xs
xsm
sm
md
lg

“สันติ”หนุนเอกชนลงทุนพม่า ชี้ไทยติดปัญหาเอ็นจีโอพัฒนายาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน-ชี้ท่าเรือทวายยุทธศาสตร์การค้าเชื่อม2ทะเลอันดามัน-อ่าวไทย "สันติ”หนุนเอกชนไทยและต่างชาติ ลงทุนพม่า ผุดท่าเรือทวายเชื่อมทะเลอันดามัน-อ่าวไทย พร้อมแหล่งอุตสาหกรรมเผยเงินลงทุนกว่าแสนล้านบาท ตอกเอ็นจีวีต้านไม่มีเหตุผล ทำต่างชาติขยาดลงทุนไทย ขณะที่ดูไบสนใจแลนด์บริดจ์ใต้และท่าเรือปากบาราเสนอเงินศึกษาแบบให้เปล่า เตรียมชงครม.รับทราบ

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการที่นายกรัฐมนตรีพม่าได้เดินทางเยือนประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 เม.ย.2551 ซึ่งได้มีการเจรจาข้อราชการร่วมกันโดยพม่าได้เสนอว่าต้องการให้ไทยสนับสนุนระบบขนส่ง ท่อส่งน้ำมัน ระหว่างไทยไปยังท่าเรือน้ำลึกทวายของพม่า ในขณะที่รัฐบาลไทยก็เห็นด้วยกับการที่จะให้เอกชนไทยเข้าไปรับสัมปทานในพม่าในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับท่าเรือทวาย โดยพม่าพร้อมเปิดพื้นที่ 2-3 หมื่นไร่ที่มีเพื่อสนับสนุนการลงทุนจากภาคเอกชนที่จะเข้าไปลงทุนด้านนิคมอุตสาหกรรม โรงกลั่น เชื่อมการขนส่งไปยังท่าเรือได้ โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนเฉพาะก่อสร้างท่าเรือทวายประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท แต่หากรวมมูลค่าการลงทุนด้านอุตสาหกรรมจะสูงกว่า แสนล้านบาท

โดยความร่วมมือด้านการขนส่งกับพม่าจะช่วยลดระยะทางและเวลาในการขนส่งได้ถึง 15 วันเนื่องจากไม่ต้องอ้อมช่องแคบมะละกา ทำให้ต้นทุนการขนส่งลดลง ในขณะที่จีนแสดงความจำนงในการสร้างทางรถไฟจากคุนหมิงลงมาถึงชายแดนลาวระยะทาง 773 กม. ซึ่งสามารถเชื่อมกับเส้นทางรถไฟ ลาวมายังหนองคาย ของไทยซึ่งมีระยะทาง 554 กม.โดยจีนพร้อมสนับสนุนการก่อสร้างในลาวเพื่อออกมายังท่าเรือทวายท่าเรือแหลมฉบังได้โดยในไทยมีแผนรถไฟทางคู่เส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตก หนองคาย-กาญจนบุรี ประเทศพม่าระยะทาง 990 กม. วงเงินก่อสร้าง 132,660 ล้านบาท

นายสันติกล่าวว่า ศักยภาพพื้นที่ของท่าเรือทวายหากพัฒนาอย่างเต็มที่จะใหญ่กว่า มาบตาพุดของไทย ซึ่งบริษัทปตท.มีความสนใจจะไปสร้างโรงกลั่นด้วยเนื่องจากพม่ามีแหล่งก๊าซนอกจากนี้ อินเดียก็แสดงความสนใจเข้าไปทำโรงถลุงเหล็ก ในขณะที่ไทยต้องการให้อุตสาหกรรมเกิดบริเวณชายแดนไทยมากกว่า แต่ที่ผ่านมา ไทยมีปัญหาเรื่องการต่อต้านของเอ็นจีโอ และข้อจำกัดด้านกฎระเบียบต่างๆ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่การลงทุนจะย้ายไปที่พม่าหมด

ดูไบโปรยเม็ดเงินศึกษาแลนด์บริดจ์ปากบารา

นายสันติกล่าวว่า ในขณะเดียวกันท่าเรือปากบาราจะมีก็ยังมีความจำเป็นเพราะเป็นท่าเรือเชื่อมกับด้านตะวันออกกลาง โดยเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางรัฐวิสาหกิจของดูไบ ได้แสดงความสนใจโครงการสะพานเชื่อมเศรษฐกิจ (แลนด์บริจด์) และโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา โดยจะให้เงินสนับสนุนแก่สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในการศึกษาทั้งหมด ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและความคุ้มค่าในการลงทุน วงเงินหลายสิบล้านบาท

นอกจากนี้ทั้งญี่ปุ่นและจีนได้แสดงความสนใจโครงการเช่นกันโดยแม้ดูไบจะให้การสนับสนุนเงินศึกษาแต่การประมูลหาผู้ลงทุนจะเปิดกว้างให้กับผู้สนใจทุกรายเท่าเทียมกัน ซึ่งดูไบก็ต้องเข้าร่วมประมูลตามกระบวนการโดยไม่ได้สิทธิพิเศษใดๆ เช่นกัน ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมจะรายงานให้คณะรัฐมนตรีรับทราบภายใน 1-2 สัปดาห์นี้เพื่อให้เริ่มศึกษาเร็วที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น