xs
xsm
sm
md
lg

ปีนี้กาแฟขมจัดเวียดนามได้น้อยราคาพุ่งโด่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ผู้จัดการรายวัน -- ข่าวร้ายสำหรับคอกาแฟ ก็คือ ปีนี้อาจจะต้องดื่มแพงขึ้นจากปีที่แล้วเนื่องจากภูมิอากาศหนาวรุนแรงในช่วงปลายปี 2550 ต้นปี 2551 ส่งผลกระทบต่อเขตสวนกาแฟในที่ราบสูงภาคกลางอย่างรุนแรง เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ลดลง ทำให้ราคาเมล็ดกาแฟพุ่งขึ้นสูงทำสถิติใหม่ตลอดสองสัปดาห์มานี้


ราคาเมล็ดกาแฟดิบในประเทศได้สูงขึ้นทำสถิติใหม่เป็น 42,000 ด่ง หรือประมาณ 2.65 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 2,000 ด่งในช่วงเวลาเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น สื่อทางการรายงานโดยอ้างตัวเลขแผนกการค้าและการท่องเที่ยว จ.ดั๊กลัก (Dark Lack) ซึ่งเป็นแหล่งกาแฟใหญ่ของประเทศ

ผู้เชี่ยวชาญในตลาดกาแฟ กล่าวว่า สัปดาห์ที่แล้วราคากาแฟได้พุ่งขึ้นเป็น 40,000 ด่ง (2.50 ดอลลาร์) ต่อ กก. ซึ่งเป็นราคาสูงที่สุดในรอบ 10 ปี ราคาที่พุ่งต่อเนื่องเป็นผลมาจากการที่ปีนี้ผลผลิตกาแฟลดน้อยลง และราคาน้ำมันที่พุ่งสูงไม่หยุดทำให้ต้นทุนการผลิตกาแฟสูงขึ้นเป็นเงา

คาดว่า ราคากาแฟในเวียดนามยังจะพุ่งขึ้นเป็นประมาณ 45,000-50,000 ด่งต่อ กก.ในอนาคตอันใกล้นี้

ปัจจุบันในจังหวัดในเขตไตเงวียน (Tay Nguyen) หรือเขตที่ราบสูงภาคกลางของประเทศ อันได้แก่ดั๊กลัก ดั๊กนง (Dak Nong) และ จ.เลิมด่ง (Lam Dong) ผลิตเมล็ดกาแฟได้เฉลี่ย 3 ตันต่อ 1 เฮกตาร์หรือ 6.25 ไร่ ชาวสวนกาแฟมีรายได้ระหว่าง 50-70 ล้านด่ง (3,100-4,400 ดอลลาร์) ต่อเฮกตาร์

กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนามประมาณว่า ปีนี้จะผลิตเมล็ดกาแฟได้ทั้งสิ้น 17.4 กระสอบ (น้ำหนัก 60 กก./กระสอบ) เพิ่มขึ้น 17% จากปีที่แล้ว แต่ยังต่ำกว่าความต้องการของตลาด 20-30%

องค์การกาแฟระหว่างประเทศ (International Coffee Organisation) หรือ ICO คาดการว่าในฤดูเก็บเกี่ยวปี 2550-2551 นี้บราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก จะผลิตเมล็ดกาแฟได้ราว 33.1 ล้านกระสอบ ลดลง 22% เทียบกับฤดูการผลิต 2549-2550

“ความล้มเหลวของประเทศ (ผู้ผลิต) ในซีกโลกใต้ ได้ทำให้เวียดนามกลายเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในซีกโลกเหนือ” สำนักข่าววีเอ็นเอ (Vietnam News Agency) ได้อ้างคำกล่าวของนายดว่านเจียวเญิน (Doan Trieu Nhan) ที่ปรึกษาคนหนึ่งของสมาคมกาแฟเวียดนาม

การที่ผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลกทั้งสองประเทศผลิตได้น้อยลง ได้ทำให้ราคาเมล็ดกาแฟในตลาดโลกพุ่งขึ้นในทันที

ราคาเมล็ดกาแฟพันธุ์โรบัสต้าเพิ่มขึ้น 5.5 เซนต์ เป็น 2,320 ดอลลาร์ต่อตันในสัปดาห์นี้ และราคาในตลาดสหรัฐฯ ก็สูงขึ้น 5.8% เป็น 3,380 ดอลลาร์ต่อตัน วีเอ็นเออ้างตัวเลขสมาคมกาแฟเวียดนาม ซึ่งระบุว่าราคาส่งออกในเวียดนามได้เพิ่มขึ้น 8-11% เป็นระหว่าง 2,080-2,275 ดอลลาร์ต่อตัน

ปี 2551 นี้ เวียดนามได้ตั้งเป้าจะส่งออกกาแฟได้ทั้งสิ้น 800,000 ตัน ลดลง 300,000 ตันจากปีที่แล้ว

ปี 2550 เวียดนามส่งออกรวม 1.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 22% ในเชิงปริมาณ และเพิ่มขึ้นราว 50% ในเชิงมูลค่าเมื่อเทียบกับการส่งออกปี 2549 วีเอ็นเอกล่าว

ตามรายงานของสื่อทางการเขตสวนกาแฟเวียดนามได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภัยวิบัติอย่างน้อย 2 ระลอกเมื่อปีที่แล้ว คือ อุทกภัยในเขตภาคกลางของประเทศ ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปนับร้อยในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.

หลายท้องที่ในเขตสวนกาแฟถูกพายุพัดทำลาย และยังทำให้การเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟต้องล่าช้า ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์แทงเนียน

ในช่วงปลายปี 2550 และ ต้นปีนี้ 2551 ภูมิอากาศหนาวเย็นที่สุดในรอบ 40 ปีจนทำให้เกิดหิมะตกในเขตยอดเขาภาคเหนือและเกิดน้ำแข็งในเขตหุบเขา ได้แผ่ความหนาวเย็นลงสู่ภาคกลางตอนบนและที่ราบสูงในภาคกลางของประเทศ ทำให้เมล็ดกาแฟที่ยังไม่สุกเน่าเสีย

เวียดนามเป็นประเทศส่งออกกาแฟพันธุ์โรบัสต้ารายใหญ่อันดับ 1 ของโลกติดต่อกันมาหลายปี กาแฟพันธุ์ที่ให้รสเข้มข้นมากกว่าอะราบิก้าเป็นที่ต้องการอย่างสูงในยุโรป และยังเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตกาแฟชงพร้อมดื่มอีกด้วย

ทางการเวียดนามกำลังเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกกาแสพันธุ์อะราบิก้าที่จำหน่ายได้ราคาสูงกว่าโรบัสต้า

ตามรายงานของสื่อทางการ ในเดือน ส.ค.2550 สมาคมกาแฟเวียดนามได้ทำความตกลงกับทางการแขวงจำปาสักของลาวเพื่อปลูกกาแฟอะราบิก้าในพื้นที่นับหมื่นเฮกตาร์ในเขตเมืองปากซองโดยบริษัทร่วมทุนของสองประเทศ

เมืองปากซองเป็นเขตสวนกาแฟคุณภาพดีของลาว ผลผลิตจากที่นั่นส่งออกไปยังยุโรปและสหรัฐฯ แต่เนื้อที่เพาะปลูกที่มีจำกัดและขาดแรงงานท้องถิ่นทำให้ไม่สามารถขยายการผลิตได้

อย่างไรก็ตาม ทางการแขวงได้สัญญาจะจัดหาพื้นที่ระหว่าง 3,000-5,000 เฮกตาร์ให้แก่บริษัทกาแฟร่วมทุนเวียดนาม-ลาว ดังกล่าว ทั้งนี้ เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์แทงเนียน
เวียดนามเริ่มรู้สึก-ตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกไม่รุ่ง
เวียดนามเริ่มรู้สึก-ตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกไม่รุ่ง
ผู้จัดการรายวัน-- หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเตรียมรับมือผลกระทบจาก โรคแฮมเบอร์เกอร์ ในสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศที่มีสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกใหญ่ซึ่งรวมทั้งเวียดนามด้วย ประเทศนี้กำลังรับรู้ถึงผลกระทบอย่างชัดเจน เวียดนามมีอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าเป็นแขนงส่งออกนำหน้า แต่ขณะนี้สถานการณ์ได้เปลี่ยนไป ไม่เฉพาะในยามที่กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติการทางการเงินในตลาดใหญ่ปลายทางเท่านั้น แต่ผู้ลงทุนในเวียดนามได้ถอดใจมาระยะหนึ่งแล้ว ในขณะนี้มีจำนวนมากกำลังหาทางตีจากอุตสาหกรรมที่รุ่งโรจน์นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น