xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นให้ $20 ล้านหนุน EWEC2 เวียดนาม-กัมพูชา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ผู้จัดการรายวัน-- รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศในวันพุธ (16 ม.ค.) ที่ผ่านมาให้เงินประมาณ 20 ล้านดอลลาร์ สนับสนุนการพัฒนาการขนส่งสินค้าตามแนว “ถนนเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกสาย 2” ซึ่งเจ้าหน้าที่ของประเทศนี้กล่าวว่า เป็นเส้นทางสายใหม่ที่เชื่อมเวียดนามกับกัมพูชา

รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ให้เงินอีกจำนวนเท่าๆ กัน สนับสนุนโครงการพัฒนาการศึกษาและสาธารณูปโภคในเขตสามเหลี่ยมพัฒนาของ 3 ประเทศเพื่อนบ้านในคาบสมุทรอินโดจีน ลาว เวียดนามและกัมพูชา

นับเป็นการประกาศให้การสนับสนุนเขตสามเหลี่ยมพัฒนา (Development Triangle) อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกจากญี่ปุ่น นับตั้งแต่สามประเทศ "กลุ่ม CLV" (กัมพูชา ลาว เวียดนาม) ได้รวมตัวกันเพื่อพัฒนาดินแดนรอยต่อชายแดนที่ยังล้าหลังและประชาชนยากจนที่สุดในอนุภูมิภาค

ขณะเดียวกันก็เป็นครั้งแรกที่ทางการญี่ปุ่นได้กล่าวถึงโครงการถนนสายเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกสายที่ 2 (East-West Economic Corridor 2) ที่ยังไม่เคยปรากฏเป็นรูปเป็นร่างอย่างชัดเจนบนแผนที่อนุภูมิภาค

ญี่ปุ่นเป็นผู้สนับสนุนหลักโดยผ่านธนาคารพัฒนาเอเชีย สำหรับโครงการพัฒนาถนนสายเศรษฐกิจฯ สายที่ 1 จากท่าเรือนครด่าหนัง (Danang) ชายฝั่งทะเลจีนใต้ของเวียดนาม ผ่านลาว ไทยและไปออกมหาสมุทรอินเดียที่เมืองท่ามะละแหม่ง (Mawlamyine) อ่าวเมาะตะมะของพม่า

การเปิดใช้สะพานมิตรไทย-ลาวแห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) ในเดือน ธ.ค.2549 ได้ทำให้การสัญจรตามถนน EWEC 1 สะดวกยิ่งขึ้น ปัจจุบันเหลือเพียงช่วงสั้นๆ ระยะทาง 100 กิโลเมตรเศษในพม่าเท่านั้น ที่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ

เขตสามเหลี่ยมพัฒนาของกลุ่ม CLV ครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง จาก 4 แขวงตอนใต้สุดของลาวคือ สาละวัน อัตตะปือ จำปาสักและเซกอง กับ 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือกัมพูชา ซึ่งได้แก่ สตึงแตร็ง (Stung Treng) มณฑลคีรี (Mondulkiri) รัตนคีรี (Rattamakiri) กระแจ๊ (Kratie) กับ 4 จังหวัดเขตที่ราบสูงภาคกลางเวียดนาม คือ กงตูม ยาลาย ดั๊กลัก กับ ดั๊กนง

กลุ่ม CLV ได้เรียกร้องเมื่อปีที่แล้วให้ญี่ปุ่นช่วยพัฒนาก่อสร้างถนนโครงการขนาดเล็กเพื่อเชื่อมระหว่างปลายทางสำคัญต่างๆ ที่ยังขาดอยู่ รวมทั้งช่วยสร้างโรงเรียน จัดหาน้ำดื่มน้ำใช้ และไฟฟ้า เพื่อเปิดเขตเศรษฐกิจกับความร่วมมือแห่งใหม่ขึ้นในอนุภูมิภาคที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ
เมื่อวันพุธญี่ปุ่นได้ประกาศจัดสรรเงินอีกประมาณ 20 ล้านดอลลาร์สนับสนุนโครงการพัฒนาของกลุ่ม CLV นอกเหนือจาก 20 ล้านดอลลาร์สำหรับการพัฒนาถนน EWEC 2 โดยเฉพาะ

รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย นายนิตย์ พิบูลสงคราม รมว.ต่างประเทศลาว ทองลุน สีสุลิด รมว.ต่างประเทศกัมพูชา ฮอร์นัมฮอง รมว.ต่างประเทศเวียดนามฝ่ามยาเคียม และ รมว.ต่างประเทศพม่าเนียนวิน เข้าร่วมการประชุมหารือกับ รมว.ต่างประเทศญี่ปุ่นมาซาฮิโกะ โกมุระ (Masahiko Komura)

ได้มีการลงนามในความตกลงหลายฉบับระหว่างญี่ปุ่นกับอีก 4 ประเทศยกเว้นไทย ซึ่งไม่ได้มีฐานะเป็นประเทศผู้รับการช่วยเหลืออีกต่อไป

สำหรับพม่าได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเงินกว่า 1.7 ล้านดอลลาร์สำหรับโครงการสาธารณสุขในประเทศ

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์อาซาฮีชิมบุน (Asahi Shimbun) ซึ่งอ้างคำกล่าวของเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศผู้หนึ่ง ความช่วยเหลือที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้แก่โครงการพัฒนาของกลุ่ม CLV เป็นการช่วยเหลือในระยะยาว และ เงินก้อนนี้เป็นเพียงก้อนแรกเท่านั้น

สื่อในญี่ปุ่นรายงานก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลกรุงโตเกียวมีแผนที่จะให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาใน 3 ประเทศนี้ เป็นเงินประมาณ 175 ล้านดอลลาร์ ด้วยเงินจากกองทุนบูรณาการญี่ปุ่น-อาเซียน (Japan-ASEAN Integration Fund) ที่จัดตั้งขึ้นในปี 2549

ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้บริจาคที่ให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการเพื่อการพัฒนา หรือ ODA (Official Development Assistance) รายใหญ่ที่สุดสำหรับเวียดนาม กัมพูชาและลาว

อย่างไรก็ตามในช่วงปีใกล้ๆ นี้ จีนได้เข้าไปมีอิทธิพลอย่างสูงในกลุ่ม CLV โดยผ่านความช่วยเหลือต่างๆ เช่น การก่อสร้างทางหลวงในภาคเหนือของลาวกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา และยังให้งบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างทำเนียบรัฐบาลในกรุงพนมเปญด้วย

เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นกล่าวก่อนหน้านี้ว่า ความช่วยเหลือที่ให้แก่กลุ่ม CLV ครั้งนี้ ยังเป็นการดุลอำนาจอิทธิพลของจีนอีกทางหนึ่ง

ญี่ปุ่นได้ให้การช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในอนุภูมิภาคนี้มาเป็นเวลานานก่อนที่จีนจะเข้ามาบทบาทในยุคหลังสงครามเย็น

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ญี่ปุ่นได้พยายามรักษาตลาดสินค้าเอาไว้ให้มั่นคง พร้อมๆ กับการช่วยพัฒนาถนนเป็นเส้นทางสำหรับอำนวยความสะดวกแก่การค้าขายการลงทุนและการขนส่งสินค้า ในยุคที่สันติภาพกลับคืนมาสู่อนุภูมิภาคแม่น้ำโขง

เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นกล่าวอย่างชัดเจนว่า เงินทุน 20 ล้านดอลลาร์มุ่งไปที่การพัฒนาการกระจายสินค้าตามถนนเศรษฐกิจฯ สายที่ 2 ที่ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา

อย่างไรก็ตามยังไม่เป็นที่ชัดเจนเกี่ยวกับถนนสายเศรษฐกิจฯ สายที่ 2 โดยเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นกล่าวแต่เพียงว่า ถนน EWEC สายที่ 1 นั้น เชื่อมเวียดนามกับไทย แต่ EWEC 2 จะเชื่อมเวียดนามกับกัมพูชา

ชื่อ EWEC 2 ได้อยู่ในโครงการของธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) มาเป็นเวลานานกว่าทศวรรษ แต่เพิ่งจะได้รับความสนใจขึ้นมาอีกครั้งในเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว ระหว่างการประชุมสัมมนาในนครด่าหนัง โดยมีเจ้าหน้าที่จากประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มอาเซียนไปร่วมด้วย

คณะกรรมการประชาชนนครด่าหนัง (Danang) ประกาศจะนำโครงการถนนสาย EWEC 2 เสนอต่อรัฐบาลเพื่อพิจารณาดำเนินการ โดยเริ่มจากท่าเรือด่าหนังผ่านเข้าสู่แขวงภาคใต้ของลาว เข้าสู่ จ.อุบลราชธานี มีปลายทางที่กรุงเทพฯ

แผนการดังกล่าวอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือกลุ่มอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง หรือ GMS (Greater Mekong Sub-Region) ที่ประกอบด้วย เวียดนาม ไทย ลาว กัมพูชา กับมณฑลหยุนหนันของจีน

การสำรวจเบื้องต้นได้พบว่าแนวถนนเศรษฐกิจฯ สายใหม่ ไปถึงเมืองหลวงของไทยมีระยะทางทั้งสิ้น 987 กิโลเมตร สั้นกว่าราว 400 กม. เทียบกับถนน EWEC 1 ที่ใช้ทางหลวงเลข 9 ของเวียดนามและในภาคกลางของลาว ข้ามสู่ประเทศไทยที่ จ.มุกดาหาร

ถนนตามแนวนี้มีช่วงที่ยังไม่ได้ลาดยางอยู่ประมาณ 123 กิโลเมตร คือ ช่วงจากด่านดักต๊ก (Daktok) ชายแดนเวียดนาม-ลาว ไปยังเมืองเซกอง เมืองเอกของแขวงชื่อเดียวกันในภาคใต้ของลาว

เจ้าหน้าที่เวียดนามกล่าวในครั้งนั้นว่า ถนน EWEC 2 นี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจในเขตที่ราบสูงภาคกลางเวียดนาม รวมทั้งเขตที่ราบสูงโบโลเวน (Boloven) ในภาคใต้ของลาว

จากเมืองเซกอง หรือ เมืองปากเซ ยังสามารถลงใต้ไปเชื่อมกับทางหลวงเลข 7 ในภาคตะวันออกเฉียง เหนือกัมพูชา ที่มีกำหนดเปิดใช้ในปี 2551 นี้ และ เดินทางต่อไปจนถึงกรุงพนมเปญได้

จากเมืองปากเซ ยังสามารถเดินทางต่อไปยังประเทศไทยได้โดยผ่านที่ด่านช่องเม็ก เพื่อไปเชื่อมกับระบบทางหลวงที่ทันสมัยของไทย มุ่งสู่กรุงเทพฯ

เวียดนามกล่าวว่า EWEC 2 มีศักยภาพสูงในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ การตลาดและการท่องเที่ยว ระหว่าง 4 ประเทศ เวียดนาม ลาว กัมพูชาและไทย รวมทั้งสามารถโยงไปถึงภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนได้อีกด้วย

ก่อนหน้านั้นในเดือน มิ.ย. ได้เคยมีการหยิบยกโครงการถนนข้ามประเทศสายใหม่ขึ้นหารือระหว่างการประชุมเกี่ยวกับความร่วมมือและการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจภายในกลุ่ม GMS ที่จัดขึ้นในนครเหว (Hue) โดยกระทรวงวางแผนและการลงทุนเวียดนาม กับเอดีบี

แต่ก็ยังไม่เคยมีคำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวของถนน EWEC 2.
กำลังโหลดความคิดเห็น