ผู้จัดการรายวัน-- ทางการเวียดนามกล่าวว่าภายในปี 2554 หรืออีกเพียง 3 ปีเศษข้างหน้า เที่ยวบินระหว่างประเทศจะสามารถบินขึ้นลงที่ท่าสนามบินฟุก๊วกได้ ซึ่งจะเป็นก้าวกระโดดสำคัญในกระบวนการพัฒนาเกาะใหญ่ที่สุดของประเทศในเขตอ่าวไทยให้เป็นปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมภายในปี 2563
ทางการถูกเร่งเร้าจากภาคเอกชนและนักลงทุนให้ต้องเร่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ขณะที่ตัวเลขเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ฟุก๊วก (Phu Quoc) พุ่งขึ้นเป็นประมาณ 2,400 ล้านดอลลาร์ในขณะนี้
นายวันห่าฟง (Van Ha Phong) รองประธานคณะกรรมการประชาชน จ.เกียนยาง (Kien Giang) บอกเรื่องนี้กับที่ประชุมสัมมนาเกี่ยวกับการลงทุนเกาะฟุก๊วกที่จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ระหว่างการประชุมสัมมนาระหว่างประเทศภายใต้หัวข้อ "เกาะไข่มุกฟุก๊วก: ปลายทางสุดฮอตความร่วมมือและการลงทุน" (Phu Quoc Pearl Island: A Hot Destination for Cooperation and Investment) ผู้เข้าร่วมได้ขอให้ทางปรับเร่งพัฒนาสาธารณูปโภค เพื่อรองรับกับโครงการพัฒนากว่า 100 โครงการของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไซ่ง่อนไทมส์ แม้ว่าระบบรองรับต่างๆ จะยังล้าหลัง แต่ฟุก๊วกก็ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนจำนวนมาก
ปัจจุบันมีนักลงทุนในและต่างประเทศเกือบ 400 ราย ให้ความสนใจเข้าไปแสวงหาโอกาสลงทุนในแขนงต่างๆ ที่ฟุก๊วก รวมทั้งโรงแรม รีสอร์ท พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว หลายโครงการมูลค่านับ 1,000 ล้านดอลลาร์อยู่ระหว่างการพิจารณาหรือจัดทำเอกสาร หรือจัดหาข้อมูลการวิจัยประกอบ
นายห่าฟงกล่าวว่าโครงการลงทุนบนฟุก๊วกขณะนี้มีมากจนล้น เพราะบนเกาะมีเนื้อที่รองรับได้เพียง 5,000-6,000 เฮกตาร์ (31,000-37,000 ไร่) เท่านั้น ไม่พอสำหรับการก่อสร้างโครงการลงทุนต่างที่เสนอเข้าไปทั้งหมด
เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวว่าจนถึงปัจจุบันมีโครงการลงทุนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติเป็นมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งโครงการขนาดใหญ่ที่แต่ละโครงการมีมูลค่านับพันๆ ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะ
รัฐบาลเวียดนามประกาศแผนแม่บทในปี 2548 เพื่อพัฒนาเกาะใหญ่ในอ่าวไทยให้เป็นปลายทางการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวระดับบนจากทั่วโลก และให้ที่นั่นเป็นเขตการท่องเที่ยวจำเพาะ รวมทั้งจะมีการพัฒนาแหล่งกาสิโนระดับ 5 ดาวในอนาคตด้วย
ฟุก๊วกตั้งอยู่นอกชายฝั่ง จ.เกียนยาง เป็นเกาะที่มีเนื้อที่มากที่สุดคือ 561 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 85,000 คน มากที่สุดในบรรดาเกาะต่างๆ และทีชายฝั่งทะเลรวมยาว 150 กม.
เกาะนี้อยู่ห่างจากไทยไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 500 กม. และ 700 กม.จากมาเลเซีย 1,000 กม.จากสิงคโปร์ สามารถเดินทางถึงกันได้โดยใช้เวลาบิน 1-1 ชั่วโมงครึ่ง
ฟุก๊วกยังตั้งอยู่ใกล้กับเมืองแก๊ป (Kep) จ.กัมโป้ท (Kampot) กับ เมืองสีหนุวิลล์ (Sihanoukville) ซึ่งเป็นเมืองตากอากาศ เมืองท่องเที่ยวชายทะเลในกัมพูชา ซึ่งรัฐบาลประเทศนั้นกำลังพัฒนาขึ้นมาสให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว การค้าและอุตสาหกรรมของประเทศ
ผู้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาสัปดาห์ที่แล้วต่างเห็นพ้องกันในศักยภาพของฟุก๊วก แต่แสดงความห่วงใยต่อระบบสาธารณูปโภคที่ขาดแคลนอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติจากทางการจังหวัดแล้วจำนวน 14 โครงการรวมมวลค่า 2,400 ล้านด่ง (อัตราแลกเปลี่ยน 15,960 ด่งต่อ 1 ดอลลาร์) ถ้าหากทุกโครงการพัฒนาไปพร้อมๆ กันในวันนี้ก็จะมีไฟฟ้าและน้ำประปาไม่เพียงพอรองรับ
นักลงทุนยังแสดงความห่วงใยว่า โครงการพัฒนาต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของเกาและทำให้ระบบแบ่งเขตพัฒนากับเขตนิเวศน์สงวนจะผิดเพี้ยนไปและการพัฒนาทั้งเกาะจะไม่เป็นไปตามจุดประสงค์
รัฐบาลเวียดนามมีนโยบาย พัฒนาให้ฟุก๊วกเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่โดดเด่น เนื่องจากทั่วทั้งเกาะเป็นแหล่งชีวะนานาพันธุ์ที่สมบูรณ์ ทะเลรอบๆ เกาะยังเป็นแหล่งดำน้ำชมปะการังและสัตว์น้ำที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งในอ่าวไทย
อย่างไรก็ตามปัจจุบันเส้นทางคมนาคมขนส่งบนเกาะมีเพียงถนนสายหลักเท่านั้น ถนนสายรองอื่นๆ เกือบทั้งหมดยังไม่มีการพัฒนา ไม่ต่างกับสนามบินที่ยังมีขนาดเล็ก ไม่เหมาะสมอีกต่อไปเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี
รองประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัดเกียนยางกล่าวว่า รัฐบาลกำลังเร่งพัฒนาสนามบินฟุก๊วกให้เป็นสนามบินนานาชาติ 1 ในจำนวน 10 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2558 ปัจจุบันสายการบินเวียดนามให้บริการบินเชื่อมฟุก๊วกวันละ 3 เที่ยว โดยใช้เครื่องบินเล็กแบบ AN26 หรือ ATR72
เจ้าหน้าที่เวียดนามกล่าวว่าในปี 2554 เครื่องโบอิ้ง 737 จะสามารถขึ้นลงที่นั่นได้ รองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ รวมทั้งเครื่องบินเช่าเหมาลำจากต้นทางต่างๆ ทั่วเอเชีย
รัฐบาลเวียดนามและกัมพูชาได้ตกลงก่อสร้างทางหลวงทะลพรมแดนถึงกันหลายเส้นทาง ซึ่งจะเป็นการเปิดประตูการคมนาคมขนส่งระหว่างจังหวัดต่างๆ ในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงของเวียดนามไปจนถึงกรุงเทพฯ
โครงการก่อสร้างยกระดับทางหลวงสายต่างๆ ได้รับการสนับสนุนด้านทุนรอนจากธนาคารพัฒนาเอเชียและรัฐบาลญี่ปุ่น
สื่อของทางการเวียดนามรายงานก่อนหน้านี้ว่า ทางหลวงสายต่างๆ ที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนายกระดับนี้จะเชื่อมแหล่งท่องเที่ยวเขตชายทะเลอ่าวไทยของเวียดนามและกัมพูชา รวมทั้งการท่องเกาะในแถบนี้เข้าด้วยกัน.