคัญอีกสายหนึ่งที่มีจุดเริ่มจากกรุงเทพฯ ตัดผ่าน จ.เลย ข้ามพรมแดนลาวสู่แขวงไซยะบูลี ไปยังเมืองหลวงพระบาง และ เชื่อมต่อกับแนวถนนสายเศรษฐกิจตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor) ผ่านแขวงหัวพัน ทะลุออกไปยัง จ.แท๊งฮวา (Thanh Hoa) ในภาคกลางตอนบนของเวียดนาม ซึ่งที่นั่นจะเป็นที่ตั้งโรงกลั่นน้ำมันหงิเซิน (Nhgi Son) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศนี้

ถนน GMS สายยาวที่เชื่อมไทย-ลาว-เวียดนามนี้ มีกำหนดดำเนินการในช่วงปี 2551-2555 นี้ โดยส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาเส้นทางที่มีอยู่เดิมเพื่อขยายศักยภาพในการขนส่ง และส่วนหนึ่งเป็นการสร้างใหม่ รวมทั้งช่วง จ.เลย-แขวงไซยะบูลีด้วย

ก่อตั้งเมื่อปี 2535 กลุ่มความร่วมมืออนุภูมิภาคแม่น้ำโขงกำลังร่วมกันดำเนิน 11 โครงที่ครอบคลุมด้านการคมนาคมขนส่ง การค้า การท่องเที่ยว พลังงานการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วย

ผู้นำ 6 ประเทศกำลังจะหารือกันในเมืองหลวงของลาวเกี่ยวกับขอบเขตความร่วมมือใน 6 เนื้อหาด้วยกัน โดยนายกรัฐมนตรีไทยนายสมัคร สุนทรเวช จะเป็นผู้กล่าวนำในหัวข้อความร่วมมือด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนุภูมิภาค ซึ่งครอบคลุมเรื่องทุนการศึกษา การแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและการฝึกอบรม นายกริช ไกรจิตติ อธิบดีกรมเศรษฐกิจต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศกล่าวเมื่อวันพุธ (26 มี.ค.)

ผู้นำ GMS กำลังจะเซ็นบันทึกช่วยความจำเพื่อความเข้าใจ (MoU) จำนวน 3 ฉบับ รวมทั้งฉบับที่ว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากถนนเอเชียสาย 3a (A3-a) หรือ อาร์-3 (Route 3) จีน-ลาว-ไทย โดยนายกรัฐมนตรีจีน นายเวินเจียเป่า (Wen Jaibao) จะเป็นผู้กล่าวนำ รวมทั้งกำลังจะมีพิธีฉลองความสำเร็จในการก่อสร้างถนนสายสำคัญนี้

ถนนเอเชียสาย 3 นี้มีจุดเริ่มจากเมืองคุนหมิง ในมณฑลหยุนหนัน ผ่านภาคเหนือของลาวจนถึงเมืองห้วยทรายในแขวงบ่อแก้ว ผ่านเข้าสู่ประเทศไทย ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย

อย่างไรก็ตามแม้ว่าการก่อสร้างถนนอา-3 จะแล้วเสร็จและพร้อมเปิดใช้งานในปีนี้ แต่การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงห้วยทราย-เชียงของ จะยังดำเนินต่อไปจนถึงปี 2554

ผู้นำ 6 ประเทศยังจะร่วมลงนามในบันทึกฯ อีก 1 ฉบับว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานและ “การค้าพลังงานข้ามพรมแดน” อีกด้วย นายกริชกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น