ผู้จัดการออนไลน์ -- รัฐบาลกัมพูชากำลังจะพัฒนาให้ปราสาทพระวิหารเป็นเขตท่องเที่ยวยอดนิยมเทียบชั้นปราสาทนครวัด โดยจะเร่งตัดถนนเข้าสู่อาณาบริเวณ พัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ รองรับ เพื่อให้การท่องเที่ยวบรรลุเป้าหมาย มีนักท่องเที่ยว 3 ล้านคนภายในปี 2553
นายทองคูน (Thong Khon) รัฐมนตรีท่องเที่ยวกัมพูชา บอกเรื่องนี้กับหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษแม่โขงไทมส์ (Mekong Times) ระหว่างเดินทางไปยังปราสาทเก่าแก่อายุ 1,000 ปีติดกับชายแดนไทยเมื่อไม่นานมานี้
“นักท่องเที่ยวจะไม่สามารถเดินทางไปยังพระวิหารได้ ถ้าหากแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูงแห่งนี้ไม่ได้รับการพัฒนาขึ้นมา” หนังสือพิมพ์ในกัมพูชาฉบับเดียวกันอ้างคำกล่าวของ รมว.การท่องเที่ยว
ขณะเดียวกัน นายฮัง โซ้ต (Hang Soth) ผู้อำนวยการองค์การแห่งชาติพระวิหาร (Preah Vihear National Authority) ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาหมาดๆ กล่าวในโอกาสเดียวกันว่า ควรจะทำถนนเป็นเรื่องแรกสุด เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว
เมื่อพัฒนาสิ่งต่างๆ รวมทั้งการฟื้นฟูบูรณะแล้วเสร็จ เชื่อว่า ปราสาทพระวิหารจะเป็นปลายทางท่องเที่ยวใหม่ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยไปกว่าปราสาทนครวัด นายโซ้ต กล่าว
รัฐบาลกัมพูชาอยู่ระหว่างดำเนินการจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยลำพัง คณะกรรมการมรดกโลกขององค์การยูเนสโก มีกำหนดจะประชุมพิจารณาเรื่องนี้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
หลังกลับจากเยือนกัมพูชาเดือนที่แล้ว นายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช กล่าวว่า รัฐบาลไทยไม่คัดค้านเรื่องนี้ เนื่องจากได้รับแจ้งจากฝ่ายกัมพูชา ว่า เป็นการจดทะเบียนเฉพาะองค์ปราสาท โดยไม่รวมดินแดนอาณาบริเวณชายแดนที่ยังเป็นกรณีพิพาทระหว่างสองประเทศ
เจ้าหน้าที่ของไทย ยังกล่าวว่า จะร่วมกับกัมพูชาพัฒนาการท่องเที่ยวปราสาทพระวิหารเพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ
อย่างไรก็ตาม ทั้งรัฐมนตรีการท่องเที่ยวและหัวหน้าองค์การพระวิหาร ไม่ได้กล่าวถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวใดๆ ร่วมกับประเทศไทยแม้แต่น้อย
ตามรายงานของสื่อกัมพูชานายกรัฐมนตรีสมเด็จฯ ฮุนเซน ได้ประกาศมาหลายครั้งจะตัดถนนจากตัวเมืองไปยังปราสาทพระวิหาร เพื่อลดการพึ่งพาทางขึ้นไปยังองค์ปราสาทที่อยู่ฝั่งชายแดนด้านประเทศไทย เนื่องจากมักจะมีการปิดๆ เปิดๆ อยู่บ่อยๆ
หนังสือพิมพ์กัมพูชารายงานก่อนหน้านี้ ว่า รัฐบาลจีนได้ตอบตกลงให้เงินกู้ช่วยกัมพูชาสร้างถนนดังกล่าวแล้ว การก่อสร้างจะเริ่มในปีนี้
ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนผาสูง ซึ่งจะต้องเดินจากฝั่งไทยขึ้นไปตามความลาดชัน ส่วนฝั่งกัมพูชาเป็นหน้าผาที่มีความลึกลงไปยังดินแดน “เขมรต่ำ” ราว 500 เมตร ในเขต จ.พระวิหาร
อย่างไรก็ตาม ช่วงปีใกล้ๆ นี้ ได้มีความพยายามตัดถนนจาก อ.ตะแบงมีชัย (Tbeng Meanchey) ไปยัง อ.จอมกระสาน (Chomkrasan) และต่อไปยังชายแดนไทยด้านช่องพระพะลัย จ.ศรีสะเกษ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของปราสาทพระวิหาร ชายแดนด้าน อ.กันทรลักษ์
ถนนสายนี้ใช้ได้เฉพาะรถยนต์ที่ขับเคลื่อนสี่ล้อ ยังมีความทุรกันดาร คดเคี้ยวไปตามที่ราบเชิงเขาก่อนจะไต่ขึ้นไปตามไหล่เขามุ่งสู่ที่ตั้งองค์ปราสาท
อีกเส้นทางหนึ่งเริ่มจาก อ.อันลองแวง (Anlong Veng) จ.อุดรมีชัย (Oddor Meanchey) ไปตามถนนทุรกันดารสู่เมืองจอมกระสาน ต่อไปยังอาณาบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร
ถึงกระนั้นจุดที่สามารถเดินทางโดยรถยนต์เข้าใกล้ปราสาทมากที่สุดก็ยังอยู่ห่างออกไปเกือบ 1 กิโลเมตร ระยะทางที่เหลือต้องเดินเท้า และยังมีกับระเบิดชุกชุม ก่อนจะปีนป่ายขึ้นสู่หน้าผาสูง
ปราสาทพระวิหารก่อสร้างขึ้นก่อนปราสาทนครวัด ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ประเทศไทยเคยครอบครองปราสาทกับเขาพระวิหารในช่วงปี 2492-2495 แต่ในปี 2505 ศาลโลกที่กรุงเฮกได้ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา.