ผู้จัดการออนไลน์-- เพิ่งจะมีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่า หลังจากรัฐบาลกัมพูชาได้ประกาศห้ามส่งออกข้าวในพื้นที่ทั่วประเทศในปลายเดือน มี.ค. ต่อมาเพียงข้ามสัปดาห์ก็ได้ยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกในเขต 3 จังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับเขตแดนเวียดนาม แต่ยังไม่ยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกในจังหวัดที่มีเขตแดนติดประเทศไทย
เรื่องนี้รายงานครั้งแรกโดยหนังสือพิมพ์ "แม่โขงไทมส์" ในช่วงกลางเดือน เม.ย.โดยที่ยังไม่เคยมีการยืนยันจากเจ้าหน้าที่หรือหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง
สื่อในกัมพูชารายงานว่าสมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีได้สั่งการตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย. ยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกข้าวในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ เปรย์แวง (Prey Veng) กันดาล (Kandal) และ จ.ตะแกว (Ta Keo) ซึ่งมีเขตแดนติดกับภาคใต้เวียดนาม แต่ยังคงสั่งห้ามการส่งออกข้าวในจังหวัดต่างๆ ที่มีเขตแดนติดกับไทย ตั้งแต่เกาะกง บ้านใต้มีชัย (Banteay Meanchey) อุดรมีชัย (Oddor Meanchey)ไปจนถึง จ.พระวิหาร (Preah Vihear)
การออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกข้าวในพื้นที่ 3 จังหวัดทางภาคตะวันออกนั้นเป็นไปตามข้อเสนอของนายจอม ประสิทธิ์ (Cham Prasidh) รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ซึ่งอ้างว่า การห้ามส่งออกจะส่งผลเสียหายต่อผลผลิตข้าวในพื้นที่ 3 จังหวัดเนื่องจากไม่มีที่เก็บข้าวเปลือก
นายจัน สะรุน (Chan Sarun) รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและการประมงกล่าวว่าช่วง 4 เดือนต้นปีเป็นช่วงที่กำลังมีการเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังฤดูแล้งในเขต 3 จังหวัด ซึ่งจะไม่มีที่เก็บข้าวเปลือกเพียงพอ
วันที่ 26 มี.ค. รัฐบาลกัมพูชาได้ห้ามส่งออกข้าวเป็นเวลา 2 เดือน หลังจากราคาในประเทศพุ่งสูง สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนรายได้น้อย ส่วนผู้บริโภคระดับบนก็ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อข้าวสารคุณภาพดีเคยซื้อ 1 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัมราคาพุ่งขึ้น 2 เท่า
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าราคาข้าวในประเทศที่สูงขึ้นนั้นเกิดจากการส่งออกไปยังประเทศไทยกับเวียดนามมากเกินไป ในที่สุดรัฐบาลก็ได้กลับคำสั่งให้ส่งออกไปเวียดนามได้ แต่ยังห้ามส่งออกมายังไทยอยู่ต่อไป
อย่างไรก็ตาม รมว.เกษตรฯ กัมพูชากล่าวว่า ในประเทศมีข้าวในสต๊อคเหลือเฟือ ชาวกัมพูชาจะไม่มีวันอดอยากในเรื่องข้าวอย่างแน่นอน
ปี 2550 กัมพูชาผลิตข้าวเหลือส่งออกได้ประมาณ 2 ล้านตัน ปริมาณนี้เท่าๆ กับที่ส่งออกเมื่อปีก่อน.