xs
xsm
sm
md
lg

ข้าวป่วนอีกเขมรหยุดขายไทย-เวียดนาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ผู้จัดการรายวัน-- นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้สั่งหยุดการส่งออกข้าวตลอดเวลา 2 เดือนข้างหน้า หลังจากตลาดข้าวในประเทศปั่นป่วนเนื่องจากราคาถีบตัวสูงขึ้นสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้มีรายได้น้อยไปทั่ว ขณะที่รัฐบาลเร่งนำข้าวในสต๊อคออกบรรจุถุงจำหน่ายให้แก่ประชาชนในราคาถูก

แม้ว่ากัมพูชาเป็นผู้ส่งออกรายเล็กซึ่งในปีนี้มีข้าวส่งออกเพียงประมาณ 2 ล้านตัน การหยุดส่งออกย่อมส่งผลโดยตรงต่อการขาดแคลนข้าวในตลาดโลกขณะที่ราคาพุ่งขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยนักวิเคราะห์คาดว่าอาจจะได้เห็นราคาพุ่งขึ้นถึง 1,000 ดอลลาร์ต่อตันในกลางปีนี้

สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโชฮุนเซน ได้สั่งเมื่อวันพุธ (26 มี.ค.) ให้หยุดการจำหน่ายข้าวให้ไทยและเวียดนาม รวมทั้งหยุดการส่งออกโดยตรงเป็นเวลา 2 วัน และจะมีการพิจารณาอีกครั้งหนึ่งเมื่อสถานการณ์ราคาในประเทศกลับคืนสู่ภาวะปกติ

"ด้วยเหตุด้านความมั่นคงด้านอาหาร กัมพูชาได้ตัดสินใจห้ามส่งออกข้าวไปยังประเทศไทยและประเทศเวียดนาม รัฐมนตรีกระทรวงการเงินนายเกียตชน (Keat Chhon) จะเป็นผู้แจ้งเรื่องนี้ให้สาธารณชนได้รับทราบในวันนี้" สำนักข่าวเอเคพี (Agence Kampuchean-Presse) ซึ่งเป็นสำนักข่าวของรัฐบาลรายงานเมื่อวันพฤหัสบดีอ้างคำกล่าวของผู้นำกัมพูชา

นายกฯ กัมพูชาระบุดังกล่าวระหว่างเดินทางไปเป็นประธานในพิธีเริ่มการซ่อมบำรุงทางหลวงเลข 57 ที่เชื่อมเมืองไพลินกับ จ.พระตะบอง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศผู้นำกัมพูชายังหวังว่าไทยกับเวียดนามรวมทั้งผู้ส่งออกในกัมพูชาจะเข้าใจถึงความจำเป็นที่กัมพูชาต้องตัดสินใจเช่นนี้ พร้อมทั้งสั่งการให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ตามแนวชายแดนต้องปฏิบัติตามคำสั่งห้ามส่งออกข้าวอย่างเคร่งครัด


ได้มีการแพร่ข่าวเล่าลืออย่างแพร่หลายว่ากัมพูชากำลังขาดแคลนข้าวอย่างหนัก ประชาชนทั่วไปกำลังอดอยากอย่างหนัก ซึ่งได้นำไปสู่การกักตุนข้าว ทำให้ข้าวชนิดต่างๆ มีราคาสูงขึ้น

สมเด็จฯ ฮุนเซนได้ออกปรามพวกที่ไม่หวังดีและฉวยโอกาสกักตุนข้าวเพื่อเก็งกำไร โดยระบุว่าราคาข้าวที่พุ่งขึ้นสูงเกิดจากความต้องการในตลาดโลกที่สูงขึ้น

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เกาะสันติภาพ (Koh Santepheap) ในตอนเช้าวันเดียวกัน ทางการได้นำข้าวสาร 200 ตันออกบรรจุถุงชั่งน้ำหนักจำหน่ายให้แก่ชาวพนมเปญ เสียมราฐ และ กัมปงธม กิโลกรัมละ 1,800 เรียล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนหลังจากราคาจำหน่ายปลีกพุ่งขึ้นสูงเกินกำลังซื้อของประชาชนที่มีรายได้ต่ำ

ในกรุงพนมเปญราคาข้าวคุณภาพสูงได้พุ่งขึ้นจาก 3,000 เป็น 4,500 เรียลต่อ กก. (อัตราแลกเปลี่ยน 127 เรียลต่อ 1 บาท) และ ข้าวคุณภาพต่ำราคาพุ่งจาก 1,800 เป็น 2,500 เรียล

เศรษฐกิจกัมพูชาเติบโต 8-11% ในช่วงปีใกล้ๆ นี้ แต่กว่าครึ่งหนึ่งของประชากร 14 ล้านคน ยังมีรายได้เพียงไม่ถึง 20 บาทต่อวัน แต่ละคนจึงสามารถซื้อข้าวสารได้เพียงวันละ 1 กก.เท่านั้น โดยต้องตัดอาหารชนิดอื่นออกไป

ครูสอนโรงเรียนมัธยมในกรุงเปญผู้หนึ่งกล่าวว่าตนเองมีเงินเดือนเพียง 400,000 เรียล ไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงครอบครัวได้เมื่อราคาข้าวพุ่งขึ้นสูงเช่นปัจจุบัน

สมเด็จฯ ฮุนเซนให้สัมภาษณ์ในวันอังคาร (25 มี.ค.) ระหว่างไปเป็นประธานในพิธีทางศาสนาที่วัดแห่งหนึ่งใน จ.กัมปงธม ระบุว่า ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ได้แสดงความต้องการซื้อข้าวจากกัมพูชา เนื่องเป็นข้าวราคาถูกที่สุดในภูมิภาคนี้ ขณะที่ในปัจจุบันได้ขายให้กับไทยและเวียดนามอยู่แล้ว

ปัจจุบันรัฐบาลมีข้าวในสต๊อคจำนวน 50,000 ตัน มากพอที่จะรับมือกับวิกฤติการณ์ต่างๆ ได้ แต่ก็ยืนยันว่าไม่มีการขาดแคลนข้าวบริโภคในประเทศอย่างแน่นอน

นายกรัฐมนตรีกัมพูชากล่าวว่าข้าวน่าจะขึ้นราคาตั้งแต่ปี 2543-2544 ที่ไม่เกิดอุทกภัยและกัมพูชาผลิตข้าวได้มาก ผลผลิตได้ลดลงในช่วงหลายปีมานี้เนื่องจากเกิดน้ำท่วมผืนนาติดต่อกันมาเกือบจะทุกปี

อย่างไรก็ตาม ทางการได้ยืนยันในเดือน ธ.ค.ปีที่แล้วว่าจะมีข้าวส่งออกขายต่างประเทศได้จำนวน 2 ล้านตัน แม้ว่าช่วงฤดูทำนาปีที่แล้วจะเกิดอุทกภัยสร้างความเสียหายแก่นาข้าวอย่างมากมายก็ตาม

นายจันสะรุน (Chan Sarun) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรป่าไม้และประมงกัมพูชากล่าวว่าตัวเลขประมาณการดังกล่าวคิดคำนวณจากผลผลิตข้าวเปลือกทั้งหมดจากฤดูการผลิต 2550-2551 หลังจากหักปริมาณที่จะต้องสำรองเอาไว้เพื่อบริโภคในประเทศ และ เพื่อการเพาะปลูกในฤดูกาลผลิตปีหน้าทั้งหมดแล้ว

นับเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่กัมพูชามีข้าวส่งออกได้ในปริมาณเท่าๆ กัน ขณะที่รัฐบาลประกาศจะเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหม่ของภูมิภาค

ตามรายงานของกระทรวงเกษตรฯ การทำนาในกัมพูชาได้ผลผลิตเฉลี่ย 2.061 ตันต่อเฮกตาร์ (6.25 ไร่) ซึ่งนับว่ายังต่ำ ขณะที่กำลังมีการเก็บเกี่ยวก็จะมีการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการค้าข้ามพรมแดนไปยังจังหวัดเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงในเวียดนาม ซึ่งฤดูเก็บเกี่ยวต่างกันกับในกัมพูชา

สื่อกัมพูชาได้วิจารณ์ในหลายโอกาสว่า การค้าข้าวในประเทศยังไม่เป็นระบบ การส่งออกส่วนใหญ่ยังต้องผ่านพ่อค้าคนกลางซึ่งเป็นพ่อค้าชาวไทย มาเลเซียและสิงคโปร์ คนกลุ่มนี้กดราคารับซื้อจากชาวนานำไปสีเพื่อส่งออกอีกที

นายกฯ กัมพูชาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญเรียกร้องให้มีการจัดตั้งสมาคมประเทศผู้ส่งออกข้าวขึ้นมา เพื่อให้มีอำนาจต่อรองกับตลาดโลก รวมทั้งการต่อรองกับกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันอีกด้วย

ไทยกับเวียดนามซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวมากเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลกได้ตกลงจะร่วมการจัดตั้งสมาคมผู้ผลิตและส่งออกข้าวขึ้นมา ภายใต้กรอบกลุ่มยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง หรือ ACMECS ซึ่งกัมพูชา ลาวและพม่าเป็นสมาชิกอยู่ด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น