xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลอภิสิทธิ์ “ยังอยู่ได้!”

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

ดังที่มีการคาดการณ์ ตลอดจนวิเคราะห์ และเลยเถิดไปถึงการพยากรณ์ทำนอง “โหราจารย์” ว่า สถานการณ์บ้านเมืองเดือนกันยายนทอดยาวไปจนถึงเดือนตุลาคม น่าจะ “ปั่นป่วน!” พอสมควร พูดภาษาชาวบ้านหมายความว่า “แกว่ง-สั่นคลอน!”

แต่ยังมีการคาดการณ์กึ่งสงสัยว่า สถานการณ์บ้านเมืองจะเลยเถิดถึงขั้นเปลี่ยนแปลง “พลิกฟ้าพลิกดิน!” หรือไม่ “แสงแดด” มั่นใจถึงขั้นฟันธงได้ว่า “เกิดยาก!” โดยเฉพาะ “การยึดอำนาจ” หรือ “Coup d'état” ด้วยการทำรัฐประหารจากฝ่ายทหาร

ถามต่อว่า แล้วนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อต้องเดินทางไปร่วมประชุม “สมัชชาสหประชาชาติ (United Nation Assembly)” ที่เป็นการประชุมประจำทุกปี ที่มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 20-27 กันยายน ที่จะถึงนี้ คำถามว่า “นายกฯ อภิสิทธิ์ จะได้เดินทางกลับบ้านหรือไม่!” คำตอบคือ “ได้กลับแน่นอน!”

การคาดการณ์ของสารพัดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ เรียกว่า “ฝุ่นตลบ!” จนอาจทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอนได้ เริ่มตั้งแต่ หนึ่ง การเปิดรัฐสภาร่วมทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ให้มีการอภิปรายกรณีการเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญระหว่างวันที่ 16-17 กันยายนนี้ สอง กรณีการตัดสินของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เอาผิดทั้งทางอาญาและวินัยกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ซึ่งอาจนำพาไปสู่ความขัดแย้งและสถานะสัมพันธภาพระหว่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีฯ กลาโหม ซึ่งเป็นพี่ชายแท้ๆ ของ พล.ต.อ.พัชรวาท ที่ในที่สุดขอลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)

สาม กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติพิจารณาวินิจฉัยการถือหุ้นในวงการสื่อและสัมปทานของรัฐกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 44 คน แต่โดนเพียง 16 คนนั้น ซึ่งต้องส่งเรื่องต่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อไป จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของที่นั่งในสภาผู้แทนฯ หรือไม่ในอนาคตอันใกล้หรือไกล ทั้งนี้จะส่งผลกระทบเพียงแค่ที่นั่ง ส.ส.ในสภาเท่านั้น แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี

ประเด็นต่างๆ ที่ “ถาโถม” กับรัฐบาลที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ น่าเชื่อว่าส่งผลของ “การกระเพื่อม” ไม่มากก็น้อย พร้อมทั้งอาจส่งผลกระทบทางด้านความไว้วางใจระหว่าง “ขั้วอำนาจ-แกนอำนาจ” ที่สำคัญๆ ของรัฐบาลนี้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะกรณีตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งๆ ที่คุณพัชรวาท ก็จบสิ้นไปเรียบร้อย

การประชุมของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (กตช.) จะลงมติโหวต พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย หรือ พล.ต.อ.ประทีป ตันประเสริฐ เป็น ผบ.ตร.คนใหม่ ก็คงต้องติดตามอย่างตาไม่กะพริบ

ทั้งนี้ ก็ต้องเรียนตามตรงว่า “วงการตำรวจเละเป็นโจ๊ก!” ไปเรียบร้อยแล้ว จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว มันก็ “เละ-เลอะเทอะ” อย่างนี้มานานแล้ว มิใช่เพิ่งจะมาเกิด แต่งวดนี้โดนยำจนเละไปหมด

การที่จะได้ใครมาเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถ้าเป็นคุณประทีป รับรองได้เลยว่า “แวดวงสีกากี” จะดูไม่จืด และจะเกิด “เกียร์ว่าง!” พันเปอร์เซ็นต์ เนื่องด้วย “การยอมรับ” ของบรรดาตำรวจทั้งหลายโดยส่วนใหญ่ ไม่ค่อยปลื้มกับ พล.ต.อ.ประทีป ตันประเสริฐ และถ้า พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ได้ขึ้นเป็น ผบ.ตร. การทำงานระหว่างนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงและสูงสุด จะทำงานกันได้อย่างไร เนื่องด้วยคุณอภิสิทธิ์ “ไม่สนับสนุน!”

เท่านั้นยังไม่พอ สมมติว่าได้ พล.ต.อ.จุมพล เป็น ผบ.ตร. “ความขลัง-ความศักดิ์สิทธิ์” และ “สภาวะผู้นำ” ของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะ “จบ” ลงทันที!

และที่อาจ “ลึกล้ำ-เลยเถิด” ไปมากกว่านั้น ดังที่มีการปิดกันให้แซดถึงกรณี “ความร้าวฉาน-ความขัดแย้ง” ระหว่างรองนายกฯ สุเทพ เทือกสุบรรณ และเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ กับนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ ที่ไม่ค่อยราบรื่นซักเท่าไหร่ จนอาจถึงขั้น “การลาออก” ของเลขาธิการฯ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ กับกรณีการแต่งตั้ง ผบ.ตร.

สมมติว่าถ้าเหตุการณ์เป็นเช่นนั้นจริง เราสามารถชี้นิ้วไปได้เลยว่า “ศึกรอบด้าน : ศึกนอก-ศึกใน” ของรัฐบาลได้เกิดขึ้นแล้ว กล่าวคือ ภายในรัฐบาลที่มีแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ที่ขัดแย้งกันเอง โดยเฉพาะคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ “ผู้จัดการรัฐบาล” และ “คุณนิพนธ์ พร้อมพันธุ์” โดยทั้งสองคนเป็นผู้ที่มีบทบาทสูงมากกับการก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของคุณอภิสิทธิ์

ทั้งนี้ อาจเลยเถิดไปถึง “ความสัมพันธ์” ระหว่าง “รัฐบาล-ทหาร” ที่มีผู้บัญชาการทหารบก และรัฐมนตรีฯ กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นกลุ่มที่สนับสนุนให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาการแต่งตั้งตำแหน่ง ผบ.ตร.กับกรณีของคุณพัชรวาท วงษ์สุวรรณ

เพราะฉะนั้น “ปัญหาสามเส้า” ของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะนี้เกิดจากภายใน “กลุ่มเสาหลัก” ที่ค้ำจุนรัฐบาล จากทั้ง “ผู้จัดการรัฐบาล-เลขาธิการนายกฯ” และ “กองทัพ” และสุดท้ายกับ “พรรคร่วมรัฐบาล : พรรคภูมิใจไทย” ที่ดูน่าจะขัดแย้งกันตั้งแต่เริ่มต้นจัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าในกรณีของ “รถเมล์เอ็นจีวี-ประกัน/จำนำข้าว-สินค้าเกษตร-งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ” และล่าสุด กรณี “ที่ดินอัลไพน์”

“สถานการณ์ความตึงเครียด!” ที่เกิดขึ้นขณะนี้ หลายๆ ฝ่ายอาจฟันธงว่าเดือนกันยายนและตุลาคมนี้ น่าจะมีเหตุการณ์ที่สร้างความปั่นป่วนให้เกิดขึ้นได้กับ “รัฐบาลอภิสิทธิ์!”

อย่างไรก็ตาม “ความตึงเครียด!” จะเป็นแต่สถานการณ์เท่านั้น ถามว่าจะเลยเถิดจนถึงขั้นเกิด “อุบัติเหตุทางการเมือง” หรือไม่ และ “เกิดการเปลี่ยนแปลง” จนถึงขั้น “แตกหัก!” ก็ต้องตอบว่า “ไม่น่าเป็นเช่นนั้น!” เนื่องด้วย “ความตึงเครียด” จะยังไม่เกิดถึงขั้น “ขาดสะบั้น!” เพียงแต่บรรยากาศเท่านั้น ถ้าอ่านไม่ทะลุ อาจจินตนาการเลยเถิด!

โดยภาพรวมขณะนี้ น่าเชื่อว่าเป็นเพียง “การเขย่าต้นไม้!” ของบรรดาสารพัดหลากหลายกลุ่มที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การเสี้ยม” เพื่อให้เกิด “ความแตกแยก!” ระหว่าง “กลุ่มแกนนำหลัก” ภายในพรรคประชาธิปัตย์ กระโดดข้ามไปถึงพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ “พรรคภูมิใจไทย” จนลามไปถึง “กองทัพ”

ทั้งนี้ “แสงแดด” ขอฟันธงว่า สถานการณ์จะเพียง “อึมครึม-ตึงเครียด” เท่านั้น แต่ถึงขั้น “แตกหัก” หรือไม่ก็ต้องบอกว่า “ไม่น่าเกิดขึ้น” เนื่องด้วยทุกฝ่ายจะเพียรพยายามประคับประคองให้สถานการณ์ผ่านพ้นไปได้ แต่อาจขรุขระบ้างไม่มากก็น้อย

อย่างไรก็ตาม จากสารพัดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น น่าเชื่อว่าจะเป็นสถานการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างต้อง “กล้ำกลืน!” และอาจถึงขั้น “สบตาไม่สนิทใจ” แต่คงไม่ถึงขั้น “ฝืนทนอยู่” พูดภาษาชาวบ้านเรียกว่า “กระอักกระอ่วน” แต่ในที่สุด ก็จะเกิด “การประสาน-กาวใจ” โดยคำนึงถึงประเทศชาติเป็นหลัก

ประเด็นการเปิดรัฐสภาของทั้ง 2 สภาฯ กล่าวคือ สภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา ซึ่งเป็นการเปิดอภิปรายทั่วไป เริ่มตั้งแต่วันที่ 16-17 กันยายนนี้ ให้สมาชิกทั้งสองสภาได้แสดงความคิดเห็น พร้อมเสนอแนวทางในกรอบ 3 กรอบ ด้านการสมานฉันท์ การปฏิรูปการเมือง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งขอย้ำว่า “การเปิดรัฐสภา” ในครั้งนี้ มิใช่เป็น “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” เป็นเพียงการเปิดอภิปรายทั่วไป ให้มีการแสดงความคิดเห็น หรือเท่ากับเป็นการปล่อยไอความร้อนออกจากกาน้ำ

การอภิปรายทั่วไปของสมาชิกรัฐสภาคราวนี้ น่าเชื่อว่าจะสนุกพิลึก ตลอดจนบรรยากาศก็น่าจะเดิมๆ ด้วย “การประท้วง” ตลอดจน “การประชดประชัน-ด่าทอ” กันไปมา พูดง่ายๆ บรรยากาศน่าจะเดิมๆ เนื้อหาสาระในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจมีบ้าง โดยเฉพาะในประเด็นมาตรา 190 ที่น่าจะเป็นมาตราเร่งด่วน ที่รัฐบาลต้องการให้มีการแก้ไขเพื่อความรวดเร็วในการบริหารงานที่เกี่ยวข้องกับ “การทำข้อตกลง-สัญญา” กับต่างประเทศ

ส่วนมาตราอื่นๆ นั้น ที่เกี่ยวข้องกับ “การเมือง-นักการเมือง” บรรดาองค์กรภาคประชาชนต้องขอมีส่วนร่วมอย่างแน่นอน และที่สำคัญ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” คงไม่หวานหมูอย่างที่คิด!
กำลังโหลดความคิดเห็น