ผู้จัดการรายวัน-- ผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมการประชุมสัมมนาที่จัดโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program) ได้เสนอแนะให้กัมพูชาเข้าร่วมในการจัดตั้งเขตน่านน้ำที่เหลื่อมล้ำกับประเทศไทย โดยเห็นว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดและเพื่อลดความตึงเครียดทางการเมืองกับประเทศเพื่อนบ้านที่ใหญ่กว่า
หนังสือพิมพ์ในกัมพูชารายงานเรื่องนี้เมื่อวันพฤหัสบดี (27 มี.ค.) อ้างการคำกล่าวของผู้เชี่ยวชาญหลายรายรวมทั้งนางเอลินาร์ ไรซา (Elinar Risa) อดีตที่ปรึกษากระทรวง พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ ติมอร์เลสเต ที่ระบุว่าการทำเขตพัฒนาร่วม (Joint Development Area) เป็นหนทางสำหรับการแก้ปัญหาพิพาทเขตน้ำแดนดินที่ได้ผลดีที่สุด
"เจดีเอสามารถช่วยลดความตึงเครียดทางการเมืองและสร้างความเชื่อมมั่นให้แก่นักลงทุนได้" นางไรซากล่าวในการประชุมสัมมนาเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งก๊าซและน้ำมันเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่ง UNDP จัดขึ้นในกรุงพนมเปญเมื่อวันพุธ ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์แม่โขงไทมส์ (Mekong Times)
รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย นายนพดล ปัทมะ กล่าวหลังการเดินทางเยือนกัมพูชาของนายกรัฐมนตรีนายสมัคร สุนทรเวช ในต้นเดือน มี.ค.ว่า ไทยกับกัมพูชาได้ตกลงจะร่วมกันพัฒนาและขุดค้นหาทรัพยากรในเขตร่วมพัฒนา อันเป็นเขตน่านน้ำอ่าวไทยที่ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างความเป็นเจ้าของ
ตามข้อมูลของ UNDP เขตน่านน้ำที่คาดว่าจะเป็นเขตร่วมพัฒนาระหว่างไทยกับกัมพูชานั้นครอบคลุมพื้นที่ราว 27,000 ตารางกิโลเมตร มากกว่าเขตน่านน้ำทั้งหมดของกัมพูชาที่ไม่ตกอยู่ในกรณีพิพาทกับเพื่อนบ้าน และเชื่อกันว่าเป็นเขตที่มีก๊าซและน้ำมันดิบมากที่สุดในอ่าวไทย
เจ้าหน้าที่กัมพูชากล่าวว่า สองฝ่ายควรจะแบ่งผลประโยชน์กันคนละครึ่งจากการขุดค้นนำทรัพยากรพลังงานขึ้นมาใช้ประโยชน์
การประชุมสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นในขณะที่บริษัทน้ำมันต่างชาติหลายบริษัทกำลังสำรวจหาขุมพลังงานในกัมพูชา โดยมีบริษัทเชฟรอน (Chevron Corp) แห่งสหรัฐฯ มีผลสำเร็จนำหน้า
ผู้อำนวยการใหญ่องค์การปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา นายเตดวงดารา (Te Duong Dara) กล่าวในการสัมมนาคราวเดียวกันว่า กัมพูชามีแผนการที่จะเริ่มผลิตน้ำมันตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นไป และที่ผ่านมาไม่ได้มีความล่าช้าใดๆ ทั้งสิ้น
แต่เจ้าหน้าที่ด้านพลังงานผู้นี้ไม่ยอมเปิดเผยว่าปัจจุบันมีบริษัทต่างชาติจำนวนเท่าไรกำลังสำรวจหาแหล่งพลังงานอยู่ในประเทศ หลังจากเชฟรอนประกาศการพบน้ำมันดิบครั้งแรกในปี 2548 โดยเชื่อกันว่ามีน้ำมันดิบอยู่หลายล้านบาร์เรล และก๊าซธรรมชาติอีกมหาศาล
ผู้บริหารของเชฟรอนที่เคยให้สัมภาษณ์เมื่อปีที่แล้วว่าจะมีการเปิดแถลงเกี่ยวกับแผนการในกัมพูชาในเดือน ก.พ.หรือ มี.ค.ปีนี้ ก็ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลหรือความคืบหน้าใดๆ อีก มีเพียงการแถลงสั้นๆ เมื่อไม่นานมานี้ว่า น้ำมันดิบที่พบในทะเลกัมพูชานั้น "อยู่กระจัดกระจายแทนที่จะรวมอยู่ในแหล่งเดียวกัน"
นายกรัฐมนตรีกัมพูชา สมเด็จฯ ฮุนเซนกล่าวเมื่อปีที่แล้วว่า ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่ามีน้ำมันดิบและก๊าซปริมาณเท่าไร และจะส่งผลต่อกัมพูชาอย่างไร ขณะที่หลายฝ่ายกังวลว่าประเทศที่ยังมีการคอร์รัปชันอย่างสูงแห่งนี้ อาจจะต้อง "คำสาปน้ำมัน" เช่นบางประเทศในแอฟริกา.