ผู้จัดการรายวัน-- ทางการกัมพูชาร่วมกับบริษัทร่วมทุนเขมร-ญี่ปุ่นได้เปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษพนมเปญ (Phnom Penh Special Economic Zone) หรือ PPSEZ เฟสแรกในวันพุธ (30 เม.ย.) ที่ผ่านมา โดยพุ่งเป้าหมายไปที่นักลงทุนจากญี่ปุ่นเป็นอันดับแรก
เขตเศรษฐกิจพิเศษกรุงพนมเป็น นับเป็นเพียงแห่งที่ 2 ของประเทศ ปัจจุบันมีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เปิดดำเนินการแล้วเพียงแห่งเดียวใน จ.สวายเรียง (Svay Rieng) ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์แม่โขงไทมส์
เขตเศรษฐกิจ PPSEZ จัดตั้งขึ้นมาเป็นเขตปลอดภาษีสำหรับการลงทุน โดยคาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานราว 100,000 ตำแหน่ง คาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนมาเลเซีย ไต้หวัน เกาหลี และเป็นพิเศษคือ นักลงทุนญี่ปุ่น
เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จครบทุกเฟส เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้จะกินอาณาบริเวณกว้าง
ขวาง 360 เฮกตาร์ (กว่า 2,200 ไร่) ด้วยเงินทุนราว 90 ล้านดอลลาร์ แม่โขงไทมส์รายงานโดยอ้างคำกล่าวของนายฮิโรชิ อูเอะมัตสึ (Hiroshi Uematsu) ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่น-กัมพูชา
เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่นี้อยู่ห่างจากกรุงพนมเปญไปทางใต้ราว 18 กิโลเมตร บนทางหลวงเลข 4 ที่มุ่งหน้าไปยังเมืองท่าสีหนุวิลล์
นายลิม ชิวฮู (Lim Chhivhoo) ผู้อำนวยการบริษัทแอ็ตวูด อิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ต (Attwood Import-Export) ซึ่งเป็นบริษัทกัมพูชาที่ถือหุ้น 51% ในเขตเศรษฐกิจ PPSEZ กล่าวว่า การก่อสร้างเฟสแรก ลงทุนไปประมาณ 15 ล้านดอลลาร์ ที่เหลืออีก 2 เฟสจะต้องใช้เงินลงทุนเฟสละประมาณ 30 ล้านดอลลาร์
นายริคุโอะ คัตสุมาตะ (Rikuo Katsumata) ผู้อำนวยการวิศวกรรมของ PPSEZ กล่าวว่าที่นั่นจะมีโรงไฟฟ้าของตัวเอง มีระบบโทรคมนาคมและสารสนเทศ จะมีโรงงานผลิตรองเท้า โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ และโรงงานประกอบรถยนต์ทั้งจากมาเลเซีย ไต้หวัน เกาหลีและโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากญี่ปุ่น
ยังไม่มีการเปิดเผยว่ากำลังจะมีการประกอบรถยนต์ของค่ายใดในเขตเศรษฐกิจแห่งนี้ แต่ถ้าหากมีจริงก็เป็นโรงงานประกอบรถยนต์แห่งแรกในกัมพูชา
ตัวเลขของสภาเพื่อพัฒนากัมพูชา (Council for the Development of Cambodia) ที่เผยแพร่ในเดือน ก.พ.ปีนี้ แสดงให้เห็นว่านักลงทุนญี่ปุ่นยังคงตามหลังนักลงทุนจากเอเชียอื่นๆ ในกัมพูชา หลายปีมานี้มีนักลงทุนจากญี่ปุ่นเข้าลงทุนเพียง 135 ล้านดอลลาร์ เทียบกับจีนที่นำหน้าไปสุดโต่งถึง 1,700 ล้านดอลลาร์กับเกาหลี 1,500 ล้านดอลลาร์
แต่นายอูเอะมัตสึกล่าวว่ากัมพูชากำลังเป็นที่หมายตาของนักลงทุนญี่ปุ่น กำลังจะมีการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคนานาชนิดสนองความต้องการภายในประเทศ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศเช่นประเทศไทย
อย่างไรก็ตามกัมพูชายังจะต้องทำอีกมากเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การเป็นปลายทางการลงทุนแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดสร้างระบบสาธารณูปโภค และการก่อสร้างเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน
นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมารัฐบาลกัมพูชาได้อนุญาตให้บริษัทเอกชนหลายแห่งเข้าจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษรวม 19 แห่ง ในพนมเปญ สีหนุวิลล์ เมืองปอยเปต จ.บ้านใต้มีชัย (Banteay Meanchey) กัมปงจาม กัมโป้ท ตะแกว กันดาล และสวายเรียง
แต่เกือบทั้งหมดยังอยู่ในขั้นตอนลงมือก่อสร้างหรือไม่ก็กำลังมองหาผู้ร่วมทุน แม่โขงไทมส์กล่าว.