xs
xsm
sm
md
lg

ความหาญกล้าของสื่อในห้วงวิกฤตปัญญา (ตอน 7)

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

เกลียวคลื่นปัญญาภาคพลเมือง ณ มหาวิทยาลัยราชดำเนิน แม้จะกระเพื่อมกว้างขวางเชิงคุณภาพและปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ จากการถ่ายทอดสดเวทีชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแบบ Reality ของ ASTV ผ่านดาวเทียม อินเทอร์เน็ต และเครือข่ายเคเบิลทีวี

กระนั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารรัฐบาลฉ้อราษฎร์บังหลวงจากการเผยแพร่ของ ASTV ก็ยังจำกัดมากเมื่อเทียบกับศักยภาพฟรีทีวีที่คลี่คลุมทั่วประเทศ ถึงแม้ว่าปัจจุบันยอดขายจานดาวเทียม ASTV จะทะยานหลักล้าน ยอดคลิกอ่านเว็บไซต์ผู้จัดการหลายแสนต่อวัน และกำหนดเบอร์ช่องชัดเจนจากการตกลงกับสมาคมเคเบิลทีวีไทยแล้วก็ตามที

ระบอบประชาธิปไตยไทยน่าจะยังแปดเปื้อนมลทินทุจริตต่อไป ตราบใดที่ ASTV ยังต้องต่อกรโดดเดี่ยวท่ามกลางการวางเฉยของฟรีทีวีที่ไม่เพียงไม่นำเสนอข่าวคอร์รัปชันเชิงนโยบาย หากยังศิโรราบแลปกป้องผู้กระทำความผิดผ่านกระบวนการรายงานข่าวสารเนียนๆ บนภาพลักษณ์ความเป็นมืออาชีพ

สื่อมวลชนจักต้องโอบกอดจิตวิญญาณ ‘หมาเฝ้าบ้าน’ (Watchdog) แนบแน่นขึ้น เพราะหาไม่แล้ว สาธารณมติ (Public opinion) ของมวลมหาประชาชนว่าด้วยการเมืองในระบอบประชาธิปไตยใสสะอาดปราศจากโกงกลก็จักแคระเกร็นต่อไปไม่สุดสิ้น ด้วยสื่อมวลชนคือกลจักรสำคัญยิ่งในการสร้างสาธารณมติว่าประชาชนจะยินยอมพร้อมใจตกอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลทุจริตคอร์รัปชันที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่!

ไม่มีรัฐบาลเลือกตั้ง หรือกระทั่งเผด็จการทหาร-พลเรือนที่กระทำทุจริตใดดำรงอยู่ได้ถ้าประชาชนออกมาคลาคล่ำท้องถนนคัดค้านนโยบายและผู้นำผ่านการหลอมรวมปัญญาจากสื่อมวลชนที่ดำรงตนเป็นสถาบันปกปักประโยชน์สาธารณะ

หากทว่าสื่อมวลชนไทย โดยเฉพาะโทรทัศน์กลับชักนำตัวเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมิจฉาทิฐิ ด้วยการหลับตาหนึ่งข้างมองข้ามความฉาบฉวยฉ้อฉลของนโยบายประชานิยม และหลีกเลี่ยงภาษีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าทุกๆ คนก็ทำกัน

กล่าวอีกนัยหนึ่งถึงสื่อมวลชนไทยส่วนใหญ่จะกล่าวอ้างความเป็นกลางทางทฤษฎี หากก็ละเลยหลักการสม่ำเสมอยามปฏิบัติ นำความผูกพันรักใคร่ชอบพอกับปัจเจกบุคคลมาชี้นำการทำงานจนเข้าข่ายเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ในยามผู้นำนั้นๆ ทุจริต หรือกระทั่งวาดภาพฟากตรวจสอบถ่วงดุลว่าเป็นพวกสูญเสียประโยชน์ ก่อความวุ่นวาย แม้จะเป็นสื่อมวลชนเช่นเดียวกันก็ตาม

สาธารณมติของสังคมไทยในปัจจุบันจากการร่วมสร้างของสื่อมวลชนจึงมักบิดเบือนหลักพุทธธรรมความซื่อสัตย์สุจริต รวมถึงสนธิสัญญาว่าด้วยการป้องกันการคอร์รัปชันทุกรูปแบบแห่งสหประชาชาติ (United Nations Convention against Corruption)

การก่อตัวของสาธารณมติว่าด้วยการยอมรับนักการเมืองทุจริตคอร์รัปชันเช่นนี้ ถ้ามองลอดแว่นทฤษฎีเกลียวแห่งความเงียบ (Spiral of silence) ของ Elisabeth Noelle-Neumann ก็จะพบว่าพลวัตการเปลี่ยนแปลงคุณค่าว่าผู้นำรัฐบาลไม่ต้องสัตย์ซื่อถือสุจริตนั้นมาจากสื่อมวลชนที่อยู่ทั่วทุกที่จะนำเสนอเนื้อหาที่มีความสอดคล้องกัน (Ubiquitous and consonant) ว่าผู้กุมอำนาจรัฐคนไหนรุ่นใดก็โกงกิน เก่งแต่โกงย่อมยอมรับได้

คนไทยที่มักอ้างอิงสื่อมวลชน เมื่อตรวจสอบการนำเสนอข่าวสารของสื่อกระแสหลัก โดยเฉพาะโทรทัศน์ แล้วพบว่าความคิดเห็นของตนเองมีเพียงเสียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สนับสนุน พวกเขาก็จะแสดงความคิดเห็นออกมาในที่สาธารณะน้อยลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นปรากฏการณ์วงเกลียวแห่งความเงียบที่ความคิดเห็นของเสียงส่วนน้อยค่อยๆ เบาบางลงจนกระทั่งกลายเป็นเงียบสงัด แม้นว่าจะเป็นเสียงแห่งปัญญาก็ตามที

ยิ่งกว่านั้น ถ้าปัจเจกบุคคลละเลยหรือเพิกเฉยไม่แสดงความคิดเห็นออกมา ปล่อยให้ความคิดเห็นบางส่วนถูกนำเสนอออกมาด้านเดียวจนดังมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งกลายเป็นความคิดเห็นหลักของคนในสังคมขณะนั้น ท้ายสุดก็อาจนำทั้งสังคมผิดครรลองคลองธรรม ผลักดันประเทศชาติตกหุบเหวอำนาจธนกิจการเมืองของนักเลือกตั้งไม่รู้จบ

ความเห็นพ้องกว้างขวางทางสังคมว่าด้วยการยอมจำนนนักการเมืองกังฉินเช่นนี้มิอาจตัดขาดจากบทบาทสื่อมวลชนกระแสหลักผู้กล่อมเกลาสังคมไทยให้เรียวเล็กทางคุณธรรมลงเรื่อยๆ!

ท่ามกลางความพร่องทางศีลธรรมของสังคมไทยจนเอื้อต่อผู้มีบาปธรรมกุมประเทศชาติตามที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) อรรถาธิบายธรรมนำทางสว่างไว้ เสียงส่วนน้อยที่เรียกร้องนักการเมืองคุณธรรมจริยธรรมย่อมเสี่ยงอันตรายยิ่งจากการถูกเสียงส่วนใหญ่ที่ยินดีปรีดากับการบริหารชาติบ้านเมืองแบบฉาบฉวยด้วยนโยบายประชานิยมของนักการเมืองฉ้อฉลบีบบังคับกดดันให้ปัจเจกบุคคลเสียงถูกต้องข้างน้อยยอมตาม (Pressure to conformity) อันเนื่องมาจากธรรมชาติทางสังคมของมนุษย์ย่อมหวาดกลัวการโดดเดี่ยว (Fear of isolation)

ทว่าโดดเดี่ยวใช่เดียวดาย ดังเครือข่ายพันธมิตรฯ ผู้เปิดรับข่าวสาร ASTV ที่แสดงทัศนะขัดแย้งกับสังคมและสื่อมวลชนกระแสหลัก ที่นับวันจะแพร่หลายขยายตัวกว้างขวางขึ้นมากจากจำนวนผู้คนที่ออกมาแสดงความเห็นสอดคล้องต้องกันกับพันธมิตรฯ อันเป็นไปตามทฤษฎีนี้ที่ชี้ว่าปัจเจกบุคคลมีแนวโน้มจะแสดงทัศนคติในที่สาธารณะ ถ้ารับรู้ว่าความคิดเห็นของเขามีความเหนือกว่าหรือเพิ่มสูงขึ้น เพราะรับรู้ว่าตนเองเสี่ยงที่จะถูกโดดเดี่ยวโดยสังคมน้อยลงอันเนื่องมาจากประเมินแล้วว่าอนาคตความคิดเห็นทางการเมืองของมหาชนจะไปในท่วงทำนองนี้

ทว่าว่าก็ว่าเถอะ ข้อเสนอ ‘การเมืองใหม่’ นั้นชวนขบคิดถกเถียงมากกว่าจะถูกดิสเครดิตเสียแต่ต้นว่าเป็นแค่ ‘โควตาอ้อย’ อันเนื่องมาจากกรอบคิดที่ยึดที่มามากกว่าสารัตถะการใช้อำนาจ เพราะยิ่งผ่านวันก็ยิ่งถูกพูดถึงขึ้นมากไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย มากกว่านั้นเงื่อนไขในสังคมที่สุกงอมทั้งด้านจริยธรรมอันตกต่ำของนักการเมือง กระแสสูงของการเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญบทบาทสื่อมวลชนผู้สร้างภาพความเป็นจริงของสังคมที่เหมือนๆ กัน ก็ทำให้สาธารณมติเคลื่อนได้

การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่จุดจบในตัวเอง หากเป็นวิถีทางไปสู่วัตถุประสงค์อื่นๆ

สาธารณมติของสังคมไทยจะเคลื่อนไปในทางบวกหรือลบจึงขึ้นอยู่กับสื่อมวลชนว่าจะเลือกเป็นแสงสว่างหรือหลุมดำทางปัญญา จะก้าวทางหาญกล้าเจาะข่าวคาวขื่นกลืนกินบ้านเมืองของรัฐบาล หรือขลาดเขลาคับแคบคิดแต่ประโยชน์โภชผลองค์กร ตลอดจนหวงแหนคอนเนกชันธนกิจการเมืองที่ยึดโยงกับสัมปทานและเม็ดเงินโฆษณา เฉกเช่นเดียวกับจะทอดทิ้งหรือเอื้ออาทรนำเสียงส่วนน้อยขึ้นสู่เวทีสาธารณะเพื่อร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะ

ด้วยใช่ไหมว่าการตัดสินคุณค่าสื่อมวลชนควรยึดถือถ้อยความนักปรัชญาฝรั่งเศส François Marie Arouet หรือรู้จักกันในนาม Voltaire ที่ว่า ‘ต้องพิพากษาคุณค่าคนจากการตั้งคำถามมากกว่าคำตอบของเขา‘ (Judge a man by his questions rather than by his answers.)

ยิ่งห้วงยามเรียกร้องสมานฉันท์สามัคคีกึกก้องสังคมไทยเท่าใด สื่อมวลชนก็จักต้องตรวจสอบทบทวนบทบาทตนเองยิ่งขึ้นเท่านั้นเพื่อไม่ให้ตกเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างทางออกเทียมด้วยการยัดขยะขัดแย้งแตกแยกไว้ใต้พรมสมานฉันท์

ความสมานฉันท์แท้จริงจักเกิดไม่ได้เด็ดขาดถ้า ‘ความจริง’ ถูกคลี่คลุมปิดบัง อีกทั้งยังต้องขจัดภาพว่าเมืองไทยไร้ความรุนแรงแตกแยก พิเศษกว่าบ้านเมืองอื่น เพราะเอาเข้าจริงแล้วภาพลักษณ์สงบสุขมาล้วนมาจากการเก็บกวาดขยะซุกซ่อนซอกหลืบเสียมาก!

สื่อมวลชนผู้มุ่งมาดสร้างสรรค์ ‘ปัญญาร่วม’ (Collective wisdom) และปลดประชาชนพ้นปลักโคลนขัดแย้งแตกแยก จักต้องนำความจริงเชิงข้อเท็จจริง (Factual truth) ที่ไม่สะท้านการโต้เถียงหรือประนีประนอมตามการให้เหตุผลทางการเมือง (Political justifications) เหมือนความจริงเชิงเหตุผล (Rational truth) ขึ้นสู่สังคมเสียก่อน โดยต้องไม่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกตรวจสอบด้วยการติดฉลากยักษ์มารเพราะอาจเกิดฉากสุดท้ายที่กราดเกรี้ยวรุนแรง

ถึงกระนั้นกลับชวนเศร้ายิ่ง เมื่อสื่อมวลชนหนึ่งหาญกล้านำเสนอความจริงเชิงข้อเท็จจริง กลับถูกนักวิชาการ นักวิชาชีพ และองค์กรสถาบันสื่อสารมวลชนอื่นๆ ปรามาสถากถาง ไม่นำพาถ้อยคำของ Voltaire ที่ว่า ‘ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยเลยกับสิ่งที่ท่านพูด แต่ข้าพเจ้าขอปกป้องสิทธิในการพูดของท่านด้วยชีวิต’ (I disapprove of what you say, but I will defend to the death your right to say it.) (มีต่อตอน 8)

คอลัมน์เวทีนโยบายสาธารณะ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
กำลังโหลดความคิดเห็น